‘จุรินทร์’ จัดใหญ่ 17 มาตรการล่วงหน้า ดูแลผลไม้ปี65 ปลื้ม 8 เดือนส่งออก 1.69 แสนล. ทุเรียนมากสุด 77%

‘จุรินทร์’ จัดใหญ่ 17 มาตรการล่วงหน้า ดูแลผลไม้ปี 65 ปลื้ม 8 เดือนส่งออก 1.69 แสนล. ทุเรียนมากสุด 77%

วันที่ 7 ตุลาคม เวลา 15.00 น. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และคณะกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตร ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี ประชุมเตรียมการดูแลผลไม้ปี 2565 โดยเป็นการกำหนดมาตรการเพื่อบริหารจัดการผลไม้ล่วงหน้าทั้งระบบ โดยมีนายยุคล ชนะวัฒน์ปัญญา อดีต สส.จังหวัดจันทบุรี นายอิทธิพล จังสิริมงคล นายชรัตน์ เนรัญชร นายชาติชาย วรพิพัฒน์ ตัวแทนเกษตรกรผู้ประกอบการและผู้รับซื้อ ผู้ส่งออก ผู้บริการขนส่ง ทูตพาณิชย์ในต่างประเทศ และพาณิชย์จังหวัดที่มีสินค้าผลไม้ ร่วมรับฟังนโยบาย พร้อมผู้บริหารระดับสูง 2 กระทรวง ณ โครงการศูนย์บริหารจัดการ มหานครผลไม้ ตำบลวังโตนด อำเภอนายายอาม จังหวัดจันทบุรี โดยเป็นการสัญจรลงพื้นที่ตามภารกิจจุรินทร์ออนทัวร์ ภาคตะวันออก

นายจุรินทร์ กล่าวในการประชุมหารือได้สรุปผลของการแก้ไขปัญหาปี 2564 และเตรียมการแก้ไขปรับปรุงเพิ่มเติม กับผู้เกี่ยวข้องว่า ตนมาประชุมร่วมกับตัวแทนเกษตรกร ตัวแทนเอสเอ็มอีแปรรูปผลไม้ พ่อค้ารับซื้อสินค้า(ล้ง) ผู้ประกอบการ ส่วนราชการจังหวัดและกระทรวงพาณิชย์ รวมทั้งหน่วยงานราชการทั้งหมด ในจังหวัดจันทบุรี ระยองและตราด เพื่อกำหนดแนวทางในการเตรียมการมาตรการรองรับผลไม้ ปี2565 ที่จะออกไตรมาสแรกและไตรมาสสองของปีหน้า ซึ่งจะมีการกำหนดมาตรการล่วงหน้าก่อน 6 เดือน

โดยจะดำเนินการผ่าน 17 มาตรการสำหรับดูแลผลไม้เชิงรุก ได้แก่ 1.มาตรการเร่งรัดตรวจและรับรอง GAP มีเป้าหมายปี 2565 กว่า 1.2 แสนแปลง 2.มาตรการช่วยผู้ประกอบการหรือเกษตรกรหรือล้งกระจายผลผลิตผลไม้ออกนอกแหล่งผลิต กิโลกรัมละ 3 บาท เป้าหมาย 8 หมื่นตัน 3.มาตรการเสริมสภาพคล่องให้ผู้ส่งออกโดยจะช่วยเหลือดอกเบี้ย 3% ช่วยผู้ส่งออกที่ส่งออกผลไม้อีกกิโลกรัมละ 5 บาท เป้าหมาย 6 หมื่นตัน 4. กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรและสนับสนุนให้มีการใช้พระราชบัญญัติเกษตรพันธสัญญา การทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าด้านผลไม้ โดยจะสนับสนุนให้มีการทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้า เพื่อเกษตรกรได้ทราบว่าขายผลไม้ได้เท่าไหร่ มีคนซื้อที่มีหลักประกัน เซ็นสัญญาตามกฏหมายชัดเจนไม่ต่ำกว่า 3 หมื่นตัน
5.มาตรการส่งเสริมการบริโภคผลไม้ในประเทศ ประสานงานกับสายการบินต่างๆ เปิดโอกาสให้โหลดผลไม้ขึ้นเครื่องบินในประเทศไทยฟรี 25 กิโลกรัม ตั้งแต่เดือนเมษายนปี 2565

Advertisement

6.มาตรการช่วยสนับสนุนกล่อง พร้อมค่าจัดส่งผลไม้ที่ขายตรงจากเกษตรกรหรือกลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ไปยังผู้บริโภคโดยตรง โดยสนับสนุนกล่องมากขึ้นกว่าปี 2564 ที่สนับสนุน 2 แสนกล่อง เพิ่มเป็น 3 แสนกล่องในปี 2565 7.ช่วงผลไม้ออกปริมาณมาก กระทรวงพาณิชย์จะสนับสนุนให้มีรถเร่ รถโมบาย ไปรับซื้อผลไม้และนำออกจำหน่ายสู่ผู้บริโภคโดยตรง โดยปี 2565 เป้าหมาย 1.5 หมื่นตัน
8.ประสานงานกับห้างท้องถิ่นและปั๊มน้ำมันต่างๆ เปิดพื้นที่ระบายผลไม้ให้กับเกษตรกรโดยเพิ่มปริมาณจากปี 2564 ที่ช่วย 1.5 พันตัน ปี 2565 จะเพิ่มเป็น 5 พันตัน 9.จะทำเซลล์โปรโมชั่นในการส่งเสริมการขายผลไม้ในต่างประเทศซึ่งใช้ชื่อโครงการ Thai Fruits Golden Months ดำเนินการในตลาดจีนซึ่งเป็นตลาดใหญ่ 12 เมือง เช่นเดียวกับปี 2564 10.จัดรเจรจาจับคู่ซื้อขายผลไม้ทางธุรกิจระบบออนไลน์(OBM)เน้นตลาดใหม่ เช่น อินเดียและรัสเซีย 11.ส่งเสริมการขายผลไม้ในต่างประเทศในรูปแบบ THAIFEX – Anuga Asia
จัดงานส่งเสริมการบริโภคผลไม้ระดับนานาชาติ ช่วงเดือนพฤษภาคม 2565 ที่ อิมแพ็ค อารีน่า เมืองทองธานี

นายจุรินทร์ กล่าวต่อว่า 12.เร่งประชาสัมพันธ์ผลไม้ไทยไปในประเทศทั่วโลกเป็น 5 ภาษา 13.จัดอบรมให้ความรู้เกษตรกรกลุ่มเกษตรกรเรื่องของการค้าออนไลน์เพื่อขายตรงให้กับผู้บริโภคและเพิ่มเติมหลักสูตรการส่งออกเบื้องต้นให้ด้วย ตั้งเป้าอบรมเกษตรกรกว่า 1 พันราย 14.มาตรการขอความร่วมมือจากผู้ว่าราชการจังหวัดที่เกี่ยวข้องในการเคลื่อนย้ายแรงงาน เพื่อให้ดำเนินการเก็บผลไม้และส่งเสริมการขายผลไม้ได้ต่อไป 15.บางช่วงที่ขาดแคลนแรงงาน ให้ กอ.รมน.ส่งกำลังพลเข้ามาช่วยเก็บเกี่ยวและขนย้ายผลไม้ 16.กระทรวงพาณิชย์จะสั่งการให้ทีมเซลล์แมนจังหวัดและทีมเซลล์แมนประเทศประสานงานกันช่วยระบายผลไม้ของเกษตรกรทั้งตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศต่อไป ให้มีความเข้มข้นขึ้น 17.กระทรวงพาณิชย์และจังหวัดจะบังคับใช้กฎหมายโดยเคร่งครัด เพื่อให้เกษตรกรสามารถขายผลไม้ที่มีคุณภาพ และได้ราคาดีไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ โดยบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ กฎหมายว่าด้วยการแข่งขันทางการค้าและกฎหมายชั่งตวงวัดโดยเคร่งครัดต่อไป

Advertisement

“ภาพรวมปีหน้าผลไม้จะมีผลผลิตเพิ่มขึ้นจากปีนี้ เป็น 3.5 ล้านตัน หรือเพิ่มประมาณ 8% มาตรการเชิงรุกจึงจำเป็น โดยปีนี้สามารถผลักดันส่งออกผลไม้ไทยในช่วง 8 เดือนแรก 2564 ถึง 169,000 ล้านบาท บวก 46% เฉพาะทุเรียนส่งออกได้ 98,360 ล้านบาท บวก 77% มังคุดส่งออก 16,703 ล้านบาท บวก 24% ลำไยส่งออก 10,392 ล้านบาท บวก 50% อีกมาตรการพิเศษคือเร่งรัดเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร โดยส่งเสริมขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์(จีไอ) ปี 2564 ขึ้นทะเบียนจีไอแล้ว 152 รายการ และครอบคลุม 77 จังหวัด สร้างมูลค่ายอดขายถึง 4 หมื่นล้านบาท อย่าง จันทบุรีมีจีไอ 3 รายการ คือ เสื่อจันทบูร พริกไทยจันท์ ทุเรียนจันท์ คาดว่ามียอดส่งออกกว่า 4.5 หมื่นล้านบาท” นายจุรินทร์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image