ธปท.ย้ำไม่นิ่งนอนใจ ปชช.ถูกข้อความหลอกโอนเงิน ชี้โควิดดันยอดใช้พร้อมเพย์พุ่ง 30 ล้านรายการต่อวัน

‘ธปท.’ ย้ำไม่นิ่งนอนใจกรณี ปชช.ถูกข้อความหลอกโอนเงิน ชี้โควิดดันยอดใช้พร้อมเพย์พุ่ง 30 ล้านรายการต่อวัน

เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม นางสาวสิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงกรณีพบประชาชนถูกหลอกลวงให้โอนเงินผ่านช่องทางออนไลน์ หรือดิจิทัลแพลตฟอร์มในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะข้อความ (เอสเอ็มเอส) ในโทรศัพท์มือถือค่อนข้างมากว่า ธทป.ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้ทำการแจ้งเตือนประชาชนอย่างต่อเนื่องว่าหากได้รับข้อความผ่านระบบโทรศัพท์ เพื่อให้ดำเนินการกดเข้าเว็บไซต์ (ลิงก์) ใดนั้น ต้องห้ามกดโดยเด็ดขาด และต้องไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนตัวให้กับบุคคลอื่นรับรู้ง่ายๆ

นางสาวสิริธิดากล่าวว่า รวมถึงได้ร่วมมือกับผู้กำกับดูแลอย่างคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และหารือร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ซึ่งต้องร่วมมือกันหลายด้าน ทั้งการให้ข้อมูล แจ้งเตือนกับประชาชน และการกำกับดูแลให้ผู้ประกอบการป้องกันในกรณีดังกล่าวด้วย โดยในส่วนของสถาบันการเงินได้หารือร่วมกัน และยืนยันว่าตามปกติแล้วสถาบันการเงินจะไม่มีการส่งข้อความหรือเอสเอ็มเอสให้กับลูกค้าโดยตรง ภาคการเงินจะต้องระมัดระวังเรื่องนี้มากขึ้น และในระยะยาวจะต้องทำเพิ่มขึ้นอีกในทุกด้าน

“จากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ในปัจจุบันส่งผลให้การทำธุรกรรมทางการเงินผ่านช่องทางออนไลน์เพิ่มสูงขึ้น สะท้อนได้จากยอดการทำธุรกรรมผ่านระบบพร้อมเพย์สูงถึง 28-30 ล้านรายการต่อวัน ซึ่งถือเป็นระดับสูงสุดใหม่ (นิวไฮ) และเป็นการเติบโตอย่างก้าวกระโดดจากช่วงก่อนเกิดโควิด ที่มีปริมาณการทำธุรกรรมเพียง 10 ล้านรายการต่อวันเท่านั้น

“เนื่องจากที่ผ่านมาการทำธุรกรรมผ่านพร้อมเพย์ในช่วงแรกๆ จะเป็นตัวเลขแบบหลักเดียว และทยอยเพิ่มขึ้นเป็นสองหลักอย่างต่อเนื่อง โดยในบางช่วงที่ถึงจุดสูงสุด (พีค) พบว่ามีปริมาณการทำธุรกรรมสูงถึง 30 ล้านรายการต่อวัน ส่วนแนวโน้มหลังโควิดคลี่คลายแล้ว เชื่อว่ายังจะเห็นการให้บริการทางการเงินและการลงทุนใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากภาคการเงินหลังโควิดคลายตัว จะปรับเปลี่ยนและไปสู่โลกดิจิทัลมากขึ้นและเร็วขึ้นอีก” นางสาวสิริธิดากล่าว

Advertisement

นางสาวสิริธิดากล่าวว่า สำหรับการที่ ธปท.ได้จัดงาน Bangkok FinTech Fair เป็นประจำต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2561 เพื่อสร้างความรับรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีทางการเงิน หรือฟินเทค ส่งเสริมให้ประชาชน ภาคธุรกิจ นำเทคโนโลยีมาใช้พัฒนานวัตกรรมทางการเงินใหม่ๆ และส่งเสริมให้เกิดการต่อยอดของผู้ให้บริการทางการเงินในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีทางการเงินที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น โดยในปีนี้จะจัดงาน Bangkok FinTech Fair Bangkok ครั้งที่ 4 ภายใต้แนวคิด “Shaping Digital Finance in the New Decade : ก้าวสู่ทศวรรษใหม่ กับโลกการเงินไทยแห่งอนาคต” ในวันจันทร์ที่ 18 และวันอังคารที่ 19 ตุลาคม 2564 ตั้งแต่เวลา 09.15-16.30 น. ในรูปแบบออนไลน์

นางสาวสิริธิดากล่าวต่อว่า วัตถุประสงค์ของการจัดงานในปีนี้เพื่อส่งเสริมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจการเงินดิจิทัลและการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังการระบาดโควิด รวมทั้งทิศทางการนำเทคโนโลยีไปใช้พัฒนาประสิทธิภาพของการให้บริการทางเงินและของระบบการเงินอนาคต การเร่งให้เกิดการปรับตัวของภาคธุรกิจและภาครัฐเพื่อรับมือกับโลกดิจิทัลที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้อย่างเป็นรูปธรรม

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image