สกู๊ป น. 1 : ความหวังเอกชน มอง ‘กองทุนท่องเที่ยว’ ต่อลมหายใจ

สกู๊ป น. 1 : ความหวังเอกชน มอง ‘กองทุนท่องเที่ยว’ ต่อลมหายใจ

ผลกระทบจากโควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงกับธุรกิจท่องเที่ยว แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิดเริ่มคลี่คลาย แต่ภาคธุรกิจท่องเที่ยวยิ่งอาการหนัก เพราะนอกจากไม่มีรายได้เข้ามา ยังต้องหาเงินมาเพื่อปรับปรุงสถานที่ รองรับการเปิดเมือง

การจัดตั้งกองทุนเพื่อฟื้นฟูและเยียวยาภาคการท่องเที่ยว จึงเป็นแนวทางที่ทางรัฐบาลหวังจะช่วยฟื้นฟู โดยนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้หารือร่วมกับนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ขอให้กระทรวงการคลังช่วยพิจารณาจัดวงเงินสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำมาช่วยเหลือธุรกิจท่องเที่ยว จากธนาคารออมสิน และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) วงเงิน 8,000 ล้านบาท

กระทรวงการคลังได้รับทราบเรื่องนี้ และพร้อมประสานธนาคารทั้ง 2 แห่ง จัดเตรียมวงเงินให้แล้ว

ล่าสุด นัดหารือระหว่างภาคเอกชน 5 สมาคมท่องเที่ยว ประกอบด้วย สมาคมไทยธุรกิจท่องเที่ยว สมาคมโรงแรมไทย สมาคมผู้ประกอบการรถขนส่งทั่วไทย สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ และสมาคมสปาไทย และผู้แทนจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ธนาคารออมสิน ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) เพื่อหารือแนวทางการจัดทำมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ช่วยเหลือผู้ประกอบการท่องเที่ยว

Advertisement

จากนี้กระทรวงการท่องเที่ยวฯ จะรวบรวมข้อมูลให้ สศค.พิจารณา เพื่อจัดทำมาตรการสินเชื่อแบบพิเศษออกมาช่วยเหลือต่อไป

นายกรด โรจนเสถียร คณะกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และนายกสมาคมสปาไทย เปิดเผยว่า ภาคเอกชนเรียกร้องขอให้รัฐบาลช่วยเหลือหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำหรือซอฟต์โลน เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนพยุงธุรกิจ ประคองไว้ไม่ให้ล้ม เติมสภาพคล่องให้ธุรกิจท่องเที่ยว ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ตั้งแต่ต้นปี 2563 ระบาดระลอกแรกจนถึงปัจจุบัน ยังไม่สามารถควบคุมได้ การเดินทางหายไป แม้จะฟื้นตัวบ้าง แต่ฟื้นตัวแบบเป็นระยะๆ รายได้ยังไม่กลับมา

ผู้ประกอบการอยู่ในภาวะวิกฤต จึงมีข้อเสนอให้ภาครัฐช่วยหาซอฟต์โลน ช่วยเติมสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการ เนื่องจากที่ผ่านมาเอกชนท่องเที่ยวเดือดร้อนจากนักท่องเที่ยวต่างชาติไม่สามารถเข้ามาเที่ยวไทยได้ ทำให้สภาพคล่องหายไป แต่การช่วยเหลือด้านเงินทุนจากธนาคารพาณิชย์ค่อนข้างช้า รวมถึงผู้ประกอบการจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงการช่วยเหลือจากธนาคารพาณิชย์ได้ เพราะติดเงื่อนไขไม่เอื้อมาก เนื่องจากธนาคารพาณิชย์ใช้เงื่อนไขเงินกู้แบบภาวะปกติ แต่ตอนนี้เงื่อนไขเดิมไม่สามารถใช้พิจารณาอนุมัติเงินกู้ให้ได้แล้ว เพราะการระบาดโควิดเป็นวิกฤตที่ไม่เคยเกิดขึ้น จึงต้องใช้เกณฑ์พิจารณาแบบอยากช่วยเหลือจริงๆ ไม่ใช่ใช้เกณฑ์แบบปกติ

Advertisement

นายกรดกล่าวว่า แนวคิดการจัดตั้งกองทุนเพื่อฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยว ความจริงแล้วไม่ได้ต้องการให้จัดตั้งเป็นกองทุน แต่ต้องการเพียงแหล่งเงินทุนหรือซอฟต์โลน แต่ซอฟต์โลนจากธนาคารพาณิชย์ไม่สามารถเข้าถึงได้ อาทิ ธนาคารพาณิชย์จะพิจารณาหนี้ไม่ก่อรายได้ หรือเอ็นพีแอล หรือหนี้เสีย รวมถึงรายได้ย้อนหลังแบบรายปี แต่ปี 2563 ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากโควิดแล้ว ทำให้รายได้หายไปสูงมาก

หากพิจารณาหนี้เอ็นพีแอล หรือรายได้ ต้องย้อนปี 2562 ย้อนหลังไป เพราะเป็นช่วงยังไม่เกิดการระบาดโควิด รายได้และความสามารถชำระหนี้จะสะท้อนออกมาจริงๆ เมื่อธนาคารพาณิชย์ไม่สามารถช่วยเหลือได้เท่าที่ควร จึงต้องการให้รัฐเข้ามาช่วยเหลือมากกว่านี้ การจัดตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือภาคการท่องเที่ยวเป็นหลัก ผ่านกระบวนการหรือขั้นตอนการพิจารณาอนุมัติเป็นหลักจากรัฐบาลโดยตรง น่าจะเอื้อการช่วยเหลือได้ถูกกลุ่มเป้าหมายมากกว่า เพราะความเดือดร้อนขณะนี้ ไม่ใช่ผู้ประกอบการรายเล็กหรือเอสเอ็มอีเท่านั้น แต่ผู้ประกอบการขนาดกลางขึ้นไปเดือดร้อนไม่ต่างกัน

กองทุนที่ภาครัฐจะออกมา ต้องดูเงื่อนไขที่ชัดเจนจริงๆ ว่าเข้าถึงได้มากน้อยขนาดไหน หมายถึงเข้าถึงได้ตั้งแต่ผู้ประกอบการขนาดเล็กจนถึงขนาดใหญ่ ตอนนี้รัฐไม่ควรเลือกช่วยผู้ประกอบการขนาดเล็กหรือกลางหรือใหญ่ก่อนเท่านั้น แต่ควรช่วยเท่ากันและตรงกลุ่มเป้าหมายที่สุด ความเดือดร้อนตอนนี้ได้รับทุกขนาดธุรกิจแล้ว เงื่อนไขที่อยากให้แก้ไข เป็นเรื่องเกณฑ์พิจารณาจากหนี้เสีย และรายได้ย้อนหลัง ส่วนใหญ่ผู้ประกอบการที่ไม่ผ่านการอนุมัติเงินกู้จากธนาคารพาณิชย์ เพราะติดเงื่อนไขเหล่านี้ทั้งนั้น รวมถึงการค้ำประกันไขว้ เสนอให้ผู้ประกอบการช่วยค้ำกู้ระหว่างกันได้ เพราะการกู้เงินส่วนมากจะใช้สินทรัพย์ค้ำประกัน แต่ผู้ประกอบการขณะนี้ไม่มีสินทรัพย์เหลือแล้ว หรือบางธุรกิจก็ไม่ได้มีสินทรัพย์จำพวกอสังหาริมทรัพย์เหมือนกันหมด อาทิ โรงแรม บริษัททัวร์ขนส่ง แนวทางของกองทุนจึงต้องปลดล็อกเงื่อนไขเหล่านี้

นอกจากนี้ รัฐบาลยังต้องผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ลงอีก รวมถึงผลักดันเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติตามแผน การกลับมาเปิดธุรกิจภายใต้มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดสามารถดำเนินการได้ โดยเฉพาะการผ่อนคลายธุรกิจสปา ควรผ่อนผันได้แล้ว หากไม่เปิดอยู่แบบนี้ ผู้ประกอบการธุรกิจก็เดินไม่ได้ เศรษฐกิจภาพรวมก็ไปต่อไม่ได้เช่นกัน

ด้าน นายศิษฏิวัชร ชีวรัตนพร นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) กล่าวว่า ขณะนี้ธุรกิจนำเที่ยวโดยเฉพาะทัวร์อินบาวด์ หรือนำนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาเที่ยวไทย มีทั้งต้องปิดกิจการแบบถาวรและปิดชั่วคราว 100% เนื่องจากที่ผ่านมาไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อตามมาตรการเยียวยาของภาครัฐได้ เพราะไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน มีผลประกอบการขาดทุน ประกอบกับเป็นธุรกิจไม่สามารถสร้างรายได้อย่างแน่นอนในช่วง 2-3 ปีนี้ จึงไม่เข้าเงื่อนไขสถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อให้ภาคเอกชนจึงเรียกร้องให้ภาครัฐสนับสนุน จัดตั้งกองทุนฟื้นฟูธุรกิจท่องเที่ยว ตั้งผู้บริหารกองทุน เพื่อให้ปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้แก่ผู้ประกอบการได้ เนื่องจากเมื่อไทยเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ทั้งบริษัททัวร์และไกด์ก็พร้อมกลับมาทำงานได้ แต่สภาพคล่องของธุรกิจที่ไม่มี ทำให้ผู้ประกอบการอาจยืนรอการเปิดประเทศไม่ไหว

รวมถึงการเสนอปรับปรุงโครงสร้างภาษีภาคการท่องเที่ยว ควรปรับให้ทันสมัย ไม่ซ้ำซ้อน ขอให้ได้รับการส่งเสริมด้านภาษีกรณีพิเศษ เหมือนบีโอไอสนับสนุนผู้ส่งออก เพื่อให้ผู้ประกอบการแข่งขันได้ ขอสนับสนุนโค-เพย์ ให้รัฐช่วยจ่ายเงินเดือนพนักงาน การขอพักต้น พักดอกซอฟต์โลน รูปแบบและเงื่อนไขที่ชัดเจน ยังต้องรอภาครัฐออกแบบชัดเจนอีกครั้ง ส่วนนี้เป็นความหวังเอกชนในภาคการท่องเที่ยวต้องการเห็นชัดๆ เร็วๆ เช่นกัน

ความหวังของเอกชนในการหาแหล่งเงินทุนมาต่อลมหายใจให้ธุรกิจยืนไหว รอการกลับมาของนักท่องเที่ยวอีกครั้งนั้น ต้องยอมรับว่าขึ้นอยู่กับภาครัฐอย่างแท้จริง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image