กรมชลฯ เผยส่วนหน้าฯท่าจีน จัดจราจรน้ำลดผลกระทบน้ำล้นตลิ่งในแม่น้ำท่าจีน

กรมชลฯ เผยส่วนหน้าฯท่าจีน จัดจราจรน้ำลดผลกระทบน้ำล้นตลิ่งในแม่น้ำท่าจีน

นายพงศธร ศิริอ่อน ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิศวกรรมโยธา (ด้านสำรวจและหรือออกแบบ) กรมชลประทาน ในฐานะประธานคณะทำงานศูนย์บริหารจัดการอุทกภัยลุ่มน้ำท่าจีน (ส่วนหน้า) เปิดเผยว่า ฝนที่ตกหนักในพื้นที่ลุ่มน้ำท่าจีนทำให้เกิดน้ำท่าไหลหลากลงสู่แม่น้ำท่าจีน ส่งผลให้มีน้ำเอ่อล้นตลิ่งในบางช่วงที่ไหลผ่านบริเวณ อ.เมือง อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี และ อ.นครชัยศรี อ.สามพราน จ.นครปฐม มีน้ำท่วมขังในพื้นที่เศรษฐกิจบางแห่ง เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น กรมชลประทานได้ใช้ระบบชลประทานทั้ง 2 ฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา ช่วยลดปริมาณน้ำที่จะไหลลงสู่แม่น้ำท่าจีน ดังนี้ ลดการรับน้ำผ่านประตูระบายน้ำ (ปตร.) พลเทพ (ปากแม่น้ำท่าจีน) จากอัตรา 100 ลูกบาศก์เมตร​ (ลบ.ม.)​/วินาที เหลือ 60 ลบ.ม./วินาที และจะทยอยลดลงตามลำดับ

นายพงศธรกล่าวอีกว่า พร้อมกันนี้ได้ใช้คลองชลประทานฝั่งตะวันตกรับน้ำเพิ่มมากขึ้น ได้แก่ คลองมะขามเฒ่า-อู่ทอง (คลอง มอ.) จากอัตรา 15 ลบ.ม./วินาที เป็น 25 ลบ.ม./วินาที และคลองมะขามเฒ่า-กระเสียว (คลอง มก.) จากอัตรา 8 ลบ.ม./วินาที เป็น 12 ลบ.ม./วินาที ด้านฝั่งตะวันออก เพิ่มการรับน้ำเข้าคลองชัยนาท-ป่าสัก ผ่าน ปตร.มโนรมย์ จากอัตรา 120 ลบ.ม./วินาที เป็น 140 ลบ.ม./วินาที คลองชัยนาท-อยุธยา รับน้ำผ่าน ปตร.มหาราช จากอัตรา 31 ลบ.ม./วินาที เป็น 35 ลบ.ม./วินาที นอกจากนี้ยังได้ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำในแม่น้ำท่าจีนตามจุดต่างๆ เพื่อเร่งระบายน้ำออกสู่ทะเลให้เร็วที่สุดแล้วตามข้อสั่งการของนายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน

Advertisement

นายพงศธรกล่าวอีกว่า ด้านสถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ปริมาณน้ำที่ไหลผ่าน จ.นครสวรรค์ ลดลงอย่างต่อเนื่องเป็นวันที่ 4 แล้ว โดยเช้าวันนี้ (23 ต.ค.64) ที่สถานี C.2 อ.เมืองนครสวรรค์ ปริมาณน้ำไหลผ่านลดลงเหลือ 2,592 ลบ.ม./วินาที ในขณะที่แม่น้ำสะแกกรังลดลงเช่นกัน ทำให้ปริมาณที่ไหลลงสู่บริเวณเหนือเขื่อนเจ้าพระยาลดลงตามลำดับ ซึ่งจะส่งผลให้น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาและท่าจีนทยอยลดลงในระยะต่อไป

นายพงศธรกล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม ฝนที่ตกหนักในพื้นที่ภาคกลางในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้มีน้ำท่าไหลหลากลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำท่าจีนในปริมาณมาก ส่งผลให้ยังคงมีน้ำเอ่อล้นตลิ่งในที่ลุ่มต่ำเป็นแห่งๆ กรมชลประทานได้ใช้ระบบชลประทานในพื้นที่ตอนล่างทั้ง 2 ฝั่งเร่งระบายน้ำออกสู่ทะเลให้เร็วที่สุด ไม่ว่าจะเป็นฝั่งตะวันออกที่มีการระบายน้ำผ่านคลองแนวตั้งต่างๆ ลงสู่ทะเล ส่วนหนึ่งจะผันระบายออกไปทางแม่น้ำนครนายกและแม่น้ำบางปะกง ส่วนด้านฝั่งตะวันตกจะใช้คลองระบายน้ำต่างๆ ในการเร่งระบายน้ำออกสู่ทะเลเช่นกัน

นายพงศธรกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ในแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างยังได้ใช้ ปตร.คลองลัดโพธิ์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เร่งระบายน้ำในช่วงน้ำทะเลลงอีกด้วย การดำเนินการทั้งหมดจะช่วยบรรเทาและลดผลกระทบต่อประชาชน ทั้งในส่วนของแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำท่าจีน

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image