สำรวจหอค้า5ภาค‘เคลียร์ให้ชัด’ ก่อนเปิดบ้าน…รับต่างชาติ1พ.ย.

สำรวจหอค้า5ภาค‘เคลียร์ให้ชัด’ ก่อนเปิดบ้าน...รับต่างชาติ1พ.ย.

วันที่ 1 พฤศจิกายนที่กำลังจะมาถึงนี้ รัฐบาลประกาศตัดริบบิ้นเปิดรับนักท่องเที่ยวและนักลงทุนต่างชาติบินตรงเข้าไทย แม้ในขณะนี้ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่และสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังขึ้นๆ ลงๆ อยู่ที่ระดับหมื่นรายต่อวัน บวกกับหลายความกังวลที่ยังเผชิญกันอยู่ โดยเฉพาะกำลังซื้อที่ฝืดเคือง แนวโน้มราคาน้ำมันยังสูงปัญหาน้ำท่วม และความไม่แน่นอนทางการเมือง ล้วนเป็นปัจจัยบั่นทอนความเชื่อมั่นของคนภายในประเทศ แต่การปิดประเทศนานร่วม 2 ปี ก็มีผลต่อระบบเศรษฐกิจอย่างหนัก เสียงเรียกร้องเปิดประเทศจึงดังก้องจนในที่สุดรัฐบาลต้องยอมผ่อนคลายมาตรการ ดังนั้น “มติชน” จึงได้สอบถามไปยังภาคธุรกิจผ่านประธานหอค้าไทย 5 ภาคว่ามีมุมมองต่อการเปิดประเทศอย่างไร

⦁‘เหนือ’พร้อมรับเปิดประเทศ
เริ่มจากภาคเหนือ สมบัติ ชินสุขเสริม ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคเหนือ เห็นว่าสำหรับความพร้อมในการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ตามนโยบายของรัฐบาลในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 จากนั้นตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม เริ่มเปิดให้ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้น ผู้ประกอบการภาคเหนือส่วนใหญ่มีความพร้อมและเห็นว่านโยบายดังกล่าวเป็นสิ่งที่ดีกับผู้ประกอบการ รวมถึงสอดคล้องกับโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ที่เริ่มเปิดให้มีการใช้สิทธิ เพื่อเป็นการกระตุ้นและส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศแล้ว

ขณะที่ปัญหาและอุปสรรคหลักๆ ที่ภาคธุรกิจยังกังวล คือ การขาดแคลนแรงงาน จากสถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้นส่งผลให้แรงงานกลับไปทำงานที่ภูมิลำเนามากขึ้น อีกทั้งมองว่าหากรัฐบาลจะใช้มาตรการแจกอย่างเดียวคงไม่ตอบโจทย์ ไม่ได้ช่วยสร้างความมั่นคงและยั่งยืนได้ จึงขอเสนอแนะว่าภาครัฐควรมีการสนับสนุนการสร้างงาน เพื่อให้เกิดรายได้มากขึ้น ซึ่งภาคเอกชนเองได้ผลักดันเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง อาทิ ภาคการเกษตร ถือเป็นจุดแข็งของทางภาคเหนือนอกจากเรื่องการท่องเที่ยว โดยมีการสนับสนุนตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เพื่อให้เกิดการค้าและการลงทุน การจ้างงานเพิ่มขึ้น

⦁‘กลาง’ชงเพิ่มมาตรการฟื้นฟู
สอดคล้องกับความเห็นของ ธวัชชัย เศรษฐจินดา ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคกลาง หอการค้าไทย ฉายภาพว่า ผู้ประกอบการภาคกลางมีความพร้อมแล้วจะรับมือการเปิดประเทศแล้ว เบื้องต้นทางหอการค้าภาคกลางได้ให้ความรู้กับผู้ประกอบการทั้งในส่วนของแนวทางและมาตรการการป้องกันโควิด-19 เพื่อรองรับการเปิดเมืองท่องเที่ยวจะนำร่อง 5 จังหวัด อยู่ในพื้นที่ภาคกลาง 2 จังหวัด ได้แก่ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี และ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์

Advertisement

ส่วนปัญหาอุปสรรคหลัก คือ การเข้าถึงวัคซีน แม้ภาคกลางจะได้รับการฉีดวัคซีนแล้วประมาณ 51% ของจำนวนประชากรในภาคกลางทั้งหมด แต่ยังไม่ถึงเป้า 70% ตามที่รัฐบาลตั้งเป้าหมายไว้ อยากให้รัฐบาลเร่งดำเนินการเรื่องนี้โดยเร็ว พร้อมกับรัฐต้องเตรียมมาตรการดูแลฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังจากเปิดเมือง เพราะเชื่อว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติไม่ได้กลับมาเร็วๆ นี้แน่นอน ดังนั้น กลุ่มที่จะสามารถหล่อเลี้ยงผู้ประกอบการได้ช่วงนี้ คือ นักท่องเที่ยวในประเทศ จากนี้รัฐต้องจัดแคมเปญ หรือออกมาตรการสนับสนุนคนไทยท่องเที่ยวเพิ่มจูงใจให้คนไทยใช้จ่ายปลายปีนี้

⦁‘อีสาน’จี้รัฐเติมสภาพคล่อง
ฟากความเห็นจาก สวาท ธีระรัตนนุกูลชัย ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเห็นว่า ภาวการณ์เช่นนี้ การเปิดประเทศเป็นเรื่องจำเป็น ปัจจุบันภาคธุรกิจมีความพร้อมแล้วและในหลายพื้นที่ได้เร่งรัดขอรับการจัดสรรวัคซีนจากรัฐ เพื่อเตรียมพร้อมรับกับการเปิดประเทศ ซึ่งวัคซีนยังเป็นปัจจัยสำคัญอยู่ เพราะเสียงตอบรับจากภาคเอกชนในพื้นที่ภาคอีสานตอนนี้มีความพร้อมที่จะเป็นแซนด์บ็อกซ์เกือบทุกพื้นที่แล้ว ยินดีปรับตัวทุกด้าน เพื่อให้ธุรกิจสามารถเดินหน้าต่อไป

ทั้งนี้ สิ่งที่ยังเป็นปัญหาอุปสรรคหลักของภาคอีสาน ยังเป็นเรื่องการเข้าถึงวัคซีนและการเข้าถึงแหล่งเงินทุน อยากให้รัฐเข้ามาช่วยต่อลมหายใจให้กับผู้ประกอบการโดยเฉพาะเอสเอ็มอี เพราะช่วงวันหยุดยาวที่กำลังมาถึงนี้กำลังซื้อในประเทศอาจช่วยเพิ่มเงินให้กับธุรกิจไม่ได้มาก อยากให้รัฐช่วยเหลือเรื่องสภาพคล่อง เพื่อให้ธุรกิจเดินหน้าได้ต่อนอกจากนี้ หอการค้าภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้เสนอต่อรัฐบาลให้ดึงชาวลาว เป็นหนึ่งในประเทศที่สามารถเดินทางเข้าไทยได้อีกด้วย เรื่องนี้กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณา หากสามารถทำได้ถือเป็นเรื่องที่ดีต่อภาคอีสาน เพราะชาวลาวมีกำลังซื้อ และเป็นตลาดนักท่องเที่ยวหลักที่ช่วยกระจายเม็ดเงินให้กับภาคอีสาน

Advertisement

⦁‘ใต้’แนะมีคำสั่งเดียวลดสับสน
ด้าน วัฒนา ธนาศักดิ์เจริญ ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคใต้ คาดการณ์ว่าในการเปิดประเทศในวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ มีความเป็นไปได้เนื่องจากในช่วงเดือนตุลาคม วัคซีนเริ่มทยอยเข้ามาในประเทศไทยแล้ว ทั้งนี้ เชื่อว่าภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์และสมุยพลัส จะเป็นโมเดลที่ดีให้กับพื้นที่นำร่องอื่นๆ ในการเปิดรับนักท่องเที่ยวได้แน่นอน

ส่วนอุปสรรคในการเปิดพื้นที่รับนักท่องเที่ยว คือจำนวนวัคซีนที่ยังมาไม่ครบจำนวนประชากร และความไม่ชัดเจนของภาครัฐทั้งส่วนกลางและหน่วยงานของจังหวัด เมื่อมีการออกข้อกำหนดในปฏิบัติจะมีบ้างเงื่อนไขเหลื่อมกันอยู่เล็กน้อย ซึ่งปัญหานี้ทำให้ผู้ประกอบการและนักท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศเกิดความสับสน หากเป็นไปได้อยากให้ทุกหน่วยงานประสานงานกัน และออกมาเป็นคำสั่งเดียว หรือระบุกฎระเบียบตามสีที่ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) กำหนดพื้นที่ไว้ เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติที่ชัดเจนและสอดคล้องกันต่อไป

⦁‘ตะวันออก’หนุนอัพสกิล-รีสกิลภาคบริการ
ด้าน ปรัชญา สมะลาภา ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคตะวันออก หอการค้าไทย ระบุว่า ผู้ประกอบการในพื้นที่ตะวันออกส่วนใหญ่อยากให้เปิดประเทศ และอยากกลับมาหารายได้อีกครั้ง แต่ยังกังวลเรื่องการเข้าถึงวัคซีน ปัจจุบันผู้ที่อาศัยอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ได้รับการฉีดวัคซีนเข็มแรกแล้วกว่า 60% โดยชลบุรีและฉะเชิงเทราที่รับการฉีดวัคซีนแล้ว 70% ส่วนเข็ม 2 อยู่ที่ 30% ส่วนนี้ต้องเร่งฉีดให้ได้อย่างน้อย 70% ก่อนรับนักลงทุนที่จ่อเข้ามาติดต่อเรื่องธุรกิจในไทย

การเปิดประเทศ คาดว่าจันทบุรีจะได้รับอานิสงส์ เพราะขึ้นชื่อเรื่องแหล่งอัญมณี และการเจียระไนพลอยจากต่างประเทศ เมื่อเกิดโควิด-19 ระบาด ธุรกิจต้องหยุดดำเนินการเกือบ 99% เพราะต้องเจรจาและดูสินค้ากันตัวต่อตัว ถ้าเปิดประเทศธุรกิจในจันทบุรีจะกลับมาฟื้นเร็วขึ้น

สำหรับอุปสรรคช่วงเปิดประเทศ กังวลว่าภาคธุรกิจที่กลับมาเปิดให้บริการอีกครั้ง จะสามารถกลับมาให้บริการได้ดีเหมือนที่ผ่านมาหรือไม่ เพราะช่วงโควิด-19 แรงงานภาคบริการย้ายกลับภูมิลำเนาไปทำอาชีพอื่นเยอะ บางรายอาจไม่กลับมาแล้ว มองว่าภาคบริการกว่าจะฝึกให้มีทักษะและมีใจรักในการรบริการทำได้ยาก ดังนั้น ตอนนี้ภาคบริการจึงควรรีสกิลและอัพสกิล เตรียมพร้อมก่อนเปิดรับนักท่องเที่ยวแท้จริง โดยรัฐควรมีส่วนช่วยสนับสนุนจัดทำโครงการและทำเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อให้ธุรกิจสามารถกลับมาเปิดบริการได้อย่างสมบูรณ์

จากความเห็นเบื้องต้นชี้ชัดในธุรกิจพร้อมเปิดประเทศแล้ว แม้ทางปฏิบัติมีหลายประเด็นที่กังวลแบบซ้ำซาก โดยเฉพาะการเข้าถึงวัคซีน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่!!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image