‘ไอเดียร์’ สุชาดา แทนทรัพย์ ยึดแพสชั่นจับสิ่งที่รักและคุ้นเคย ปั้นธุรกิจขนมเฮลตี้พร้อมลุยงานการเมือง

‘ไอเดียร์’ สุชาดา แทนทรัพย์ ยึดแพสชั่นจับสิ่งที่รักและคุ้นเคย ปั้นธุรกิจขนมเฮลตี้พร้อมลุยงานการเมือง

‘ไอเดียร์’
สุชาดา แทนทรัพย์
ยึดแพสชั่นจับสิ่งที่รักและคุ้นเคย
ปั้นธุรกิจขนมเฮลตี้พร้อมลุยงานการเมือง

ในช่วงเวลาที่รัฐบาลประกาศล็อกดาวน์ประเทศจากโรคระบาดโควิด-19 ทำให้ธุรกิจอาหารหลายรายที่ปรับตัวไม่ทันต้องสูญเสียรายได้ทั้งหมด เพราะต้องปิดกิจการตามคำสั่งของรัฐบาลในช่วงแรก แม้ต่อมาจะได้รับการผ่อนปรนให้เปิดได้ แต่ก็ต้องสูญเสียรายได้ไปพอสมควร เพราะลูกค้าก็ลดน้อยถอยลงมาก ส่วนหนึ่งจากมาตรการเวิร์กฟรอมโฮม หรือพฤติกรรมที่ต้องหลีกเลี่ยงเชื้อโรค

ในโลกของธุรกิจ ไม่ว่าจะต้องเผชิญกับความเสี่ยงวิกฤตใดๆ การปรับตัว การวางแผนการตลาดที่รองรับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคยุคใหม่ คือทางรอดสำคัญ และยังเป็นแรงส่งให้ธุรกิจนั้นๆ มีโอกาสประสบความสำเร็จสูง

บริษัท ปั๊มกิ้นจู จำกัด ผู้ผลิตขนมเพื่อสุขภาพภายใต้แบรนด์ “ปั๊มกิ้นจู” คือธุรกิจที่วางกลยุทธ์จำหน่ายบนแพลตฟอร์มออนไลน์ตั้งแต่เริ่มต้น สินค้าหลักของแบรนด์คือ เบเกอรี่ อาทิ บราวนี่ คุกกี้ สแน็กเพื่อสุขภาพ ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมังสวิรัติ หรือวีแกน โดยทั้งหมดเป็นขนมเพื่อสุขภาพ แคลลอรี่ต่ำ และมีการคัดสรรวัตถุดิบอย่างดีในการผลิตทุกขั้นตอน

Advertisement

ไอเดียร์-สุชาดา แทนทรัพย์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ปั๊มกิ้นจู จำกัด อดีตโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม เล่าถึงเส้นทางธุรกิจว่า เริ่มต้นทำปั๊มกิ้นจูในปี 2562 ร่วมกับ เบเบ้-ธันย์ชนก ฤทธินาคา และ กวิน ว่องกุศลกิจ โดยเปิดตัวครั้งแรกในงาน Fit Festival ปี 2019 เนื่องจากทุกคนมีความรักและชื่นชอบในไลฟ์สไตล์การดูแลสุขภาพ อาหารการกินและออกกำลังกายที่เหมือนกัน โดยมีความเชื่อที่ว่านอกจากเรื่องออกกำลังกายแล้ว เรื่องกินก็เรื่องใหญ่เหมือนกัน ดังนั้นเมื่อหาของอร่อยที่กินแบบไม่รู้สึกผิดต่อตัวเองไม่ได้ ก็ต้องทำเอง

“เมื่อก่อนทุกครั้งที่ไปกินของอร่อย โดยเฉพาะของหวาน กลับมาก็จะต้องไปออกกำลังกายจบลงที่ลู่วิ่ง แล้วก็มารู้สึกผิด ทั้งแคลฯ จากขนม แป้ง น้ำตาล และไขมันทรานส์ที่เรากินเข้าไป ดังนั้นพอเรามาทำขาย เราก็กินเองด้วย ก็เริ่มหาข้อมูลต่างๆ อย่างวัตถุดิบทดแทนแป้งที่ให้ทำขนมแล้วอร่อย ในขณะเดียวกันแคลฯก็ต้องต่ำ วัตถุดิบทดแทนความหวานที่ต้องมาจากธรรมชาติและไม่ทำให้ขนมเสียรสชาติ น้ำมันก็ต้องเป็นไขมันที่ดีและใส่ในปริมาณที่พอดี ทำให้ขนมชุ่มฉ่ำและไม่มีไขมันมากเกินไป” คุณไอเดียร์เล่า

ถามถึงจุดเริ่มต้นทำธุรกิจ ปั๊มกิ้นจู ขึ้นมา คุณไอเดียร์เล่าว่า ตั้งใจจะขายแบบออนไลน์อย่างเดียวตั้งแต่แรก เพราะมองเห็นโอกาสในตลาดออนไลน์บ้านเราที่กำลังโตและคิดว่าสามารถควบคุมต้นทุนได้ง่ายกว่า ประกอบกับหุ้นส่วนธุรกิจแต่ละคนมีจุดแข็งที่แตกต่างกันออกไป จึงช่วยสนับสนุนให้การดำเนินธุรกิจเป็นไปอย่างราบรื่น

เพราะพาร์ตเนอร์ทั้ง 3 คน มีจุดเด่นของตัวเองจึงแบ่งหน้าที่กันได้อย่างลงตัว เริ่มต้นที่คุณกวิน ที่มีร้านอาหารและมีครัวที่ใช้ทำขนมได้อยู่แล้ว จึงขอเช่าพื้นที่ในราคาของพาร์ตเนอร์ได้ ขณะที่คุณเบเบ้เป็นที่รู้จักดีอยู่แล้วในฐานะอินฟลูเอนเซอร์ที่รักสุขภาพ ก็มีส่วนสำคัญในการทำประชาสัมพันธ์ให้กับแบรนด์ ส่วนคุณไอเดียร์จะรับหน้าที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลักในการดูแลตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ คือตั้งแต่คัดเลือกวัตถุดิบจนผลิตเป็นขนมถึงมือลูกค้า

ยอดขายในช่วงปีแรกเติบโตจากคุณภาพที่ลูกค้าช่วยกันพูดปากต่อปาก และถึงแม้จะมีผลตอบรับที่ดีแต่ก็ต้องยอมรับว่า การขายอาหารเพื่อสุขภาพก็มีความยากในเรื่องการควบคุมความสดจนถึงมือลูกค้า เพราะในช่วงแรกก็พบปัญหาขนมเน่าเสียเมื่อต้องส่งไปต่างจังหวัดที่ใช้เวลาขนส่งหลายวัน เนื่องจากทางร้านไม่ได้ใส่สารกันบูด ทางแบรนด์ก็เลยกลับมาแก้ปัญหาที่การจัดส่งโดยคัดเลือกผู้ส่งเฉพาะรายที่คิดว่าเมื่อถึงมือลูกค้าแล้วเขาจะได้รับประทานในคุณภาพที่ดี ที่แบรนด์ตั้งใจอยากขายจริงๆ

คุณไอเดียร์บอกอีกว่า เมื่อทำการตลาดไปได้ 1 ปี ก็ต้องเผชิญกับไวรัสโควิด-19 ซึ่งเป็นสิ่งใหม่ที่เกิดขึ้นบนโลก ทุกคนตกใจ เราเองก็ตกใจ แต่ปรากฏว่าโควิดระลอกแรกไม่กระทบยอดขายเลย กลับกลายเป็นว่าตอนนั้นทุกคนต้องเวิร์กฟรอมโฮมแล้วก็ไม่รู้จะทำอะไรก็หาขนมกินเล่น เราก็พร้อมอยู่แล้วที่จะขายให้ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นระบบหลังบ้าน การเดลิเวอรี่ของเราก็พร้อม เราเลยไม่ได้รับผลกระทบในแง่ของยอดขาย

“โควิด-19 ระลอกแรกในประเทศไทย ตอนนั้นเราไม่ได้รับผลกระทบด้านยอดขาย แต่มาระยะหลังๆ ยอมรับว่าตลาดมีการแข่งขันมากขึ้น ก็มีคนหันมาทำขนมเพื่อสุขภาพกันมากขึ้น มีคู่แข่งทางการตลาดเพิ่มขึ้น แต่เราเองก็มีจุดแข็งของเรา ในเรื่องของการควบคุมคุณภาพ รสชาติ และวัตถุดิบ เราเรียนรู้ตลาดและผู้บริโภคมากขึ้นตลอดระยะเวลาที่เปลี่ยนแปลงไปตามบริบทสังคม ดังนั้น เราจึงมีความเชื่อมั่นว่าธุรกิจเราจะไปต่อได้ และมีแผนจะขยายไปสู่ตลาดออฟไลน์ในอนาคตด้วย”

ทั้งนี้ บริษัทตั้งเป้าภายในไตรมาสแรกปี 2565 หากสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย จะนำปั๊มกิ้นจูเข้าไปวางขายสินค้าในห้างสรรพสินค้า โดยเริ่มจากในพื้นที่ที่เป็นกลุ่มคนที่มีไลฟ์สไตล์รักสุขภาพก่อน เพื่อให้ลูกค้าได้เลือกซื้อสะดวกขึ้น เมื่อถึงตอนนั้นเราจะมีทั้งตลาดที่เป็นออนไลน์และออฟไลน์ ก็คาดหวังว่ายอดขายจะเติบโตขึ้น 50%” คุณไอเดียร์กล่าว

คุณไอเดียร์เล่าต่ออีกว่า นอกจากแพสชั่นในการทำธุรกิจแล้วเจ้าตัวก็ยังไม่ทิ้งงานการเมือง ยังคงลงพื้นที่ช่วยงานคุณพ่อ ส.ส.สัมฤทธิ์ แทนทรัพย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดชัยภูมิ เขต 3 พรรคพลังประชารัฐ อย่างต่อเนื่อง

โดยที่ผ่านมาช่วงที่กรุงเทพฯล็อกดาวน์ จึงติดปัญหาการลงพื้นที่ แต่เมื่อมาตรการล็อกดาวน์คลายแล้วก็มีการเข้าไปช่วยงานในพื้นที่ อาทิ การช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนจากผลกระทบโควิด-19 สนับสนุนการทำงานของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และล่าสุดได้เข้าไปช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย เคลื่อนย้ายผู้ป่วยติดเตียงในโรงพยาบาลและผู้ป่วยโควิด-19 ไปอยู่ในสถานที่รักษาพยาบาลที่ปลอดภัย พร้อมกันนี้ต้องประเมินสถานการณ์ร่วมกับผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่เป็น
ระยะๆ ต่อไป

เมื่อได้ลงพื้นที่ทำให้เห็นปัญหาหลากหลายด้าน ทำให้สายตากว้างไกลขึ้น มองภาพใหญ่ชัดเจนมากขึ้น ถือเป็นประโยชน์มากๆ ในการจะนำไปคิดต่อยอดเพื่อหาแนวทางช่วยเหลือประชาชนเท่าที่เราจะทำได้อย่างสูงสุด การที่ได้เห็นผู้อื่นมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีรอยยิ้ม มีความสุข กินดีอยู่ดีและมีแรงกายแรงใจในการช่วยกันพัฒนาสังคมและช่วยเหลือผู้อื่นต่อไป มันคือความอิ่มใจ และสิ่งนี้เป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่เงินทองก็หาซื้อไม่ได้

“ตอนนี้งานหลักคือธุรกิจ เราก็ต้องทำให้ดีที่สุด ขณะเดียวกันก็ตั้งใจทำงานที่จะเป็นประโยชน์ต่อสังคมและประชาชนร่วมกับคุณพ่อ เพราะเป็นสิ่งที่เรารักจริงๆ เราคลุกคลีมานาน ล่าสุดน้ำท่วมรอบนี้คือชาวบ้านเดือดร้อนกันมากๆ เราก็ต้องทำในส่วนที่ทำได้ให้มากที่สุด ครอบคลุมที่สุด เพื่อช่วยเหลือประชาชนจริงๆ โดยเฉพาะพื้นที่ชัยภูมิซึ่งเป็นเขตพื้นที่ของคุณพ่อ ดังนั้น ด้วยความตั้งใจคือ หวังว่าแพสชั่น
ของเราจะมีประโยชน์ต่อสังคมและประชาชนค่ะ”

คุณไอเดียร์เปิดความในใจส่งท้าย

ปิยะวรรณ ผลเจริญ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image