‘อาคม’ ร่วมถก รมว.คลังเอเปก เผยไอเอ็มเอฟคาดเศรษฐกิจโลกปี 64 โต 5.9%

‘อาคม’ ร่วมประชุม รมว.คลังเอเปก เผยไอเอ็มเอฟคาดเศรษฐกิจโลกปี 64 โต 5.9% แจงแนวทางนโยบายการคลังฟื้นเศรษฐิจไทยหลังโควิด-19

เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทย ได้เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปก (เอเปก เอฟเอ็มเอ็ม) ครั้งที่ 28 โดยมีการหารือที่สำคัญดังนี้ การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวจากภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นผลจากการดำเนินนโยบายเพื่อแก้ไขผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) และระดับการฉีดวัคซีนที่เพิ่มขึ้น โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) คาดว่าเศรษฐกิจโลกในปี 2564 จะขยายตัวที่ 5.9% อย่างไรก็ดี สำหรับภูมิภาคเอเปกนั้น ยังคงเผชิญกับความท้าทายทางเศรษฐกิจในหลายมิติ

นายพรชัยกล่าวว่า ในการประชุมครั้งนี้ได้หารือใน 2 ประเด็นหลัก ประกอบด้วย การรับมือกับโควิด-19 เพื่อการฟื้นตัวอย่างยั่งยืนและครอบคลุม ซึ่งนายอาคมได้แลกเปลี่ยข้อมูลว่ารัฐบาลได้มีการดำเนินการอย่างทันท่วงทีเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ควบคู่ไปกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจผ่านการใช้มาตรการการเงินการคลัง อาทิ โครงการให้เงินช่วยเหลือเยียวยา มาตรการให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ โครงการค้ำประกันสินเชื่อ มาตรการพักชำระหนี้

นายพรชัยกล่าวว่า นอกจากนี้ได้ชี้แจงถึงแนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจว่าประเทศไทยได้ให้ความสำคัญกับการรักษาความสมดุลระหว่างการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น และการปฏิรูปโครงสร้างของประเทศในระยะยาว ควบคู่กับการพัฒนาศักยภาพของเศรษฐกิจให้พึ่งพาตนเองได้มากยิ่งขึ้น รวมทั้งการผลักดันโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพเศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว อันจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย สำหรับในระยะปานกลางถึงระยะยาวนั้น การดำเนินนโยบายการคลังจะมีความท้าทายยิ่งขึ้นในการสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐานราก รวมถึงการปฏิรูปภาษีซึ่งจะมีส่วนช่วยสนับสนุนความยั่งยืนทางการคลังในระยะยาว

Advertisement

“การใช้นโยบายการคลังและการบริหารงบประมาณเพื่อรับมือกับความท้าทาย ที่ประชุมได้เน้นย้ำถึงบทบาทของการดำเนินนโยบายการคลังและการบริหารงบประมาณในการรับมือกับความท้าทายจากโควิด-19 เนื่องจากมีส่วนช่วยในการรักษาระดับการจ้างงาน รักษาระดับการบริโภค ส่งเสริมให้สามารถเข้าถึงบริการสาธารณะ และช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้ตระหนักถึงความสำคัญของความโปร่งใสทางการคลัง และด้านหนี้สาธารณะ ความมีประสิทธิภาพของการจัดสรรและใช้จ่ายงบประมาณและความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ควบคู่กับการฟื้นฟูเศรษฐกิจและเสริมสร้างเสถียรภาพทางการคลังอย่างยั่งยืน” นายพรชัยกล่าว

อนึ่ง นายอาคมได้เน้นย้ำว่า ประเทศไทยในช่วงก่อนที่จะเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ภาคการคลังของไทยมีความเข้มแข็ง มั่นคง และมีเสถียรภาพ ระดับหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ หรือจีดีพี อยู่ในระดับที่สามารถรองรับการดำเนินนโยบายการคลังในภาวะวิกฤตได้ สำหรับภาคการคลังของไทยในปัจจุบันยังมีความมั่นคงและมีเสถียรภาพ โดยรัฐบาลยังมีสภาพคล่องเพียงพอต่อการดำเนินนโยบายต่างๆ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดระลอกใหม่ได้ผ่านหลัก 3Rs ประกอบด้วย 1.Reform หรือการปฏิรูปการจัดเก็บรายได้ 2.Reshape หรือการปรับเปลี่ยนการจัดสรรงบประมาณ และ 3.Resilience หรือการบริหารหนี้สาธารณะอย่างมีภูมิคุ้มกันและสามารถรองรับต่อเหตุการณ์ไม่คาดคิดต่างๆ ได้

Advertisement

นอกจากนี้ ประเทศไทยได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมเพื่อสนับสนุนให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืนควบคู่กันผ่านการสนับสนุนโครงการต่างๆ ที่ใช้พลังงานสะอาดให้มากขึ้น ในส่วนของกระทรวงการคลังได้มีการใช้มาตรการภาษีและการคลังเพื่อร่วมผลักดันการก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ รวมถึงการออกพันธบัตรเพื่อความยั่งยืน

ทั้งนี้ นายอาคมได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่าประเทศไทยจะเปิดประเทศสำหรับนักท่องเที่ยวในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 และแจ้งกำหนดการประชุมภายใต้กรอบ APEC FMP ในปี 2565 ดังนี้ 1) การประชุมระดับปลัดกระทรวงการคลังและรองผู้ว่าการธนาคารกลางเอเปก (APEC Finance and Central Bank Deputies’ Meeting : APEC FCBDM) มีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 16-17 มีนาคม 2565 2) การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสกระทรวงการคลังเอเปก (APEC Finance Senior Officials’Meeting : SFOM) มีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 23-24 มิถุนายน 2565 และ 3) การประชุม APEC FMM มีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 19-21 ตุลาคม 2565พร้อมทั้งหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการประชุมภายใต้กรอบ APEC FMP ในปีหน้าจะได้รับการสนับสนุนจากสมาชิกเอเปกและองค์กรระหว่างประเทศในการดำเนินงานร่วมกันเพื่อขับเคลื่อนภูมิภาคเอเปกให้มุ่งสู่การเจริญเติบโตที่เข้มแข็ง สมดุล มั่นคง ยั่งยืน และครอบคลุมต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image