สัมภาษณ์ : “รังสรรค์” ผู้บริหารปั๊มPTG สะท้อนราคาน้ำมัน…วอนรัฐแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง อะไรที่ไม่เป็นธรรมต้องพังสักวันหนึ่ง!!

สัมภาษณ์ : “รังสรรค์” ผู้บริหารปั๊มPTG สะท้อนราคาน้ำมัน…วอนรัฐแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง อะไรที่ไม่เป็นธรรมต้องพังสักวันหนึ่ง!!

นายรังสรรค์ พวงปราง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด(มหาชน) หรือ PTG ให้สัมภาษณ์มติชนถึงสถานการณ์ราคาน้ำมันหลังจากรัฐบาลประกาศตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร ว่า ปัจจุบันบริษัทพร้อมให้ความร่วมมือกับภาครัฐ เพียงแต่ต้องอยู่บนบรรทัดฐานที่อยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุขของทุกภาคส่วน ซึ่งปัจจุบันผู้ประกอบการสถานีบริการน้ำมัน(ปั๊ม) ก็มีภาระในเรื่องต้นทุนประกอบการด้านต่างๆ การดำเนินงาน การจ้างงาน ต้นทุนราคาน้ำมันที่ขึ้นมาก็ส่วนหนึ่ง

บริษัทพยายามแอบซอร์บในส่วนของค่าการตลาด ซึ่งการกำหนดไว้ที่ 1.40 บาทต่อลิตร เป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว เพราะปัจจุบันไม่ถึงอยู่แล้ว ต้องมาดูรายละเอียด ข้อเท็จจริงกัน อีกอย่างปัจจุบันค่ายน้ำมันมีต้นทุนต้องสต็อกน้ำมัน ต้องดูแล ขณะเดียวกันน้ำมันบ้านเราออกมาหลายโปรดักส์มาก จนบางครั้งต้องทิ้งถังโดยใช่เหตุ กลับไปกลับมา แบบนี้ภาคนักลงทุนจะมีความมั่นใจในนโยบายพลังงานของประเทศได้อย่างไร

สำหรับประเด็นราคาน้ำมันที่ทางกลุ่มรถบรรทุกต้องการนั้น เป็นความคิดของเขา โอเค แต่สุดท้ายก็ต้องดูร่วมกันทุกภาคส่วน จะดูแค่ส่วนใดส่วนหนึ่งไม่ได้ เราอยู่ในสังคม หากรัฐกำหนดให้ 25 บาทต่อลิตร ต้องดูว่าส่วนไหนจะกระทบจะเดือดร้อนบ้าง และจุดเหมาะสมอยู่ตรงจุดไหน หากราคาดังกล่าวจะช่วยไม่ให้ราคาสินค้าขยับขึ้นก็ต้องดูเป็นรายสินค้า แต่ต้องยอมรับว่าราคา 30 บาทต่อลิตรเองใช้มากี่สิบปีแล้ว เงินเฟ้อขยับไปเท่าไหร่แล้ว ปัจจุบันค่าแรงเพิ่มขึ้นไปกี่เปอร์เซ็นต์แล้ว หากดูที่ 30 บาทต่อลิตร อยากถามว่ารัฐบาลเอามาจากไหนตัวเลขนี้ ควรมีการศึกษามีคำตอบชัดเจนเดือนตุลาคมนี้ รายได้ของผู้ค้าน้ำมันน้อยมาก บางวันค่าตลาดติบลบด้วยซ้ำ กรอบค่าการตลาด 1.40 บาทต่อลิตรไม่ถึง ยังไม่นับต้นทุนอื่นของบริษัท ค่าดำเนินการ ค่าแรงงาน ค่าสต็อกน้ำมัน ค่าไฟฟ้า และอื่นๆอีก

Advertisement

ล่าสุดกรณีที่เตรียมกู้ 2 หมื่นล้านบาท ถามว่าเหมาะสมแล้วหรือที่ต้องกู้มาเพื่อให้รถยนต์เผา สร้างหนี้ให้ประชาชนทั้งประเทศ ในประเทศมีเรื่องเดือดร้อนอื่นตั้งเยอะ และถามว่าหากรถบรรทุกบอกให้ลดราคาในส่วนของภาษีสรรพสามิต5บาทต่อลิตร ก็ต้องมีคำตอบว่าแล้วรายได้ งบประมาณของรัฐที่หายไปจะทำอย่างไร หากจากไหนมาแทน เพราะทุกวันนี้รัฐเองก็ต้องแอบซอร์บปากท้องของประชาชนก็เยอะ ดังนั้นในภาพรวมควรถึงเวลาที่ต้องมาพิจารณาทุกภาคส่วน ตัวเลขราคาน้ำมันดีเซลที่เหมาะสมควรอยู่ตรงไหน

สำหรับผู้ค้าที่ผ่านมาถูกมองว่าขายน้ำมันแพง แต่ไม่ได้ดูว่าผู้ค้ามีภาระอะไรบ้าง อย่างพีทีจี ทุกวันนี้ต้องดูแลพนักงานเกือบ 2 หมื่นคน ดูแลชีวิตปากท้องคน ถ้าไม่ดูแลผู้ค้าเลยก็อาจต้องหั่นคนออก มาตรการต่อมาคือหยุดการลงทุน และรีดไขมัน การเซอร์วิสประชาชนก็จะน้อยลง เพื่อลดต้นทุน ซึ่งบริษัทน้ำมันต่างเสียภาษีเยอะ ทั้งแวตต่อเดือน ทั้งภาษีเงินได้นิติบุคคล ตรงนี้ภาครัฐเคยมาดูบ้างมั้ย แล้วบริษัทน้ำมันที่กำไรเยอะจริงๆมาจากตรงไหน เพราะถ้าเฉพาะน้ำมันไม่ได้เยอะเลย เราต้องหารายได้จากนอนออยล์

ล่าสุดเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม กลุ่มผู้ค้าน้ำมันได้หารือกับ นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน จึงได้สะท้อนปัญหา ผลกระทบต่างๆ ที่กำลังเผชิญ โดยผู้ค้าจะรับภาระค่าการตลาดให้ก่อนถึงสิ้นเดือนตุลาคมนี้ คงโพลิซีของรัฐให้มากที่สุด แต่คงไม่ถึงกับทำให้บริษัทเดือดร้อนกระทบพนักงาน โดยเดือนพฤศจิกายนคาดว่าจะมีการปรับราคาที่เหมาะสม โดยเฉพาะการค่าตลาด เพราะบริษัทเป็นมหาชนต้องดูแลทุกภาคส่วน อย่างบางบริษัทมีรัฐถือหุ้นแล้วปฏิบัติตามคำสั่งรัฐถือว่าเอาเปรียบผู้ถือหุ้นส่วนน้อยมั้ย ขอพูดในแง่ตลาดทุน

สำหรับมติกบง.ที่เริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน ที่กลับมาใช้โปรดักส์น้ำมันดีเซลเดิมนั้นบริษัทโอเค แต่สิ่งที่น่าห่วงคือ การกำหนดราคาส่วนต่างของแต่ละชนิดที่กำหนดว่า บี7 แพงกว่า บี10 แค่15สตางค์ต่อลิตร และบี7 แพงว่าบี20 แค่25 สตางค์ต่อลิตร ราคาแบบนี้ขอถามว่าแล้วใครจะเติมบี10 บี20เพราะทุกคนจะไปบี7กันหมด เรื่องนี้นอกจากให้ค่าการตลาดต่ำไม่พอยังไปเพิ่มต้นทุนให้ผู้ค้าอีก ต้นทุนในการคงน้ำมันในถังคือบี10 บี20 มีการสูญเสียในแต่ละวัน ถึงบอกว่าถ้าอย่างนั้นควรคุยให้เข้าใจทุกภาคส่วน หรือรัฐอาจช่วยบางส่วน ผู้ค้าพร้อมยินดีให้ความร่วมมือซึ่งการช่วยเหลือจากรัฐ สิ่งที่สำคัญคือ อยากเห็นการแก้ปัญหาในเชิงความยั่งยืนของประเทศ แต่การบริหารงานใน

ปัจจุบันเป็นแค่การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เป็นการปลูกฝังพฤติกรรมที่ผิดๆ และการสร้างการรับรู้ที่ผิดๆให้ประชาชน แล้วรัฐจะเอาเงินที่ไหนเป็นแสนล้านบาทมาพยุงราคาน้ำมันถ้าราคาน้ำมันไม่ลด ซึ่งเป็นไปไม่ได้ เราไม่ควรเล่นตามเกมของบางกลุ่ม ปัจจุบันไม่ได้แก้ปัญหาเชิงระบบ ระยะยาว แต่แก้ปัญหาแค่ให้ผ่านไป หวังข้างหน้าว่าราคาน้ำมันจะลดลง ถ้าโชคช่วยก็โอเค อยากเห็นทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมมือแก้ไขกันดีกว่า

ส่วนประเด็นการดูแลเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มด้วยการนำไบโอดีเซล หรือบี100 มาผสมในน้ำมันดีเซลนั้น อยากให้เป็นไปตามกลไกตลาด รัฐไม่ควรยุ่ง ไม่มีใครมีอำนาจเหนือตลาดมากเกินไป ระบบจะบริการกันเอง เล่นตามกลไก ราคาจะเข้าสู่ดุลยภาพ รัฐบาลประกาศจะสนับสนุนพลังงานสะอาด แต่กฎหมายกองทุนน้ำมันกลับกำหนดจะเลิกสนับสนุนน้ำมันชีวภาพ ไม่ช่วยเกษตรแล้ว แต่ถ้ารัฐบาลมีโพลิซีในการไดรฟ์ก็เชื่อว่ายังเดินต่อไปได้ เพียงแต่อาจใช้วิธีเก็บภาษีตัวที่ต้องการให้ลดเยอะขึ้น และสนับสนุนตัวที่ส่งเสริม รูปแบบนี้โอเค เพียงแต่อย่าไปบิดเบือนตลาด

ทั้งนี้ อยากให้เริ่มส่งสัญญาณก่อนว่าฉันจะไปทางนี้นะ พีอาร์ให้ประชาชนเข้าใจ มีความรู้ฉลาดขึ้น อย่าไปครอบเขา ต้องให้รู้ว่าถ้าใช้ตัวนี้จะเป็นยังไง ให้ประชาชนตัดสินใจ และยอมรับ อย่างปัจจุบันไบโอดีเซลราคาขึ้น ถ้าผสมกับน้ำมันดีเซลจะเป็นเท่านี้ ถ้าเราไม่สนับสนุนไบโอดีเซลกลุ่มนี้จะเดือดร้อน หากเกษตรกรเดือดร้อน รัฐบาลควรพัฒนาให้ผลผลิตสูงขึ้น ไปคิดด้านอื่น ไม่ใช่ปล่อยให้เทวดาเลี้ยงเกษตรกร แนะนำการปลูกอย่างถูกวิธี

ขณะที่ราคาสินค้าถ้าต้นทุนสูงขึ้นก็ควรปล่อยให้ปรับตามสภาวะการณ์ที่เป็นจริง ซึ่งประเทศต้องยอมรับได้แล้วว่าต้องผลิตสินค้าที่เป็นเชิงนวัตกรรม มีแวลูสูงขึ้น เพราะโลกเปลี่ยน จะผลิตแต่สินค้าราคาต่ำ แต่ค่าแรงไม่ต่ำก็ไม่ได้ แบบนี้ใครจะลงทุน นโยบายไม่ชัดเจนปรับไปปรับมาใครจะกล้าลงทุน

สุดท้ายอยากให้แก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง เพราะอะไรที่ไม่เป็นธรรมต้องพังสักวันหนึ่ง รัฐบาลต้องสอนเขา ไม่ใช่ปรนเปรอเขา อยากให้มองข้อเท็จจริงนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image