สกู๊ปหน้า 1 : จับตาบริษัทยักษ์ไทย ปรับตัวครั้งใหญ่ สู่โลกใหม่หลังโควิด

จับตาบริษัทยักษ์ไทย ปรับตัวครั้งใหญ่ สู่โลกใหม่หลังโควิด

ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา เราเห็นการเปลี่ยนแปลงของบริษัทยักษ์ใหญ่อย่างต่อเนื่อง และไม่ใช่บริษัทเดียวเท่านั้น อาทิ ธนาคารไทยพาณิชย์ ที่จ่อแปลงโฉมจาก SCB เป็น SCBX หรือการรุกธุรกิจเทคโนโลยีทางการเงิน ฟินเทค ที่มี SCB เป็นบริษัทลูกเท่านั้น

บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) หรือ SIRI ที่เปิดตัว สิริ ฮับ โทเคน (Siri Hub Token) ที่เป็นการลงทุนโทเคนครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้ลงทุนทุกกลุ่มร่วมลงทุนในโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุนที่อ้างอิง หรือมีกระแสรายรับจากอสังหาริมทรัพย์ (Real Estate-backed ICO) ตัวแรกของไทยที่อ้างอิง หรือมีกระแสรายรับจากอสังหาริมทรัพย์ จากสิริ แคมปัส สำนักงานใหญ่ เป็นสินทรัพย์อ้างอิงลงทุน

เมื่อยักษ์ใหญ่ในไทยขยับตัวก็สร้างแรงกระเพื่อมให้กับภาพรวมธุรกิจและตลาดสูงมาก โดยจะเห็นว่าตลาดตอบรับการปรับตัวในเชิงบวก สะท้อนได้จากราคาหุ้นของบริษัทยักษ์ใหญ่เหล่านี้ที่ราคาวิ่งขึ้นตอบรับข่าวดีล่วงหน้าแล้ว

เมื่อภาพเป็นเช่นนี้ ก็มีคำถามต่อว่า ถึงเวลาที่ภาคธุรกิจจะต้องปรับตัวครั้งใหญ่ เพื่อความอยู่รอดอีกครั้งหรือยัง โดยเฉพาะการเข้ามาของโควิด-19 ที่อาจเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้นอีก เพื่อปรับตัวให้ยืนไหวและอยู่รอดได้ภายใต้ภาวะวิกฤตในปัจจุบัน

Advertisement

นายกวี ชูกิจเกษม รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กสิกรไทย จำกัด มองว่า ภาพรวมธุรกิจมีการเปลี่ยนแปลงในทุกยุคทุกสมัยอยู่แล้ว ไม่ได้เพิ่งมาเห็นการเปลี่ยนแปลงในช่วงปัจจุบันเท่านั้น โดยหากย้อนกลับไปในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เราจะเห็นธุรกิจในทุกอุตสาหกรรมมีการเปลี่ยนแปลงและปรับตัวเองอย่างต่อเนื่อง

อาทิ ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ก็มีการปรับตัวจากเดิมที่เน้นปล่อยสินเชื่อเป็นหลัก เมื่อปล่อยสินเชื่อได้น้อยลงก็มาเก็บรายได้จากค่าธรรมเนียมมากขึ้น เมื่อรายได้จากค่าธรรมเนียมลดลงก็ต้องพยายามหารายได้ในด้านอื่นๆ เข้ามาเพิ่มขึ้น

ด้านธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จากเดิมที่ทำบ้านเดี่ยวเมื่อเมืองเจริญขึ้นก็ทำคอนโดมิเนียมออกมาตอบโจทย์ผู้อยู่อาศัย และเมื่อสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม อสังหาฯก็ต้องเปลี่ยนแนวทางในการทำธุรกิจให้เข้ากับธุรกิจที่เกี่ยวข้องกันมากขึ้น โดยมองว่าการปรับเปลี่ยนของภาคธุรกิจถือเป็นภารกิจต่อเนื่องมากกว่า ไม่ได้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเฉพาะในช่วงนี้เท่านั้น เพราะหากเพิ่งมาเกิดขึ้นในช่วงนี้จะไม่มีธุรกิจใดรอดมาจนถึงทุกวันนี้เนื่องจากบริษัทขนาดใหญ่ในประเทศไทยก็มีหลายบริษัทที่อยู่กันมาเป็น 100 ปีแล้ว มีการเปลี่ยนแปลงกันหลายต่อหลายครั้ง

Advertisement

การปรับเปลี่ยนของภาคธุรกิจที่เริ่มเห็นกันว่ามาปรับในช่วงนี้ไม่ได้หมายความว่าเพิ่งมา เพราะถูกบังคับหรือไม่เคยปรับมาก่อนในอดีต เพราะทุกบริษัทที่อยู่ได้อย่างยืนยาวต้องมีการปรับตัวกันอย่างต่อเนื่อง จะเห็นได้ว่าธุรกิจมีการเปลี่ยนโจทย์ในการดำเนินธุรกิจแทบทุกทศวรรษ ไม่มีช่วงทศวรรษใดที่โจทย์ในการทำธุรกิจเหมือนกัน เพียงแค่โจทย์ในทศวรรษใดจะยากหรือง่ายกว่ากันเท่านั้น
จึงมองว่าการปรับตัวเพื่อมองหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ หรือแก้โจทย์ธุรกิจแบบเดิมๆ และขยายธุรกิจให้เติบโตได้อย่างต่อเนื่องเป็นกระบวนการธรรมดาที่เกิดขึ้น เพราะเมื่อเวลาผ่านไปอีก 5-10 ปี การปรับตัวของธุรกิจ หรือการปรับโครงสร้างของบริษัทขนาดใหญ่ที่เราเห็นในปัจจุบันจะถือเป็นเรื่องธรรมดา ไม่ได้เป็นเรื่องใหม่หรือเรื่องใหญ่อีกต่อไป นายกวีกล่าว

นายกวีกล่าวว่า ในทุกธุรกิจ หรือทุกอุตสาหกรรมจะมีการปรับตัวที่ไม่เหมือนกัน แต่สิ่งที่เหมือนกันคือการปรับตัวเพื่อเปลี่ยนแปลงตัวเองให้เข้ากับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน เนื่องจากทุกอย่างในโลกนี้จะจบที่ผู้บริโภคเท่านั้น เพราะทุกคนเป็นผู้บริโภคทั้งหมด เพียงแต่ว่าจะเลือกบริโภคอะไรหรือไม่เลือกอะไรเท่านั้น ทำให้เมื่อผู้บริโภคมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป เราก็ต้องเปลี่ยนแปลงให้ทันกับผู้บริโภค ซึ่งโจทย์ในการดำเนินธุรกิจมีเท่านี้จริงๆ แม้โจทย์หลักจะมีแค่อย่างเดียวเท่านั้น แต่วิธีในการที่จะแก้โจทย์นั้น หรือการตอบโจทย์ผู้บริโภคถือว่ามีความยากสูงมาก

นายกวีกล่าวว่า ด้านความสามารถในการแข่งขัน หากแยกประเภทอุตสาหกรรมของภาคธุรกิจไทย มองว่าธุรกิจที่สามารถไปต่อในอนาคตได้อย่างแน่นอนจะเป็นธุรกิจบริการ เนื่องจากประเทศไทยนั้นหากจะไปพัฒนาในด้านอุตสาหกรรม หรือเทคโนโลยีเพื่อแข่งขันกับตลาดโลก คงจะยากมากพอสมควร แต่ในด้านธุรกิจบริการของประเทศไทยนั้น ถือว่ามีธุรกิจเหล่านี้เป็นธุรกิจดั้งเดิมและยั่งยืนมาพอสมควร รวมถึงพิสูจน์มาแล้วว่ามีความสำคัญในภาพรวมธุรกิจไทย ซึ่งธุรกิจบริการก็ยกตัวอย่างเช่น ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับทุกสิ่งทุกอย่างในการดูแลความเป็นอยู่ด้านสุขภาพของมนุษย์ ซึ่งครอบคลุมขอบเขตค่อนข้างกว้าง ตั้งแต่เรื่องยา อุปกรณ์ทางการแพทย์ การบริการรักษาพยาบาล หรือกลุ่มเฮลท์แคร์ ธุรกิจอาหาร ธุรกิจท่องเที่ยว หรือแม้แต่อุตสาหกรรมบางประเภทของประเทศไทยก็ไม่น้อยหน้าต่างประเทศมากนัก อาทิ ธุรกิจยานยนต์ ที่มองว่าไม่ได้เสียเปรียบต่างประเทศสักเท่าใด ไม่เช่นนั้นจะไม่เห็นการย้ายฐานการผลิตบริษัทรถยนต์ในต่างประเทศเข้ามาในประเทศไทยแน่นอน โดยหากสามารถสนับสนุนธุรกิจเหล่านี้ให้เติบโตขึ้นได้อย่างมั่นคงต่อเนื่องจะถือเป็นธุรกิจหลักที่จะผลักดันการเติบโตของประเทศไทย และก้าวไปข้างหน้าได้ แม้เป็นการก้าวที่ไม่ได้รวดเร็วเท่ากับต่างประเทศ เพราะในบางอุตสาหกรรมที่เติบโตได้เร็วๆ นั้นไทยไม่ได้เข้าไปอยู่ในจุดที่ได้เปรียบ

นายกวีกล่าวว่า ส่วนจุดอ่อนของภาคธุรกิจไทย และการก้าวข้ามจุดอ่อนนั้น เนื่องจากปัญหาหลักๆ ของธุรกิจไทยมักจะติดปัญหาในเรื่องของโครงสร้าง โดยมองว่านโยบายของรัฐบาลควรที่จะสนับสนุนหรือมีนโยบายที่ชัดเจนว่าอุตสาหกรรมใดจะไปทางใด หรือจะสนับสนุนอุตสาหกรรมใดอย่างชัดเจน เพื่อให้ภาคเอกชนสามารถวางแผนและวางแนวทางในการปฏิบัติได้อย่างแท้จริง ขณะเดียวการปฏิบัติก็ต้องมีความชัดเจนด้วย เพราะหากมีนโยบายที่ชัดเจน แต่แนวทางปฏิบัติไม่ชัดเจน อาทิ เมื่อถึงเวลาจริงๆ แล้วติดเงื่อนไขหรือข้อจำกัดหลายอย่างหลายด้าน ก็ไม่สามารถเดินหน้าหรือขับเคลื่อนธุรกิจได้จริง ทำให้ความชัดเจนของนโยบาย การปฏิบัติจริง และความต่อเนื่องจะต้องมาพร้อมกัน

การกระทำในปัจจุบันจะส่งผลต่ออนาคต เหมือนการเปลี่ยนแปลงในอดีตที่เห็นผลในปัจจุบัน ทำให้การวางแผนในปัจจุบันมีความสำคัญมากต่อทิศทางในอนาคต

แม้ที่ผ่านมาจะเห็นการปรับตัวเพื่อความอยู่รอดของธุรกิจอย่างต่อเนื่องก็ตาม แต่ตอนนี้อาจถึงทศวรรษแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ของภาคธุรกิจไทยอีกครั้ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image