ร้องเรียน ‘แข่งขันไม่เป็นธรรม’ พุ่ง เกือบครึ่งให้ตรวจสอบ ‘ค้าปลีก แฟรนไชส์ อีคอมเมิร์ซ’

ร้องเรียน ‘แข่งขันไม่เป็นธรรม’ พุ่ง เกือบครึ่งให้ตรวจสอบ ‘ค้าปลีก แฟรนไชส์ อีคอมเมิร์ซ’

นายสันติชัย สารถวัลย์แพศย์ กรรมการการแข่งขันทางการค้า และโฆษกคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า กล่าวถึงเรื่องร้องเรียนตั้งแต่พระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 5 ตุลาคม 2560 จนถึงปัจจุบัน (ก.ย. 2564) มีเรื่องร้องเรียนรวมทั้งสิ้น 97 เรื่อง โดยปี 2560รวม 2 เรื่อง ปี 2561 รวม 11 เรื่อง ปี 2562 รวม 20 เรื่อง ปี 2563 รวม 30 เรื่อง และปี 2564 รวม 36 เรื่องซึ่งจำแนกตามประเภทธุรกิจได้ทั้งหมด 19 ธุรกิจ เป็นธุรกิจประเภทพาณิชย์มีการร้องเรียนสูงสุดถึง 38 เรื่องส่วนใหญ่เป็นธุรกิจค้าปลีก แฟรนไชส์ และแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ หากจำแนกตามพฤติกรรมที่กระทำความผิดแบ่งเป็นการใช้อำนาจเหนือตลาดโดยมิชอบ (มาตรา 50) 13 เรื่อง การตกลงร่วมกันทางธุรกิจ (มาตรา 54) 6 เรื่องการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม (มาตรา 57) 66 เรื่อง และไม่เข้าข่ายพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้าพ.ศ. 2560 รวม 12 เรื่อง ซึ่งมีคดีสำคัญที่ กขค. พิจารณาว่ามีความผิดตามมาตรา 57 และดำเนินการลงโทษปรับทางปกครอง จำนวน 6 เรื่อง ได้แก่ กรณีไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการขนถ่ายสินค้าผ่านแดน กรณีกีดกันทางการค้าในธุรกิจผลผลิตการเกษตร กรณีการปฏิเสธไม่ให้เข้าร่วมแสดงและจำหน่ายอสังหาริมทรัพย์อย่างไม่เป็นธรรม กรณีไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการเป็นตันแทนจำหน่ายเครื่องมือและเครื่องจักรกลการเกษตร กรณีโรงคัดบรรจุผลไม้ปฏิบัติทางการค้าอย่างไม่เป็นธรรม กรณีผู้ให้บริการขนส่งพัสดุปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งโทษสูงสุดตามกฎหมายกำหนดไว้ต้องชำระค่าปรับในอัตราร้อยละ 10 ของรายได้ในปีที่กระทำความผิด

นายสันติชัยกล่าวว่า กขค. ได้จัดทำแนวปฏิบัติการค้าที่ไม่เป็นธรรม หรือเรียกสั้นๆ ว่าไกด์ไลน์ เพื่อสร้างความชัดเจนและให้มีมาตรฐานทางการค้าที่เป็นธรรมาภิบาลในการประกอบธุรกิจ โดยที่ผ่านมาได้จัดทำไกด์ไลน์ซี่งมีผลบังคับใช้แล้วจำนวน 4 ฉบับ ได้แก่ ไกด์ไลน์ธุรกิจค้าส่งค้าปลีก ไกด์ไลน์ธุรกิจแฟรนไชส์ ไกด์ไลน์ธุรกิจการรับซื้อผลไม้ ไกด์ไลน์ ฟู้ด เดลิเวอรี่ และมีอีก 1 ไกด์ไลน์ คือไกด์ไลน์การให้สินเชื่อการค้า (Credit Term) สำหรับ SMEs ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 16 ธันวาคม 2564 และในระหว่างนี้ให้ผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อม เพื่อปรับแนวทางการประกอบธุรกิจให้ถูกต้องตามที่ไกด์ไลน์กำหนด
กขค. มีความมุ่งมั่นและมุ่งเน้นให้การบังคับใช้กฎหมายการแข่งขันทางการค้าเกิดประสิทธิภาพ เพื่อให้ธุรกิจไม่ว่าจะเป็นขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ สามารถแข่งขันกันได้อย่างเสรีและเป็นธรรมโดยสร้างมาตรฐานทางการค้าให้เป็นสากลโดยไม่เลือกปฏิบัติ ท้ายที่สุดผลประโยชน์ก็จะตกอยู่กับประชาชนทั่วไปที่จะได้บริโภคสินค้า และบริการที่มีคุณภาพและราคาที่เหมาะสมต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image