แบงก์ชาติกระทุ้ง ธุรกิจกระโจนโลกการเงินดิจิทัล ไม่เปลี่ยน…โดนดิสรัปต์!!

แบงก์ชาติกระทุ้ง ธุรกิจกระโจนโลกการเงินดิจิทัล ไม่เปลี่ยน...โดนดิสรัปต์!!

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นตัวเร่งให้ผู้คนได้ใช้ระบบดิจิทัลกันมากขึ้น รวมไปถึงหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนเอง ไม่ว่าจะเป็นการทำงานที่บ้าน การซื้อของออนไลน์ รวมไปถึงการโอนเงินช่วยเหลือของรัฐเข้าแอพพลิเคชั่น “เป๋าตังค์”

จากรายงานของ Sea Insights ได้สำรวจคนยุคดิจิทัลกว่า 86,000 คน ทั่วภูมิภาคอาเซียน พบว่าประเทศไทยถือเป็นประเทศเดียวในภูมิภาคที่มองว่าระบบการชำระเงินมีมาตรฐานกลางและเชื่อมโยงกันได้ ซึ่งเป็นปัจจัยที่สาคัญที่สุดในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจเข้าสู่ระบบดิจิทัลกว่า 65% คนไทยใช้ระบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นช่องทางหลักในการทำธุรกรรมทางการเงิน (ค่าเฉลี่ยภูมิภาคอยู่ที่ 51%) และ 53% คนไทยต้องการเข้าถึงบริการทางการเงินแบบดิจิทัลมากขึ้น (ค่าเฉลี่ยภูมิภาคอยู่ที่ 43%) แสดงให้เห็นว่าคนไทยตื่นตัวกับเรื่องการเงินดิจิทัลเป็นอย่างมาก

⦁แบงก์ชาติกับทิศทางฟินเทคกรุยทางหน้าใหม่เข้าแข่งขัน
ประเด็นนี้ เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวไว้ว่า สถานการณ์ด้านการเงินของโลกมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา โดยจะเห็นได้ว่ามีการพัฒนาที่สะดวก รวดเร็ว ทันสมัย และตอบโจทย์ผู้บริโภคมากขึ้น วัดจากจำนวนบัญชีโมบายแบงกิ้ง จาก 5 แสนบัญชี เมื่อ 10 ปีก่อน ล่าสุดถึง มิถุนายน 2564 อยู่ที่ 75 ล้านบัญชี การใช้งานระบบชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-payment) เพิ่มจาก 17 ครั้งต่อคนต่อปี เป็น 251 ครั้งต่อคนต่อปี หรือเพิ่มขึ้นถึง 15 เท่า

เมื่อมองไปข้างหน้าจะเห็นได้ว่าในภาคการเงินย่อมจะมีผู้เล่นใหม่ๆ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการให้บริการมากขึ้นโดยอาจจะไม่จำเป็นต้องเป็นผู้เล่นที่อยู่ในภาคการเงินเองเสมอไป แต่อาจมาจากธุรกิจอื่นๆ รวมถึงธุรกิจที่เข้ามาเชื่อมต่อโดยตรง ทำให้การให้บริการทางการเงินไม่จำเป็นต้องมีตัวกลาง ดังนั้นการเงินในอนาคตจะมีการแข่งขันที่เพิ่มมากขึ้น ผู้เล่นหน้าใหม่จะมีมากขึ้น และการเข้าถึงบริการทางการเงินจะต้องเป็นแบบ ทุกที่ทุกเวลาและทุกอุปกรณ์

Advertisement

สำหรับบทบาทของ ธปท.ที่จะรองรับต่อความเปลี่ยนแปลงของการเงินในอนาคต มี 3 มิติที่สำคัญ ดังนี้ 1.การเปิดเผยข้อมูลมากขึ้น ทำให้มีการนำฐานข้อมูลที่มีอยู่ไปใช้ในการให้บริการทางการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การแชร์ข้อมูลการเงินระหว่างระหว่างธนาคารได้ง่ายและสะดวกขึ้น ซึ่งจะทำให้การใช้ข้อมูลประกอบการขอสินเชื่อทำได้รวดเร็ว เป็นประโยชน์ต่อผู้ที่ต้องการเข้าถึงสินเชื่อได้สะดวกมากขึ้น 2.การเปิดการแข่งขันให้มากขึ้น ในส่วนนี้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้บริการทางการเงิน ที่จะได้รับบริการทันสมัย มีการพัฒนาต่อยอดมากขึ้น จากผู้เล่นที่เข้ามามากขึ้น และ 3.การเปิดโครงสร้างพื้นฐานที่หลากหลายให้กับ
ผู้เล่นทั้งรายเก่าและรายใหม่ เพื่อนำไปใช้ต่อยอดนวัตกรรมการพัฒนาการให้บริการทางการเงินของไทย

⦁เปิดตัว SCBX คลื่นลูกใหญ่สะเทือนภาคการเงินไทย
สถาบันการเงินขนาดใหญ่ของไทยก็ได้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเพื่อเข้าสู่ยุคดิจิทัลเสมอมา โดยล่าสุดทางด้านธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ได้มีการเปลี่ยนโครงสร้างองค์กรแบบใหม่ไปสู่ “ยานแม่ใหม่” ที่มีชื่อว่า “เอสซีบีเอ็กซ์ หรือ SCBX” ได้สร้างความตื่นตาให้กับผู้คนเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ จนวันรุ่งขึ้นหลังการแถลงข่าว ราคาหุ้นเปิดตลาดพุ่งขึ้นไป +19.63% ในราคา 131 บาท

อาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ ให้ข้อมูลว่า การมาถึงของระบบการเงินแบบไร้ตัวการ (Decentralized Finance Technology หรือ DeFi) การขยายตัวและการบุกของแพลตฟอร์มระดับโลกเข้าสู่ธุรกิจการเงิน พฤติกรรมของผู้บริโภคหลังโควิด รวมถึงกฎระเบียบข้อบังคับที่เปลี่ยนไปอย่างมาก จะทำให้รูปแบบการทำธุรกิจในแบบการเป็นตัวกลางเก็บค่าธรรมเนียมของธนาคารแบบดั้งเดิมจะลดบทบาทลง เพราะจะไม่สามารถตอบสนองความต้องการและความคาดหวังใหม่ของผู้บริโภคได้

โดย SCB จะไม่เท่ากับธนาคารในความหมายเดิมอีก แต่จะแปลงสภาพกลายเป็นกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีทางการเงิน (Fin Tech) ที่มีกลุ่มธุรกิจธนาคารเป็นส่วนหนึ่ง และจะขยายเข้าสู่ธุรกิจการเงินส่วนบุคคลที่มีการเติบโตสูง ที่รูปแบบธนาคารเดิมไม่สามารถตอบสนองได้ โดยแต่ละธุรกิจจะร่วมมือกับพันธมิตรระดับประเทศ และระดับภูมิภาคที่แข็งแกร่ง อาทิ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) (AIS) เครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP)

นอกจากการขยายเข้าสู่ธุรกิจการเงินส่วนบุคคลแล้ว SCB ได้มีแผนยกระดับขีดความสามารถของกลุ่มในการสามารถสร้างและบริหารจัดการแพลตฟอร์มทางเทคโนโลยีขนาดใหญ่ โดยก่อนหน้ามีการเปิดใช้แพลตฟอร์ม “โรบินฮู้ด ฟู้ดเดลิเวอรี่” เป็นโครงการแรก เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันกับแพลตฟอร์มระดับโลก เช่น Grab Foodpanda

อีกทั้งยังได้สร้างขีดความสามารถของบุคลากรด้านเทคโนโลยี โดยเริ่มจากการก่อตั้งบริษัท “SCB Tech X” และบริษัท “Data X” ร่วมกับพันธมิตรระดับโลก เพื่อสร้างขีดความสามารถพื้นฐานด้านเทคโนโลยีภายใน ที่จะสามารถสร้างและไต่ขึ้นได้ภายในระยะเวลาอันสั้น รวมไปถึงการขยายเข้าสู่ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลระดับโลก เพื่อเข้าสู่โลกการเงินแห่งอนาคตผ่าน SCB 10X และบริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBS) โดยการร่วมลงทุนและเป็นพันธมิตรกองทุนระดับโลก และการพัฒนาธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลด้านต่างๆ ในโมเดลธุรกิจใหม่เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับกลุ่มในระยะยาว

“แผนงาน 5 ปีที่ตั้งไว้ถึงปี 2568 ตั้งเป้าขึ้นเป็นบริษัทในระดับภูมิภาคและนานาชาติ จะมีการขยายฐานลูกค้าเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 200 ล้านราย สามารถผลักดันการเติบโตของผลการดำเนินงานได้เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า และผลักดันมูลค่าหลักทรัพย์ในตลาด มูลค่า 1 ล้านล้านบาท สร้างการเติบโตของรายได้ที่มีคุณภาพ เป็นก้าวใหม่ที่เดินหน้าปรับเปลี่ยนเพื่อการเติบโตในอนาคต” ซีอีโอธนาคารไทยพาณิชย์ฉายภาพอนาคต

⦁ซีมิโก้สู่เอ็กซ์สปริงจัดการทุกหลักทรัพย์รองรับดิจิทัล
นอกจากสถาบันการเงินแล้ว บริษัทหลักทรัพย์ ก็ได้มีการปรับตัวเพื่อรองรับเทรนด์ดิจิทัลมากขึ้น อย่าง บริษัท เอ็กซ์สปริง แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) (XPG) เดิมชื่อ บริษัทหลักทรัพย์ ซีมิโก้ จำกัด (มหาชน) ที่ได้ดำเนินกิจการบริษัทหลักทรัพย์ทั่วไป จนปัจจุบันตอนนี้ได้รับความเห็นชอบเป็นผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัลในประเทศไทย หรือ ICO Portal ซึ่งเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลชนิดหนึ่ง จากสำนักงานคณะกรรมการหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) โดยมี “สิริฮับโทเคน” เป็นโทเคนตัวแรกของประเทศไทย ที่อิงกับโครงการอสังหาริมทรัพย์ “สิริ แคมปัส” สำนักงานใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ที่มีมูลค่าโครงการระดับพันล้านบาท

อัฏฐ์ ทองใหญ่ อัศวานันท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ็กซ์สปริง ดิจิทัล จำกัด ในเครือของเอ็กซ์สปริง แคปปิตอล เล่าว่า ความสำเร็จของเอ็กซ์สปริง ดิจิทัล เกิดขึ้นภายใต้วิสัยทัศน์ที่มุ่งสร้างระบบนิเวศการลงทุนที่สมบูรณ์ที่สุด เพื่อสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้กับผู้ลงทุนไทยทุกกลุ่มในทุกระดับรายได้ ให้สามารถเข้าถึงโลกการเงินและการลงทุนได้สะดวกทุกที่ทุกเวลาด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่

โดยสิริฮับโทเคนกำหนดราคาขั้นต่ำในการจองซื้อไว้เพียง 10 บาท โดยใช้วิธีชำระเงินก่อนจะได้รับจัดสรรก่อน เสนอขายจำกัดที่ 240 ล้านโทเคน วงเงินระดมทุน 2,400 ล้านบาท อีกทั้งยังมีกลไกการคุ้มครองภายใต้โครงสร้างของการมีกองทรัสต์และทรัสตี รวมทั้งกลไกบังคับใช้สิทธิตามสัญญาอัจฉริยะบนเทคโนโลยีบล็อกเชนเทโซสที่ทันสมัยที่สุด ถูกออกแบบมาเพื่อการทำ ICO โดยเฉพาะ ทั้งความเสถียร โปร่งใส และแม่นยำตรวจสอบได้ (เพิ่ม)

ล่าสุดสร้างความฮือฮาเพราะเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา สิริฮับโทเคนได้ขายออกหมดเกลี้ยง โดยมีนักลงทุนกว่า 6,000 รายสนใจเข้าซื้อ

จากภาพการขยับครั้งใหญ่ของเหล่าธุรกิจชั้นนำของไทย จะเห็นได้ว่าภาคการเงินมีการเปลี่ยนแปลง รองรับนวัตกรรมการเงินของโลกรูปแบบใหม่ เพื่อไม่ให้บริษัทตัวเองต้องล้มหายตายจากไป เพราะผู้เล่นหน้าใหม่สามารถเข้าตลาดมาแข่งได้เสมอ สมรภูมิการแข่งขันหลังจากนี้คือการเข้าชิงฐานลูกค้าให้มากที่สุด ที่ต้องการข้อมูลลูกค้ามาวิเคราะห์ เพื่อออกผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองความต้องการให้มากที่สุด

ที่สำคัญคือ องค์กรของรัฐที่ดูแลกำกับทางการเงิน ต้องตามให้ทันเทรนด์โลกด้วย!!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image