ครม.ไฟเขียว เลิก ขสมก.กำกับดูแลรถเมล์กรุงเทพฯ-ปริมณฑล ลดสถานะเป็นผู้เดินรถ ส่วนรถร่วมเอกชนต้องไปขอใบอนุญาต ขบ.แทน

นายสนิท พรหมวงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก(ขบ.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 27 กันยายน คณะรัฐมนตรี(ครม.)มีมติเห็นชอบยกเลิกมติ ครม. เดิมเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2526 ที่ระบุให้องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.)เป็นผู้ประกอบการเดินรถเพียงรายเดียว และรถร่วมบริการเอกชนจะต้องทำสัญญาเข้าร่วมเดินรถกับ ขสมก. โดยหลังจากที่มติ ครม. เดิมดังกล่าวยกเลิกไปแล้ว รถร่วม ขสมก.จะต้องมาขอใบอนุญาตกับกรมการขนส่งทางบก

ทั้งนี้การดำเนินการดังกล่าวจะทำให้เกิดความชัดเจนในบทบาทและแนวทางกำกับดูแลการเดินรถโดยสารในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยกำหนดให้กรมการขนส่งทางบกเป็นผู้กำกับดูแล (Regulator) แต่เพียงผู้เดียว และให้ ขสมก. เป็นเพียงผู้ประกอบการเดินรถ (Operator) รายหนึ่ง ซึ่งจะทำให้เกิดการแข่งขันด้านการให้บริการเดินรถประจำทางในกรุงเทพมหานครอย่างเป็นธรรม พร้อมกันนี้ ครม.ได้เห็นชอบในหลักการให้มีการปรับแก้กฎหมายเพื่อรองรับการถ่ายโอน ได้แก่ การแก้ไข พ.ร.บ.การขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 เกี่ยวกับอายุใบอนุญาตประกอบการขนส่ง, แก้ไขกฎกระทรวง เรื่องอัตราค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบการขนส่ง, แก้ไขกฎกระทรวง เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการในการออกใบอนุญาตประกอบการขนส่ง และจัดตั้งหน่วยงานใหม่เพื่อมารองรับการดำเนินการตามภารกิจดังกล่าว โดยจะดำเนินการตามแผนปฏิรูประบบรถโดยสารประจำทางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลควบคู่กันไปด้วย เพื่อไม่ให้ผู้ประกอบการและประชาชนได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลง แต่จะเกิดประโยชน์การแข่งขัน คุณภาพการให้บริการในระยะยาว เช่น กำหนดโครงข่ายเส้นทางใหม่ จัดสรรเส้นทางการเดินรถตามโครงข่ายใหม่ กำหนดเงื่อนไขขอรับใบอนุญาต การคัดเลือกผู้ประกอบการที่มีคุณภาพ จนกระทั่งสามารถออกใบอนุญาตประกอบการขนส่งใหม่

นายสนิท กล่าวว่า แผนปฏิรูประบบรถโดยสารประจำทางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลจะแก้ไขปัญหาการเดินรถโดยสารประจำทางในปัจจุบัน ที่มีเส้นทางทับซ้อนและไม่ครอบคลุม ให้สามารถตอบสนองความต้องการเดินทางของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ อาทิ คุณภาพของตัวรถ ความปลอดภัย ความสะดวกรวดเร็วในการให้บริการ และภาครัฐสามารถกำกับดูแลการให้บริการอย่างใกล้ชิดเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน นอกจากนี้แผนปฏิรูปฯดังกล่าวยังกำหนดแนวทางปรับปรุงเส้นทางการเดินรถใหม่ทั้งระบบ กำหนดต้นทางปลายทาง ออกแบบเส้นทางเดินรถซึ่งจะลดการทับซ้อนของเส้นทาง และปรับปรุงเส้นทางให้เชื่อมต่อกับระบบขนส่งมวลชนประเภทอื่นๆ เช่น โครงข่ายรถไฟฟ้า ระบบราง การสัญจรทางน้ำ ทางอากาศทั้งในปัจจุบันและอนาคต เป็นต้น ประชาชนได้รับความสะดวกรวดเร็วในการเดินทางด้วยระบบขนส่งมวลชน สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีคุณภาพการให้บริการที่ได้มาตรฐาน มีความปลอดภัยภายใต้การกำกับดูแลของภาครัฐ สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลและหันมาใช้ระบบขนส่งมวลชนแทน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image