9เดือนขอลงทุนทะลุ5แสนล้านบาท บีโอไอโชว์ตัวเลขต่างชาติโตกว่า200%

บีโอไอเผย9เดือนขอลงทุนทะลุ5แสนล้านบาท ตัวเลขต่างชาติโตกว่า200% ขยายสิทธิประโยชน์เอสเอ็มอี

ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.ดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บอร์ดบีโอไอ) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม ได้รับทราบความคืบหน้าการลงทุนไทย โดยช่วง 9 เดือนแรก (มกราคม-กันยายน) ปี 2564 มีโครงการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุน 1,273 โครงการ เพิ่มขึ้น 23% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 เงินลงทุนรวม 520,680 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 140% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีมูลค่าสูงกว่าปี 2563 ทั้งปีซึ่งอยู่ที่ 432,000 ล้านบาท และสูงกว่ามูลค่าเฉลี่ยก่อนเกิดโควิดช่วงปี 2558 – 2562 ซึ่งอยู่ที่ 483,664 ล้านบาท โดยพบว่า กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายมีมูลค่าเงินลงทุน 269,730 ล้านบาท คิดเป็น 52% ของมูลค่าการขอรับส่งเสริมการลงทุนทั้งหมด ลงทุนเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์มากที่สุดเนื่องจากมีการย้ายฐานการผลิตและสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่เปลี่ยนกิจกรรมของคนทำงานในรูปแบบเวิร์กฟอร์มโฮม รองลงมาคือ การแพทย์ ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ การเกษตรและแปรรูปอาหาร และเทคโนโลยีชีวภาพ

“ที่น่าสนใจคือ มูลค่าขอรับการส่งเสริมจากต่างประเทศ หรือ เอฟดีไอ ช่วง 9 เดือนแรกปีนี้ 587 โครงการ เงินลงทุน 372,068 ล้านบาท มูลค่าเพิ่มขึ้น 220% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ประเทศที่มีมูลค่าลงทุนสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ญี่ปุ่น สหรัฐฯ และสิงคโปร์ แสดงให้เห็นว่า นักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติยังคงให้ความสนใจยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย”น.ส.ดวงใจกล่าว

บอร์ดบีโอไอยังพิจารณาเห็นชอบมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อการยกระดับไปสู่อินดัสทรี 4.0 เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการให้ลงทุนปรับเปลี่ยนเครื่องจักรเพื่อยกระดับสู่อุตสาหกรรม 4.0 ตามเกณฑ์ที่กำหนดในด้านต่างๆ อาทิ ระบบอัตโนมัติและการเชื่อมต่อระหว่างอุปกรณ์ การวิเคราะห์ข้อมูลและการปฏิบัติการที่ชาญฉลาด ให้ได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 3 ปี สัดส่วน 100% ของเงินลงทุนในการปรับปรุง ทั้งนี้ต้องเสนอแผนการลงทุนที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยยื่นขอรับการส่งเสริมภายในวันทำการสุดท้ายของปี 2565 และต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 3 ปี นับจากวันที่ออกบัตรส่งเสริม ทั้งนี้จากการสำรวจของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) พบว่า ภาคอุตสาหกรรมไทยกว่า 70% ยังอยู่ในระดับอุตสาหกรรม 2.0 หรือต่ำกว่า ระดับอุตสาหกรรม 3.0 มีเพียง 28% บีโอไอจึงเห็นความจำเป็นที่จะต้องมีมาตรการสนับสนุนการยกระดับดังกล่าว

นอกจากนี้ ยังอนุมัติขยายเวลามาตรการส่งเสริมการลงทุนสำหรับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) เป็นสิ้นสุดวันทำการสุดท้ายของปี 2565 จากเดิมมาตรการจะสิ้นสุดในวันทำการสุดท้ายของปี 2564 โดยมาตรการพิเศษจะกำหนดวงเงินยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็น 2 เท่าจากเกณฑ์ปกติ และผ่อนปรนเงื่อนไขต่างๆ รวมถึงการให้สิทธิและประโยชน์เพิ่มเติมตามคุณค่าของโครงการ เพื่อกระตุ้นให้เอสเอ็มอี พัฒนาศักยภาพด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ช่วยให้สามารถเติบโตและแข่งขันได้ ตลอดจนส่งเสริมเอสเอ็มอี ที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคและเขตเศรษฐกิจพิเศษด้วย

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image