แนะรัฐเร่งผ่อนเกณฑ์เร่งเอกชนลงทุน

ที่โรงแรมคอนราด กรุงเทพฯ นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวภายหลังปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “Thailand Agenda 2030 : วิสัยทัศน์การพัฒนาใหม่สู่ประเทศไทยที่ยั่งยืน” ว่าการเพิ่มอัตราการบริโภคในประเทศไทยให้เพิ่มขึ้น จำเป็นต้องดำเนินการใน 2 เรื่องคือ 1.สร้างความมั่นใจด้านรายได้ให้กับประชาชน 2.ส่งเสริมให้ภาคธุรกิจมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น และต้องเร่งแก้ไขกฎเกณฑ์ และกฎหมายให้ทันต่อสถานการณ์ เช่น การออกกฎเกณฑ์ที่สามารถรองรับกับธุรกิจใหม่ที่เกิดขึ้น ส่วนการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 360 บาท จะมีผลต่ออัตราเงินเฟ้อให้สูงขึ้น แต่จะช่วยกระตุ้นการบริโภคให้สูงขึ้นตามหรือไม่นั้นต้องติดตามผลในระยะยาว ส่วนเรื่องการส่งออกก็ต้องดูระยะยาวด้วยเช่นกัน เพราะเศรษฐกิจของต่างประเทศยังมีความแตกต่างกัน ส่วนการที่ธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) ปรับตัวเลขจีดีพีประเทศไทยในปี 2559 เป็น 3.2% จากเดิม 3.0% นั้นเป็นไปในทิศทางเดียวกับ ธปท. ที่ปรับขึ้นจาก 3.1% เป็น 3.2%

นายวิรไทกล่าวว่า ภายใต้สภาวะที่ระบบเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก การดูแลให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ต่อเนื่องในระยะสั้นๆ เป็นสิ่งที่จำเป็น แต่ต้องระมัดระวังไม่ให้ปัญหาเฉพาะหน้ามาบดบังเรื่องสำคัญในระยะยาว ในช่วงที่ผ่านมาได้แสดงให้เห็นว่าการให้น้ำหนักกับการใช้ทรัพยากรเพื่อแก้ปัญหาในระยะสั้นมากเกินควร อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงไม่พึงประสงค์ที่จะอยู่กับไทยอีกนาน และส่งผลให้ปัญหาระยะยาวไม่ได้รับการแก้ไขอย่างที่ควร ตัวเลขเศรษฐกิจที่ควรให้ความสำคัญจึงไม่ใช่แค่การเติบโตของจีดีพีในปีนี้หรือปีหน้า แต่ต้องมองไปถึงอัตราการขยายตัวตามศักยภาพของระบบเศรษฐกิจในระยะปานกลางถึงระยะยาวด้วย

“เราต้องยอมรับความจริงว่า ระบบเศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญกับกับดักเชิงโครงสร้างในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นระดับความสามารถทางเทคโนโลยีทั้งในภาคอุตสาหกรรม เกษตร และบริการ กรอบ กฎเกณฑ์กติกาที่อาจจะไม่ทันต่อสถานการณ์ปัจจุบัน ไม่เอื้อต่อการทำธุรกิจยุคใหม่การขาดประสิทธิภาพของระบบราชการ และที่สำคัญคือโครงสร้างของประชากรไทยที่ส่งผลให้เกิดข้อจำกัดด้านแรงงาน เราจะมีจำนวนประชากรทรงตัวในอีก 15 ปีข้างหน้าเทียบกับปัจจุบันและหลังจากนั้นจะปรับลดลง สัดส่วนประชากรผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 16 ในปัจจุบัน เป็นร้อยละ 27 ในอีก 15 ปีข้างหน้า กล่าวคือในปี 2030 ไทยจะมีจำนวนคนเท่าเดิม แต่ทุกๆ ประชากร 4 คนของเรา ประกอบไปด้วยผู้สูงอายุ 1 คน โครงสร้างทางประชากรเช่นนี้จะสร้างปัญหาอีกหลายด้าน ไปจนถึงระบบการเมืองที่ผู้สูงอายุจะเป็นกลุ่มฐานเสียงสำคัญรัฐบาลและพรรคการเมืองจะให้ความสำคัญกับการดูแลผู้สูงอายุ มากกว่าการขับเคลื่อนนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจไปข้างหน้า เหมือนกับที่หลายประเทศอุตสาหกรรมหลักกำลังติดกับดักอยู่ในเวลานี้” นายวิรไทกล่าว

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ประธานกรรมการบริหาร สถาบันอนาคตไทยศึกษา กล่าวว่า การสนับสนุนให้เกิดสตาร์ตอัพ จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนความคิดและกฎเกณฑ์บางประการในสังคมไทย เพราะธุรกิจสตาร์ตอัพมีความเสี่ยงสูง แต่สังคมไทยและตำแหน่งงานบางอย่างไม่เปิดโอกาสให้คนที่เคยทำธุรกิจล้มละลายกลับเข้ามาทำงาน ทั้งที่การล้มละลายบางครั้งมาจากความผิดพลาด ไม่ได้มาจากการกระทำผิด อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวต้องการเห็นภาครัฐจัดตั้งหน่วยงานที่เป็นเจ้าภาพในการดูแลเรื่องความเสี่ยงของประเทศ ทั้งนี้ ในภาคการเงินของไทยถือว่าความเสี่ยงยังอยู่ในระดับต่ำ แต่ความเสี่ยงหนึ่งที่ยังมีอยู่คือการลงทุนภาคเอกชนอยู่ในระดับต่ำ ทำให้การเติบโตของประเทศทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร ซึ่งกรณีที่เอกชนไม่เร่งลงทุนด้านนวัตกรรม หรือภาคการผลิตจะทำให้เศรษฐกิจไทยในอนาคตโตได้เพียง 3% เท่านั้น

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image