สกู๊ปหน้า 1 : น้ำมันขาขึ้น ก.พลังงานคุมดีเซล ไม่ซ้ำเติมประชาชน

สกู๊ปหน้า 1 : น้ำมันขาขึ้น ก.พลังงานคุมดีเซล ไม่ซ้ำเติมประชาชน

ขณะนี้ราคาพลังงานในตลาดโลกปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากเศรษฐกิจทั่วโลกที่เริ่มฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด-19 ที่คลี่คลาย กิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วทั้งโลกกลับมาอีกครั้ง กอปรกับการระดมฉีดวัคซีนเกราะป้องกันสำคัญที่แม้การระบาดยังอยู่แต่การฉีดวัคซีนช่วยผ่อนหนักเป็นเบาได้ และปัจจุบันก็เข้าสู่การฉีดเข็มที่ 3 ในหลายประเทศรวมถึงประเทศไทยด้วย

ปัจจัยที่ดันราคาน้ำมันในตลาดโลก ยังมาจากการเข้าสู่ช่วงฤดูหนาวของซีกโลกตะวันตก เป็นวงจรปกติที่เมื่ออากาศหนาวก็ต้องการพลังงานมาช่วยให้อบอุ่น และดำเนินกิจกรรมต่างๆ รวมทั้งยังมีผลกระทบต่อเนื่องจากพายุเฮอริเคน ไอดา และ นิโคลัส ที่เคลื่อนผ่านอ่าวเม็กซิโก และสร้างความเสียหายต่อโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำมันของสหรัฐอเมริกา ทำให้การผลิตน้ำมันต้องหยุดชะงัก รวมถึงราคาก๊าซธรรมชาติได้พุ่งสูงขึ้นอย่างมาก ทำให้น้ำมันเป็นทางเลือกที่ค่อนข้างถูกกว่าสำหรับการผลิตไฟฟ้า จนส่งผลให้มีความต้องการน้ำมันเพิ่มขึ้นมากกว่าปกติ

นอกจากนั้น กลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมัน (กลุ่มโอเปค) ได้มีการควบคุมการผลิตน้ำมันดิบ ส่งผลให้ทั่วโลกเผชิญกับปัญหาราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น

ล่าสุด เมื่อวันที่ 30 กันยายน น้ำมันดิบเบรนท์ ได้ปรับขึ้นไปถึง 80.69 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ถือเป็นราคาที่สูงสุดในรอบ 3 ปี นับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2561 เชื่อว่าราคาน้ำมันจะยังคงเพิ่มขึ้นต่อไป โดยโอกาสขยับสูงแตะระดับ 90 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลภายในสิ้นปีนี้

Advertisement

หลังจากที่ผ่านมาราคาน้ำมันดิ่งลงในช่วงเริ่มต้นของการระบาดใหญ่ของไวรัส โควิด-19 ในเดือนเมษายนปี 2020 หรือ 2563 โดยตกลงมาต่ำกว่าศูนย์เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ เนื่องจากการล็อกดาวน์ทำให้ความต้องการซื้อน้ำมันลดลง ในขณะที่ผู้ผลิตยังคงสูบน้ำมันดิบต่อไป ปัจจุบันความต้องการได้เริ่มกลับมาเพิ่มขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจทั่วโลกเริ่มกลับมาเปิดทำการอีกครั้ง

จากปัจจัยข้างต้นได้ส่งผลต่อราคาน้ำมันขายปลีกในบ้านเราตลอดเดือนกันยายนที่ ผ่านมา จนหลายคนตกอกตกใจ จนกลายเป็นความกังวล!!

กังวลราคาน้ำมันขายปลีกที่ขึ้นพรวดๆนั้น เพราะไม่เพียงกระทบต่อผู้ใช้รถยนต์ แต่ยังกระทบไปถึงค่าโดยสาร ค่าขนส่งต่างๆ จนอาจกระทบต่อราคาสินค้าให้ปรับราคาขึ้นได้ ซึ่งสถานการณ์ปัจจุบันที่เศรษฐกิจไทยยังซบเซาแม้จะเริ่มมีสัญญาณฟื้นแต่ก็ไม่มาก จากผลกระทบโควิด-19 ประกอบกับปัญหาน้ำท่วมในหลายจังหวัดที่ภาพรวมแม้ไม่รุนแรงเท่ามหาอุทกภัยปี 2554 แต่ก็มีบางพื้นที่ที่สถานการณ์หนักกว่าปี 2554 เช่นกัน

Advertisement

สถิติราคาน้ำมันที่ปรับขึ้นในช่วงเดือนกันยายน 2564 พบว่า ราคาน้ำมันขายปลีกหน้าสถานีน้ำมัน (ปั๊ม) ขยับขึ้นถึง 6 ครั้ง ดังนี้ วันที่ 4 กันยายน กลุ่มดีเซล ปรับขึ้น 30 สตางค์ ชนิดอื่นไม่เปลี่ยนแปลง วันที่ 15 กันยายน กลุ่มดีเซลปรับขึ้นอีก 50 สตางค์ ขณะที่กลุ่มเบนซิน ปรับขึ้น 30 สตางค์ ยกเว้นน้ำมันอี85 ที่ปรับขึ้น 15 สตางค์ ต่อมาวันที่ 18 กันยายน กลุ่มดีเซลปรับขึ้นอีก 30 สตางค์ ขณะที่กลุ่มเบนซิน ปรับขึ้น 50 สตางค์ ยกเว้นน้ำมันอี85 ที่ปรับขึ้น 30 สตางค์

วันที่ 24 กันยายน กลุ่มดีเซลปรับขึ้นอีก 40 สตางค์ ขณะที่กลุ่มเบนซิน ปรับขึ้น 30 สตางค์ ยกเว้นน้ำมันอี85 ที่ปรับขึ้น 15 สตางค์ วันที่ 28 กันยายน กลุ่มดีเซลปรับขึ้นอีก 40 สตางค์ ขณะที่กลุ่มเบนซิน ปรับขึ้น 40 สตางค์ ยกเว้นน้ำมันอี85 ที่ปรับขึ้น 20 สตางค์ และล่าสุดวันที่ 30 กันยายน กลุ่มดีเซลปรับขึ้นอีก 60 สตางค์ ขณะที่กลุ่มเบนซิน ปรับขึ้น 40 สตางค์ ยกเว้นน้ำมันอี85 ที่ปรับขึ้น 20 สตางค์

ราคาน้ำมัน ณ วันที่ 1 ตุลาคม ดีเซลบี 20 ราคา 28.04 บาทต่อลิตร ดีเซลบี10 ราคา 28.29 บาทต่อลิตร ดีเซลบี 7 ราคา 31.29 บาทต่อลิตร ดีเซลพรีเมียม 36.06 บาทต่อลิตร เบนซิน 38.56 บาทต่อลิตร แก๊สโซฮอล์ 95 ราคา 31.15 บาทต่อลิตร แก๊สโซฮอล์ 91 ราคา 30.88 บาทต่อลิตร อี20 ราคา 29.64 บาทต่อลิตร อี85 ราคา 23.44 บาทต่อลิตร

ล่าสุด “สมภพ พัฒนอริยางกูล” โฆษกกระทรวงพลังงาน ให้ข้อมูลว่า ขณะนี้สถานการณ์ราคาพลังงานในตลาดโลกยังคงปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากเศรษฐกิจทั่วโลกที่เริ่มฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด-19 รวมถึงการเข้าสู่ช่วงฤดูหนาวของซีกโลกตะวันตก รวมทั้งยังมีผลกระทบต่อเนื่องจากพายุในสหรัฐอเมริกา ทำให้การผลิตน้ำมันต้องหยุดชะงัก นอกจากนั้น กลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมัน (กลุ่มโอเปค) ได้มีการควบคุมการผลิตน้ำมันดิบ ส่งผลให้ทั่วโลกเผชิญกับปัญหาราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น

ขณะนี้ กระทรวงพลังงาน จึงมีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมเตรียมมาตรการรับมือเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนและไม่ให้กระทบกับการฟื้นตัวเศรษฐกิจของประเทศ โดยเตรียมใช้มาตรการช่วยเหลือจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งมีหน้าที่ในการรักษาเสถียรภาพของระดับราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงภายในประเทศไม่ให้มีความผันผวนมากจนเกินไป ซึ่งหากเกิดกรณีที่ราคาน้ำมันดีเซลพื้นฐาน (บี10) ปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงกว่า 30 บาทต่อลิตร จะเข้าไปดูแลราคาทันที ซึ่งปัจจุบันราคาน้ำมันดีเซลบี10 อยู่ที่ 28.29 บาทต่อลิตร

“กระทรวงพลังงานไม่ได้นิ่งนอนใจ และพร้อมที่จะใช้กลไกที่มีอยู่เข้าไปช่วยบรรเทาผลกระทบต่อค่าครองชีพประชาชน ขอยืนยันว่า กระทรวงพลังงานเตรียมพร้อมใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเข้าอุดหนุนทันที หากราคาน้ำมันดีเซลบี10 มีราคาสูงกว่า 30 บาทต่อลิตร และขอรณรงค์ให้ประชาชนผู้ใช้น้ำมันดีเซล หันมาเติมน้ำมันดีเซล บี10 ซึ่งมีราคาถูกกว่าน้ำมันดีเซลบี7 ถึง 3 บาทต่อลิตร” โฆษกกระทรวงพลังงานระบุ

พร้อมกันนี้ยังระบุว่า นอกจากการดูแลราคาน้ำมัน ที่ผ่านมากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงได้ให้การช่วยเหลือราคาแอลพีจี โดยตรึงราคาขายปลีกสำหรับถังขนาด 15 กิโลกรัมอยู่ที่ 318 บาทต่อถัง (ไม่รวมค่าขนส่ง) ตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคม 2563 เป็นต้นมา และล่าสุดคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ได้มีมติเมื่อวันที่ 20 กันยายน ให้คงราคาขายปลีกก๊าซหุงต้มข้างต้นออกไปอีก 3 เดือน คือ ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2564 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564

เจาะลึกเครื่องมือดูแลราคาน้ำมันของกระทรวงพลังงานในปัจจุบัน เบื้องต้นมี 5 วิธี ประกอบด้วย 1.ปล่อยราคาน้ำมันให้ปรับขึ้น-ลงตามต้นทุนจริง โดยรัฐไม่เข้าไปแทรกแซงราคา 2.ใช้กลไกที่มีอยู่ในการรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมัน นั่นคือ กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เข้าไปอุดหนุนโดยตรง 3.ลดหรืองดการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันและภาษีเทศบาล 4. ลดหรืองดการจัดเก็บเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงกับกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน และ 5.ใช้กลไกบริษัทน้ำมันของชาติที่ดูแลเรื่องของความมั่นคงทางด้านพลังงาน คือ ให้สถานีบริการน้ำมัน พีทีที สเตชั่น ชะลอหรือลดการปรับขึ้นราคาน้ำมันอย่างไม่เป็นทางการ

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาวิธีที่กระทรวงพลังงาน มักนำมาใช้มากที่สุดในกรณีราคาน้ำมันตลาดโลกพุ่งแรง คือ ใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเข้าไปดูแล

ล่าสุด สถานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ณ วันที่ 26 กันยายน 2564 มีสินทรัพย์รวม 46,496 ล้านบาท มีหนี้สินกองทุน รวม 35,055 ล้านบาท มีเงินเหลือสุทธิ 11,441 ล้านบาท แยกเป็นบัญชีน้ำมัน 28,872 ล้านบาท และบัญชีก๊าซแอลพีจี ติดลบ 17,431 ล้านบาท

สถานะเงินกองทุนดังกล่าวถือว่าปริ่มๆ มาก เพราะปัจจัยคือการต้องแบกรับราคาก๊าซแอลพีจีจนถึงสิ้นปี 2564 ทำให้เงินไหลออกอีกประมาณเดือนละ 1,000 ล้านบาท และดูแลราคาน้ำมันในส่วนเชื้อเพลิงชีวภาพ อีกประมาณ 700 ล้านบาท สรุปเงินยังไหลออกรวมเดือนละประมาณ 1,700 ล้านบาท และต้นปีหน้ายังไม่รู้ว่าจะต้องขยายเวลาการอุ้มแอลพีจีต่อไปอีกหรือไม่ จึงเหลือเงินในการดูแลราคาน้ำมันไม่มากนัก
จากสถานะกองทุนจะอุดหนุนราคาก๊าซแอลพีจี และราคาน้ำมันในส่วนของเชื้อเพลิงชีวภาพได้จนถึงประมาณไตรมาสแรกปี 2565 จึงต้องจับตาดูว่า กระทรวงพลังงาน จะหาทางออกในเรื่องสถานะกองทุน อย่างไร จากในอดีตเคยติดลบมากว่า 80,000 ล้านบาทจนต้องกู้เงินมาเสริมสภาพคล่อง เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยอย่างในอดีต รัฐบาลจึงออก พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง กำหนดวงเงินที่เก็บจากผู้ใช้น้ำมันสุทธิไม่เกิน 40,000 ล้านบาท กู้ได้ไม่เกิน 20,000 ล้านบาท หากเกินจะต้องเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ออกพระราชกฤษฎีกา และการใช้เงินจะต้องนำมารักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมกรณีวิกฤตการณ์ด้านน้ำมัน

อย่างไรก็ตาม ในการประชุม กบง.นัดที่ผ่านมา ยังมีการพิจารณาถึงแนวทางการใช้เงินกู้จาก พ.ร.ก.กู้เงินเพิ่มเติม 500,000 ล้านบาทด้วย เพราะมีความสะดวก ขั้นตอนน้อยกว่าการกู้เอง

เรื่องนี้ “กุลิศ สมบัติศิริ” ปลัดกระทรวงพลังงาน ให้ข้อมูลว่า ทุกอย่างอยู่ในขั้นตอนพิจารณาแนวทางที่เหมาะสมที่สุด ประกอบกับต้องจับตาราคาน้ำมันด้วยว่าจะขยับขึ้นอีกหรือไม่ ถ้าดีเซลบี10 ซึ่งเป็นน้ำมันพื้นฐานมีโอกาสทะลุ 30 บาทต่อลิตร ก็จะมีการประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่ออนุมัติแนวทางอุดหนุนทันที เพื่อคุมราคาไม่ให้เกิน
30 บาทต่อลิตร

“กระทรวงพลังงานพร้อมดูแลประชาชน เพราะดีเซลเป็นน้ำมันที่ส่งผลกระทบหลายส่วน ประกอบกับปัจจุบันปัญหาโควิด-19 ยังมีผู้ติดเชื้อจำนวนมากส่งผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจ รายได้ลดลง ล่าสุดหลายจังหวัดยังเผชิญกับปัญหาน้ำท่วม เป็นวิกฤตซ้อนวิกฤต ดังนั้น ในการดูแลราคาพลังงาน กระทรวงจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด” ปลัดพลังงานทิ้งท้าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image