ฉัตรชัย สาริกัลยะ เปิดใจสยบข่าวทีม ศก.ปริ

ภายหลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 30 สิงหาคมที่ผ่านมา มีมติมอบหมายให้ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี มือเศรษฐกิจ คสช. เข้ามากำกับดูแลกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพิ่มขึ้นมาอีกกระทรวง แทน นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ที่ดูแลกระทรวงนี้มาตั้งแต่ต้น

ก่อให้เกิดคำถามไม่น้อยถึงความสัมพันธ์ระหว่าง พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯกับนายสมคิด หัวหน้าทีมเศรษฐกิจรัฐบาล

ประกอบกับในช่วงที่ผ่านมา ก็มีกระแสข่าวสะพัดถึงความไม่กินเส้นระหว่าง พล.อ.ฉัตรชัยกับทีมเศรษฐกิจของนายสมคิด จากกรณีกระทรวงการคลังชิงตัดหน้าออกมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ในฤดูกาลผลิตใหม่ ปี 2559/60 ก่อนหน้ากระทรวงเกษตรฯ ผู้รับผิดชอบการช่วยเหลือเกษตรกรโดยตรงจะเสนอมาตรการออกมาด้วยซ้ำ

มติชนมีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ พล.อ.ฉัตรชัย ถึงประเด็นต่างๆ ว่าจริงเท็จประการใด

Advertisement

ทั้งปมว่าด้วยความสัมพันธ์กับนายสมคิด ระหว่าง ทีมพลเรือนŽ กับ ทีมนายพลŽ

ตลอดจนกระแสการปรับ ครม. และผลงานหลังจากเข้ารับตำแหน่งในกระทรวงเกษตรฯครบ 1 ปี

ขณะที่ บิ๊กฉัตรŽ เปิดอก ตอบทุกคำถาม

Advertisement

– เรื่องที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ปมความขัดแย้งระหว่างนายสมคิด หัวหน้าทีมเศรษฐกิจและรัฐมนตรีในทีมเศรษฐกิจ ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร

ในช่วงที่แรกๆ หลังจากมีการปรับ ครม.ใหม่ๆ นายสมคิดก็จะเรียกประชุมรัฐมนตรีในทีมเศรษฐกิจที่ทำเนียบรัฐบาลในทุกเช้าวันจันทร์ หรือที่เรียกกันว่ากินโจ๊กตอนเช้า ผมก็เข้าไปร่วมประชุมทุกครั้ง เพียงแต่ว่าช่วงหลังนายสมคิดมีภารกิจค่อนข้างเยอะ จึงลดการประชุมลงไปและก็ไม่ได้จัดประชุมอีก ผมก็เลยไม่ได้ไป ในการทำงานที่ผ่านมาก็ไม่ได้มีปัญหาและขัดแย้งกัน ผมกับกระทรวงอื่นๆ โดยเฉพาะกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงอุตสาหกรรม ก็มีการประชุมร่วมกันอยู่ตลอด มีการทำงานสอดรับเป็นไปในทิศทางเดียวกัน แต่ผมก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่า ทำไมคนถึงมองว่าผมไปขัดแย้งกับคนอื่นๆ ถ้าจะมีก็มีเพียงแค่ประเด็นเดียวที่ผมท้วงติงกระทรวงการคลังเรื่องการใช้ทะเบียนเกษตรกร ปีการผลิต 2559/60 เป็นเงื่อนไขในการจ่ายเงินเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวไร่ละ 1,000 บาท รายละไม่เกิน 10 ไร่ ตามมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ในฤดูกาลผลิตใหม่ ปี 2559/60 กระทรวงการคลังเป็นผู้ดำเนินการตามมติ ครม.เท่านั้น นอกนั้นก็ไม่น่าจะมีอะไรเป็นประเด็น

– แล้วเหตุใด พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี ถึงได้มาดูแลเกษตรฯแทนนายสมคิด หรือเป็นการแยกกันทำงานระหว่าง ทีมพลเรือนŽ กับ ทีมนายพลŽ

เรื่องดังกล่าว ผมไม่ทราบมาก่อนจริงๆ และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็ไม่เคยบอกเรื่องนี้กับผมมาก่อน หลัง พล.อ.ประยุทธ์เซ็นคำสั่งนี้แล้ว ผมก็ไม่รู้เรื่องเลยด้วยซ้ำ ผมจึงยังเสนอวาระของกระทรวงเกษตรฯให้นายสมคิดลงนามเพื่อนำเข้าที่ประชุม ครม.อยู่เลย เมื่อทราบภายหลังว่ามีการเปลี่ยนแปลงรองนายกรัฐมนตรีที่ดูแลกระทรวงเกษตรฯเป็น พล.อ.อ.ประจินแทน ผมจึงต้องเสนอวาระของกระทรวงเกษตรฯไปให้ พล.อ.อ.ประจิน ลงนามใหม่ด้วยซ้ำ

การปรับเปลี่ยนรองนายกฯ ผมขอยืนยันว่าไม่ใช่เรื่องเกาเหลาระหว่างผมกับนายสมคิด แต่เข้าใจว่า พล.อ.ประยุทธ์ ต้องการให้นายสมคิดเดินหน้าผลักดันงานเศรษฐกิจ สามารถไปโรดโชว์ต่างประเทศได้เต็มที่เพื่อหนุนเศรษฐกิจประเทศ ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างผมและ พล.อ.อ.ประจิน ก็มีการทำงานร่วมกันมาโดยตลอดอยู่แล้ว

ขณะนี้ พล.อ.อ.ประจินก็ยังเป็นหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และผมก็ยังเป็นรองหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจอยู่ เพียงแต่บทบาทช่วงนี้จะน้อยลงเท่านั้นเอง โดยในส่วนงานภายหลังจากที่ พล.อ.อ.ประจิน มาดูแลกระทรวงเกษตรฯก็ไม่ได้มีการปรับเปลี่ยนแผนงานอะไร ทุกอย่างยังเดินหน้าตามแผนงานและโครงการเดิมต่อไป

– ช่วงนี้เห็นมีกระแสข่าวปรับ ครม.อีกรอบ ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร

ผมก็เห็นแต่หนังสือพิมพ์เล่นประเด็นนี้นะ แต่ก็ไม่เห็นมีอะไร นายกฯก็พูดและชี้แจงกับสื่อหลายรอบแล้วไม่ใช่เหรอ ว่าช่วงนี้ยังไม่มีการปรับ ครม.

– รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯครบ 1 ปีแล้ว ประเมินผลงานตัวเองเป็นอย่างไร

ผมเคยพูดเสมอว่า ผมไม่ประเมินผลงานตัวเอง เพราะผมคงประเมินตัวเองไม่ได้ ต้องให้ผู้เกี่ยวข้องและมีส่วนได้ส่วนเสียในการดำเนินงานในกระทรวง อาทิ เกษตรกร และข้าราชการเป็นผู้ประเมิน ต้องไปถามเกษตรกรเองว่า 1 ปีที่ผมทำงานมา มีการแก้ไขปัญหา วางรากฐานในการทำงานด้านการเกษตร เขาได้รับผลอย่างไร แต่ถ้าไปถามคนที่ไม่ได้อยู่ในห่วงโซ่ของเกษตรกรก็อาจจะมองภาพไม่ถูกต้องชัดเจนนัก

– ผลงานอะไรโดดเด่น ในรอบปีการบริหารที่ผ่านมา

วันนี้ผมพยายามปรับทิศทางการทำเกษตรกรรม เพราะถ้าหากประเทศไทยยังไม่ปรับ หรือปฏิรูปการทำการเกษตรเลย การผลิตสินค้าเกษตรจะมีปัญหาอย่างแน่นอน ทำให้กระทรวงจะต้องเร่งเปลี่ยนแปลงปฏิรูปและวางรากฐานภาคเกษตร ขณะนี้มีแผนงานค่อนข้างมีความชัดเจนแล้ว แต่ผลลัพธ์อาจจะต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินการอีกสักระยะ อาทิ โครงการส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่ เพื่อเป้าหมายในการลดต้นทุนลง 20% และเพิ่มผลผลิตอีก 20% จะช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น ขณะนี้ดำเนินการไปแล้วกว่า 596 แปลง จากเป้าหมาย 650 แปลง ครอบคลุมพื้นที่ 1.47 ล้านไร่ และมีเกษตรกรเข้าร่วม 93,260 ราย อย่างไรก็ตาม ในปี 2560 จะต้องมีการดำเนินการที่เข้มข้นมากขึ้น นอกจากนี้ในส่วนของการดำเนินการยึดคืนที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม หรือ ส.ป.ก. จำนวน 500 ไร่ขึ้นไป ครอบคลุมพื้นที่ทั้งสิ้น 431 แปลง เนื้อที่ 437,297 ไร่ ใน 27 จังหวัด ขณะนี้สามารถยึดคืนที่คืนได้กลับมาทันที จำนวน 292 แปลง เนื้อที่ 129,126 ไร่ หลังจากนี้ทางกระทรวงเกษตรฯจะดำเนินการจัดรูปที่ดินในรูปแบบลานสัก โมเดล ก่อนจะแจกจ่ายให้แก่เกษตรกรผู้ไร้ที่ดินทำกิน ในรูปแบบคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ระดับจังหวัด (คทช.จ.) ต่อไป

 

สัมภาษณ์พิเศษ โดย ธนพล ตั้งสิริสุธีกุล

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image