สกู๊ปหน้า 1 : แซนด์บ็อกซ์ปศุสัตว์ ขยายส่งออก ฟื้น ศก.ไทย

สกู๊ปหน้า 1 : แซนด์บ็อกซ์ปศุสัตว์ ขยายส่งออก ฟื้น ศก.ไทย

ในช่วงที่เศรษฐกิจไทยอยู่ระหว่างการฟื้นฟู และหาทิศทางใหม่ๆ ในการเพิ่มเม็ดเงินให้กับระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย ภาคการเกษตรกลายเป็นหนึ่งในตัวเลือกสำคัญที่จะนำมาชุบตัว เพื่อสร้างรายได้เพิ่มเติม

โดยเมื่อวันที่ 4 ตุลาคมที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และสภาเกษตรกรแห่งชาติ ร่วมกันจัดทำโครงการ “แซนด์บ็อกซ์ปศุสัตว์”

เรียกได้ว่าเป็นโครงการใหม่ที่ยังไม่ได้แกะกล่องด้วยซ้ำ เพราะยังอยู่ในช่วงหารือ และพิจารณาการดำเนินงาน รวมถึงยังอยู่ในช่วงของการกำหนดพื้นที่กลุ่มคน สมาชิก เพื่อนำร่อง ซึ่งโครงการนี้มีจุดมุ่งหมายสร้างรายได้เพิ่ม โดยรัฐบาลจะพิจารณาจัดสรรงบประมาณให้สอดคล้องกับโครงการต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นภาคใต้ แซนด์บ็อกซ์ปศุสัตว์ต่อไป

เบื้องต้นจากการหารือระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ โดย พล.อ.ประยุทธ์ได้เสนอแนวคิดการจัดทำโครงการดังกล่าว เพื่อหวังเพิ่มช่องทางรายได้สร้างความยั่งยืนให้อาชีพเกษตรกร

Advertisement

ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลให้ความสำคัญในการดูแลเกษตรกรคนไทยทั้ง 76 จังหวัด โดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อย

โดยส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ อาทิ โค-กระบือ และสุกร เป็นช่องทางเพิ่มรายได้ควบคู่กับการทำการเกษตร ซึ่งจากการหารือดังกล่าว พล.อ.ประยุทธ์ ได้มอบหมายให้กระทรวงเกษตรฯไปจัดทำข้อมูลพิจารณากำหนดพื้นที่ กลุ่มเป้าหมาย และการควบคุมโรคสัตว์ เพื่อให้เกิดเป็นโครงการนำร่องต่อไป

นอกจากนี้ หมุดหมายหลักของ พล.อ.ประยุทธ์ ยังต้องการให้เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างภาคเกษตรกรและฝ่ายบริหาร คือรัฐบาล นำโดยกระทรวงเกษตรฯ เพื่อช่วยกันหาช่องทางสร้างรายได้ใหม่ๆ ให้กับเกษตรกร ควบคู่ไปกับการใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพในท้องถิ่น ส่งเสริมการปลูกพืชผสมผสานอีกด้วย

จากเป้าหมายดังกล่าวจึงได้ดึง สภาเกษตรกรแห่งชาติ ที่ถือเป็นตัวแทนภาคเกษตรในการเข้ามาช่วยสะท้อนถึงปัญหา และช่วยขับเคลื่อนโครงการนี้ และโครงการต่างๆ ของรัฐให้เกิดได้จริงและเร็วขึ้นอีกด้วย ซึ่งในมุมของสภาเกษตรฯเองก็เห็นชอบกับแนวคิดของรัฐบาล ในเรื่องการส่งเสริมการเลี้ยงโค ซึ่งหลายพื้นที่ของไทย มีลักษณะกายภาพที่เหมาะสม ทั้งยังสามารถส่งเสริมให้เป็นสินค้าสร้างรายได้ ซึ่งในอนาคตสามารถทดแทนการทำการเกษตรได้ด้วย

ขณะเดียวกัน ได้สั่งการให้กระทรวงเกษตรฯหารือกับกระทรวงพาณิชย์ เพื่อหาช่องทางส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน หรือตลาดต่างประเทศที่ต้องการนำเข้าโค เพื่อสร้างช่องทางใหม่ๆ รองรับโครงการนี้

นอกจากนี้ ในเรื่องของการส่งออกสินค้าปศุสัตว์ ล่าสุดกรมปศุสัตว์ได้มีการประชุมคณะกรรมการรับรองระบบประกันคุณภาพที่มีการปฏิบัติในการผลิตอาหาร (จีเอ็มพี) และระบบการวิเคราะห์อันตรายและจุดวิกฤตที่ต้องควบคุมในการผลิตอาหาร (เอชเอซีซีพี) ในสถานประกอบการผลิตสินค้าปศุสัตว์เพื่อการส่งออก อาทิ เนื้อสัตว์ปีกดิบแช่เย็น/แช่แข็ง เนื้อสัตว์ปีก แปรรูปปรุงสุก เป็นต้น

จากจำนวนโรงงานที่ขึ้นทะเบียนกับกรมปศุสัตว์ จำนวน 386 โรงงาน และนอกจากนั้นหน้าที่ที่สำคัญอีกประการคือ การควบคุมการผลิตสินค้าปศุสัตว์อย่างเข้มข้น ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ด้วยมาตรการบับเบิลแอนด์ซีล

ปัจจุบันได้มีการพิจารณาการรับรองระบบจีเอ็มพีและเอชเอซีซีพี เพื่อรับรองโรงงานใหม่ ขยายการรับรอง และต่ออายุ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในกับคู่ค้าและผู้บริโภค ดังนี้ 1.การรับรองมาตรฐานระบบจีเอ็มพี แบ่งเป็น รับรองโรงงานใหม่ระบบจีเอ็มพี จำนวน 8 โรงงาน รับรองการขยายการรับรองระบบจีเอ็มพี จำนวน 2 โรงงาน และรับรองการต่ออายุระบบจีเอ็มพี จำนวน 20 โรงงาน การรับรองมาตรฐานระบบเอชเอซีซีพี แบ่งเป็น รับรองโรงงานใหม่ระบบเอชเอซีซีพี จำนวน 1 โรงงาน รับรองการขยายการรับรองระบบเอชเอซีซีพี จำนวน 1 โรงงาน และรับรองการต่ออายุระบบเอชเอซีซีพี จำนวน 12 โรงงาน

นอกจากนี้ยังมีการพิจารณาการคงไว้ซึ่งการรับรองโรงงานที่ยังปฏิบัติได้ตามมาตรฐานในการตรวจติดตามประจำปีระบบจีเอ็มพีและเอชเอซีซีพีจำนวน 15 โรงงาน และรับรองการขยายการรับรองระบบจีเอ็มพีและเอชเอซีซีพี จำนวน 4 โรงงาน

ทั้งนี้ จากมูลค่าและปริมาณการส่งออกเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์แปรรูปสะสมตั้งแต่เดือนมกราคม-กันยายน 2564 รวมเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 77,720 ล้านบาท จากปริมาณทั้งหมด 6.89 แสนตัน และจากการรับรองระบบจีเอ็มพีและเอชเอซีซีพี ในโรงงานผลิตสินค้าปศุสัตว์ คาดว่าจะเพิ่มยอดการส่งออกรวมต่อเดือนราว 6,000-7,000 ล้านบาทอีกด้วย

จากข้อมูลดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าภาคการเกษตรโดยเฉพาะภาคปศุสัตว์มีความพร้อมที่จะพัฒนามาตรฐานด้านการส่งออก เพื่อสามารถแข่งขันกับหลายประเทศในโลกได้อยู่เสมอ

ดังนั้น หากโครงการ “แซนด์บ็อกซ์ปศุสัตว์” สามารถขับเคลื่อนให้เกิดขึ้นได้จริง ก็จะยิ่งเป็นตัวสนับสนุนให้ภาคการเกษตรของไทยกลายมาเป็นอีกหนึ่งความหวังในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image