สรท.มั่นใจทั้งปี’64 ปิดจ๊อบส่งออก 12% จับตาปัญหาค่าระวางเรือ-โควิด หวั่นส่งผลระยะยาว

สรท.มั่นใจทั้งปี’64 ปิดจ๊อบส่งออก 12% พร้อมจับตาปัญหาค่าระวางเรือ-โควิดระลอกใหม่ หวั่นส่งผลระยะยาว

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า ระบุภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยเดือนสิงหาคม 2564 กับเดือนเดียวกันของปีก่อน พบว่า การส่งออกมีมูลค่า 21,976.23 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 8.93% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 715,416.40 ล้านบาท ขยายตัว 12.83% เมื่อหักทองคำ น้ำมัน และอาวุธยุทธปัจจัย พบว่าการส่งออกในเดือนสิงหาคมขยายตัว 19.43% ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 23,191.89 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 47.92% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 765,248.80 ล้านบาท ขยายตัว 53.20% ส่งผลให้ดุลการค้าของประเทศไทยในเดือนสิงหาคม 2564 ขาดดุลเท่ากับ 1,215.66 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 49,832.40 ล้านบาท

ทั้งนี้ สรท. มั่นใจว่าการส่งออกไทยในปี 2564 เติบโต 12% โดยมีปัจจัยบวกที่สำคัญ ได้แก่ เศรษฐกิจประเทศคู้ค้าสำคัญ อาทิ สหรัฐ จีน สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ฟื้นตัวต่อเนื่องและอุปสงค์ยังคงทรงตัวในระดับสูง จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และความคืบหน้าในการฉีดวัคซีน ก่อให้เกิดความเชื่อมั่นของประชาชนในการกลับมาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจตามปกติ รวมถึงดัชนีผู้จัดการฝ่ายการผลิตโลก ของประเทศคู่ค้าสำคัญที่ยังคงทรงตัวอยู่ ณ ระดับ 50-60 สะท้อนการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งของกิจกรรมการผลิตและเศรษฐกิจโลก และค่าเงินบาทอ่อนค่าลงมากที่สุดในระยะ 4 ปี เมื่อเปรียบเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ จากการที่ระบบธนาคารกลางสหรัฐ (FED) เข้าซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ ตามมาตรการที่ธนาคารกลางของสหรัฐเร็วขึ้น และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเร็วกว่าคาดการณ์ รวมถึงความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด–19 ในประเทศไทยที่ยังไม่คลี่คลาย และมีความเป็นไปได้ในการกลับมาระบาดรุนแรงอีกครั้ง

นายชัยชาญ กล่าวว่า ขณะที่ ปัจจัยเสี่ยงที่เป็นอุปสรรคสำคัญในปี 2564 ได้แก่ 1.สถานการณ์การระบาดโควิด-19 ที่มีความรุนแรงในประเทศ และการกระจายวัคซีนยังไมทั่วถึง แม้จำนวนผู้ติดเชื้อโดยรวมภายในประเทศจะลดลง แต่จำนวนผู้ติดเชื้อในพื้นที่ต่างจังหวัดเริ่มเพิ่มขึ้น ขณะที่อัตราการกระจายวัคซีนยังไม่ทั่วถึง โดยเฉพาะในพื้นที่อุตสาหกรรม ซึ่งหากภาครัฐไม่สามารถควบคุมการระบาดและไม่สามารถเร่งกระจายวัคซีนให้ได้ตามเป้าหมายวัคซีนสองเข็ม 50 ล้านคน ภายในสิ้นปี 2564 และหากต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์อีกครั้งจะส่งผลให้การดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงัก และการส่งออกจะไม่สามารถขยายตัวได้ตามที่คาดการณ์ไว้ 2.ค่าระวางเรือมีทิศทางทรงตัวในระดับสูงจนถึงปลายปี 2565 และ 3.ปัญหาวัตถุดิบขาดแคลนและราคาผันผวน อาทิ ชิป, เหล็ก ส่งผลให้ภาคการผลิตเพื่อส่งออก ยังคงประสบปัญหาอย่างต่อเนื่อง และอาจส่งผลรุนแรงขึ้นในไตรมาสที่ 4 โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งจะทำให้การส่งออกไม่สามารถเติบโตได้ตามที่คาดการณ์

นายชัยชาญ กล่าวว่า สำหรับข้อเสนอแนะของ สรท. ที่มีต่อรัฐบาล ได้แก่ เร่งฉีดวัคซีนให้พนักงานในภาคอุตสาหกรรมการผลิตให้ครอบคลุมโดยเร็วและขอให้รัฐช่วยสนับสนุนค่าใช้จ่ายสำหรับโรงงานอุตสาหกรรมและภาคการผลิต 2.เร่งแก้ไขปัญหาค่าระวางเรือในเส้นทางหลักให้อยู่ในอัตราที่เหมาะสมและไม่กระทบต่อต้นทุนโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ 3.เร่งจัดหาแรงงานป้อนเข้าสู่ระบบรองรับการฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรม และ 4.เร่งปรับลดต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าวัตถุดิบ อาทิ ภาษีสินค้าเหล็ก เซมิคอนดักเตอร์ วัตถุดิบสำหรับสินค้าอุปโภคบริโภค สำหรับนำเข้าผลิตเพื่อส่งออก

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image