คิดเห็นแชร์ : อัตราการฉีดวัคซีนช่วยหนุนตลาดหุ้น

บทความ “คิด เห็น แชร์” ฉบับนี้ ผมจะขอแชร์มุมมอง เรื่องอัตราการฉีดวัคซีนโควิด-19 ว่า นอกเหนือจากช่วยลดอัตราการป่วยหนักและอัตราการเสียชีวิตของประชาชนในแต่ละประเทศได้แล้ว ยังมีส่วนช่วยด้านเศรษฐกิจและตลาดทุนอีกด้วย อิงจากบทความทางวิชาการของ Rouatbi W., Demir E., Kizys R., Zaremba A., 2021, “Immunizing markets against the pandemic: COVID-19 vaccinations and stock volatility around the world”, International Review of Financial Analysis

ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2563 เป็นต้นมา ส่งผลให้ตลาดหุ้นทั่วโลกเกิดความผันผวน (Volatility) มากขึ้น ทั้งนี้ความผันผวนของตลาดหุ้น มีความสำคัญสำหรับการกำหนดกลยุทธ์การลงทุน เนื่องจากในเชิงทฤษฎีทางการเงินแล้ว ความผันผวนของตลาดหุ้นถือเป็นความเสี่ยงที่เป็นระบบ (Systematic risk) ที่มีผลต่อการตัดสินใจลงทุนของนักลงทุนซึ่งนำไปสู่การจัดสรรเงินลงทุน หรือ Asset allocation และ “ความเสี่ยง” นี้เองเป็นปัจจัยที่สำคัญในสูตรการคำนวณ Valuation หรือราคาหุ้น ตามทฤษฎี

อย่างไรก็ดี หลังจากที่เริ่มมีการพัฒนา ทดลอง วัคซีนชนิดต่างๆ ตลาดหุ้นทั่วโลกเริ่มมีการตอบสนองเชิงบวกต่อประเด็นดังกล่าว และล่าสุดผลการศึกษาในงานวิจัยของ Rouatbi et al, 2021 พบว่าอัตราการฉีดวัคซีนมีความสัมพันธ์เชิงลบกับความผันผวนของอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนในตลาดหุ้น กล่าวคือ หากมีอัตราการฉีดวัคซีนในประเทศเพิ่มขึ้น ความผันผวนของตลาดหุ้นประเทศนั้นๆ จะลดลงอย่างมีนัยสำคัญนั่นเอง อย่างไรก็ดี ผลการศึกษาเพิ่มเติมพบว่าความสัมพันธ์ดังกล่าวจะเห็นได้ชัดในตลาดพัฒนาแล้ว (อาทิ สหรัฐ, ยุโรป) มากกว่าตลาดเกิดใหม่ (อาทิ ตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชีย รวมถึงประเทศไทย) ซึ่งผมประเมินว่าสาเหตุที่ความสัมพันธ์ดังกล่าวเห็นได้ชัดเจนในตลาดพัฒนาแล้วมากกว่าเกิดใหม่ อาจมีสาเหตุมาจากการ กระจายวัคซีนให้ประชากรโลกในช่วงต้น จะเป็นการกระจุกตัวอยู่ในประเทศพัฒนาแล้วมากกว่าประเทศกำลังพัฒนา ผลการศึกษาที่ใช้ข้อมูลตั้งแต่เดือน ม.ค.2563-เม.ย.2564 ซึ่งในขณะนั้นประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศ (รวมถึงประเทศไทย) แทบจะยังไม่มีโอกาสเข้าถึงวัคซีนเท่าไหร่นัก

ในมุมของนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ ผมประเมินว่าอัตราการฉีดวัคซีนที่สูงขึ้นนั้นจะนำไปสู่การเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจในแต่ละประเทศแบบมีเสถียรภาพได้ ในทางกลับกันอัตราการฉีดวัคซีนที่ต่ำ จะทำให้นักลงทุนเกิดความกังวลต่อสถานการณ์ความไม่แน่นอนในอนาคต อาทิ ภาครัฐอาจตัดสินใจล็อกดาวน์เมื่อมีอัตราการติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่จะกระทบต่อผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียน นำไปสู่ความผันผวนในตลาดหุ้นนั่นเอง โดยสรุป หากอ้างอิงจากงานวิจัยของ Rouatbi et al, 2021 กรณีที่อัตราการฉีดวัคซีนของประเทศไทยเป็นไปตามแผนที่รัฐบาลวางเป้าหมายไว้คือ อัตราการฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม ในประเทศไทยจะไปถึงระดับ 70% ของจำนวนประชากรภายในสิ้นปีนี้ (จากปัจจุบันข้อมูลวันที่ 13 ต.ค. อัตราการฉีดวัคซีนเข็มแรกและเข็มที่สองเท่ากับ 51.4% และ 34.8% ตามลำดับ) น่าจะทำให้ตลาดหุ้นไทยมีความผันผวนลดลง และนำไปสู่เม็ดเงิน Fund flow ที่มีโอกาสจะไหลเข้าสู่ตลาดทุนไทยมากขึ้นนั่นเอง

Advertisement

กลับมาที่ภาพรวมการลงทุนในตลาดหุ้นไทย ผมยังคงมีมุมมองเชิงบวกต่อการลงทุนในระยะกลาง (3-6 เดือน) ต่อตลาดหุ้นไทย เนื่องจากสภาพคล่องในตลาดการเงินที่ยังสูงรวมถึงอัตราดอกเบี้ยที่ยังต่ำ ขณะที่แนวโน้มเศรษฐกิจไทยน่าจะเริ่มเข้าสู่โหมดของการฟื้นตัวตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 เป็นต้นไป ภายหลังการฉีดวัคซีนได้ตามเป้าหมายของรัฐบาลและการเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่เป็นเครื่องยนต์สำคัญของไทยซึ่งหยุดทำงานไปตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปี 2563 เป็นต้นมา

อย่างไรก็ดีในขณะนี้ความคาดหวังเรื่องการเปิดประเทศ ส่งผลให้มีการเข้าเก็งกำไรในธีมการลงทุนที่เรียกว่า Re-opening theme อย่างต่อเนื่อง จนทำให้หุ้นในธีมการลงทุนนี้บางตัวปรับขึ้นสู่ระดับที่ใกล้เคียงหรือสูงกว่าช่วงเวลาก่อนที่จะเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 แล้ว ดังนั้นนักลงทุนอาจจำเป็นต้องศึกษาข้อมูลและคัดกรองหุ้นเพื่อการลงทุนมากขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นหากกำไรของบริษัทจดทะเบียนนั้นๆ ไม่ฟื้นตัวตามที่คาดหวังไว้

สุโชติ ถิรวรรณรัตน์
ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ KGI

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image