ผู้เขียน | อาร์ม สามย่าน : [email protected] |
---|
1.แบตเตอรี่ดี
ORA Good Cat ทำตลาดเมืองไทย 3 รุ่น ประกอบด้วยรุ่นล่างสุดคือ 400 TECH จากนั้นก็เป็น 400 PRO และ รุ่น 500 ULTRA สามรุ่นนี้ราคาจะแตกต่างกัน แต่ถ้าพูดกันตรงๆเรื่องหัวใจของรถประเภทนี้มันคือเรื่องแบตเตอรี่ ORA Good Cat จะมีให้เลือก 2 ตัวเลือก คือแบบวิ่งได้ 400 กม. และ 500 กม.
รุ่น 400 TECH และ 400 PRO จะใช้ แบตเตอรี่ชนิดลิเธียมไอออนฟอสเฟต (LFP) ความจุ 47.788 kWh เคลมไว้ว่า มีระยะทางวิ่งสูงสุด 400 กิโลเมตร อยู่ใน แบตเตอรี่ชนิดลิเธียม Ternary (NMC) ความจุ 63.139 kWh เคลมไว้ว่า ระยะทางวิ่งสูงสุด 500 กิโลเมตร ในรุ่น 500 ULTRA รองรับการชาร์จแบบเร็วด้วยไฟกระแสตรง (DC) สูงสุด 60 kW และการชาร์จไฟบ้านแบบ AC 6.6 kW ระยะเวลาในการชาร์จ
ชาร์จแบบเร็วด้วยไฟฟ้ากระแสตรง DC (0% – 80%) 45 นาที สำหรับรุ่น 400 และ 60 นาที สำหรับรุ่น 500 ชาร์จแบบเร็วด้วยไฟฟ้ากระแสตรง DC (30% – 80%) 32 นาที สำหรับรุ่น 400 และ 40 นาที สำหรับรุ่น 500 ชาร์จด้วยไฟบ้านแบบ AC 8 ชั่วโมง สำหรับรุ่น 400 และ 10 ชั่วโมง สำหรับรุ่น 500
แบตเตอรี่สามารถใช้งานขับขี่ได้ในสภาพแวดล้อมอุณหภูมิ -30°C – 55°C ชาร์จไฟได้ในสภาพแวดล้อมอุณหภูมิ -20°C – 55°C ทำงานได้อย่างเป็นปกติในช่วงความกดอากาศ -150 ถึง 5,000 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง และภายใต้สภาวะความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศ 2 – 98% ได้มาตรฐาน IPX9K และ IP67 ซึ่งสามารถป้องกันน้ำ การกัดกร่อน การชน อัคคีภัย และการกระแทกได้ โดยเมื่อเกิดการกระแทกระบบไฟฟ้าจะตัดการทำงานภายใน 0.1 วินาที เซลล์แบตเตอรี่ถูกห่อหุ้มด้วยกล่องที่มีความแข็งแรงในระดับ 3 มิติ พร้อมมีการควบคุมอุณหภูมิและระบบระบายความร้อน
ข้อมูลทั้งหมดนี้มาจากข้อมูลในสเปคของรถ ที่ทาง Great Wall Motor แจกมา สิ่งที่เกิดขึ้นจริงจากการทดลองขับขี่ ระยะทางสั้นๆ จากเมืองทองธานี ไปยังจังหวัดฉะเชิงเทรา ในวันที่ถนนเปียกฝนตก การจราจรติดขัดบ้าง วิ่งได้สะดวกบ้าง ระยะทางจาก google map วัดได้ 71 กิโลเมตร
ตอนออกจากเมืองทองฯ ผู้เขียนขับรุ่น 400 Pro แบตเตอรี่ตัวเลขเหลือให้วิ่งได้ 395 กิโลเมตร เมื่อไปถึงจังหวัดฉะเชิงเทรา ตัวเลขแบตเตอรี่ลดลงไปเหลือ 330 กิโลเมตร นั่นแปลว่าแบตเตอรี่ก็เชื่อถือได้ระดับหนึ่ง ในกรณีการขับไม่ได้ผิดปกติมาก มีเหยียบคันเร่งแซงบ้าง มีการจราจรติดขัดบ้าง โดยใช้โหมดการขับขี่แบบปกติ
มีระบบตรวจสอบสถานะปริมาณแบตเตอรี่ไฟฟ้าผ่านมือถือได้ แบตเตอรี่ของรถรับประกัน 8 ปี
2.Balance ของรถดี
เริ่มจาก มิติตัวรถ ORA Good Cat 1,825 x 4,235 x 1,596 มม. (กว้าง x ยาว x สูง) ระยะฐานล้อ 2,650 มม. ยาวที่สุดในระดับเดียวกัน
ระบบช่วงล่างด้านหน้าแบบอิสระแมคเฟอร์สันสตรัท (MacPherson Strut) พร้อมเหล็กกันโคลง ระบบช่วงล่างด้านหลังแบบทอร์ชันบีม (Torsion Beam) พร้อมเหล็กกันโคลง
โครงสร้างของรถ เรียกว่า GWM LEMON E PLATFORM หรือที่เขาใช้คำว่าแพลตฟอร์มโมดูล่าร์อัจฉริยะ ปรับเปลี่ยนและรองรับเครื่องยนต์ได้หลากหลายรูปแบบ ถูกปรับเพื่อสำหรับใช้งานกับรถไฟฟ้า (BEV) โดยเฉพาะ มีน้ำหนักเบา แพลตฟอร์มผ่านการขับทดสอบบนถนนลูกรังกว่า 7,000 กิโลเมตร และมีการทดสอบในสภาวะแวดล้อมแบบสุดขั้วอีก 30,000 กิโลเมตร
ทั้งนี้ต้องบอกก่อนว่าทางผู้ผลิตรถ ไม่ได้ระบุว่ารถคันนี้ มีน้ำหนักเท่าไหร่ แต่มีการประเมินของสื่อมวลชนสายยานยนต์ไทยและต่างประเทศ ว่าน่าจะมากกว่า 1.5 ตัน สิ่งสำคัญที่ช่วยให้ Balance ของรถดี เพราะแบตเตอรี่ของรถที่จัดวางอยู่ในตำแหน่งด้านล่าง จึงมีส่วนสำคัญในการช่วยเรื่องดุลน้ำหนักของรถ ประกอบกับสเปคของยาง เป็น ล้ออัลลอยดีไซน์สปอร์ต ขนาด 18 นิ้ว มีหน้ายางที่ค่อนข้างกว้าง ก็ช่วยให้การเปลี่ยนเลนในความเร็วมากขึ้นมีความนิ่งขึ้น เพิ่มความมั่นใจให้ผู้ขับขี่นั่นเอง
3.ดีไซน์เป็นเอกลักษณ์
ORA Good Cat ถูกออกแบบ ภายใต้คอนเซ็ปต์ Retro Futuristic ให้ดูมีความคลาสสิกผสมสมัยใหม่ ไฟหน้า แบบ LED รูปทรง Cat Eye พร้อม Daytime Running Light และไฟส่องสว่างหลังดับเครื่องยนต์ Follow Me Home ไฟท้าย LED Tail light Strip ดีไซน์พาดยาวซ้ายจรดขวา แปลกตา ดูสมัยใหม่ดี พร้อมไฟเบรกดวงที่สามและไฟตัดหมอกหลังแบบ LED กระจังหน้าในดีไซน์คลาสสิกพร้อมระบบ Active Air Intake ล้ออัลลอยดีไซน์สปอร์ต : ขนาด 18 นิ้ว สำหรับรุ่น PRO และ ULTRA ขนาด 17 นิ้ว สำหรับรุ่น TECH
ความรู้สึกของผู้เขียนมองว่ามีความน่ารักดี แหวกออกจากปรัชญาทุนนิยมจีน ไม่ได้จับจุดเด่นใครมาผสม แต่ชูอัตลักษณ์ใหม่ ใช้แมวเป็นภาพจำ ใช้แมว สัตว์เลี้ยงแสนรักของชาวไทยและชาวโลกมาเป็นชื่อรุ่นเลยทีเดียว แปลว่า เป้าหมายทางการตลาดของรถคันนี้ก็ค่อนข้างกว้าง ท้าทายให้เด็กรุ่นใหม่ นักศึกษามหา’ลัย กล้าที่จะซื้อและใช้รถไฟฟ้ามากขึ้น ขณะเดียวกันดีไซน์แบบนี้ ก็เป็นมิตรกับคนที่มีอายุเพิ่มขึ้นมาหน่อย มองดูแล้วก็ไม่ได้หวือหวารูปทรงสไตล์สปอร์ตแหลมคมล้ำสมัยอะไรมาก ออกไปในแนวน่ารัก กลางๆ รูปทรงไฟหน้าเป็นเอกลักษณ์คล้ายกับปอร์เช่รุ่น 911 เวลาขับขี่บนถนนแล้วมองรถคันนี้จากกระจกหลังให้ความเป็นมิตร เตะตาพอสมควร Design ไฟเลี้ยวและไฟ DayTime Running Light ก็สวยงามทันสมัย
4.ภายในดีระดับหนึ่ง
ถ้าคาดหวังว่ารถคันนี้จะใช้วัสดุภายในหรูหราแบบรถยุโรป ก็คงไม่ถึงขั้นนั้น แต่ถ้าภาพรวม หากเราจะนึกถึงรถยนต์จากค่ายญี่ปุ่นที่คนไทยนิยมใช้โดยทั่วไป ขอใช้คำว่า วัสดุภายใน เข้าไปแล้วรู้สึกใกล้เคียงกันโดยภาพรวม ถ้าชอบเรื่องดีไซน์ภายใน ต้องยอมรับว่าค่อนข้างดี ส่วนในเรื่องวัสดุอยู่ในขั้นที่ใช้งานได้
ภายในห้องโดยสารให้สัมผัสที่สบาย หลายจุดพยายามบุนุ่ม เพื่อพยายามเพิ่มการให้สัมผัสที่นุ่มนวลกับผู้ขับขี่และผู้โดยสาร ช่วยให้ความรู้สึกสบาย มีความยืดหยุ่นสูง
หน้าจอ Interactive Double Screen พาดยาวบริเวณคอนโซลของตัวรถมีขนาด 17.25 นิ้ว มีความละเอียดสูง แบ่งออกเป็น หน้าจอแสดงผลการขับขี่แบบดิจิตอล (Full TFT) ขนาด 7 นิ้ว และหน้าจอระบบมัลติมิเดียพร้อมระบบสัมผัส ขนาด 10.25 นิ้ว เรื่องความละเอียดของหน้าจอต้องชมจริงๆ มีเรื่องเดียวคือระบบสัมผัสค่อนข้างช้า กดแล้วบางทีค่อยๆไป บางทีต้องกดย้ำ ลำโพงรอบทิศทาง จำนวน 6 ตัว คุณภาพเสียงแม้ไม่ได้อยู่ในระดับพรีเมี่ยม แต่ก็อยู่ในเกณฑ์ที่ดี รับได้
ระบบความบันเทิงแบบมัลติมีเดีย รองรับ Apple CarPlay และ Siri รองรับ Android Auto และ Google Assistant มีระบบนำทาง รองรับแอปพลิเคชั่นเพลง เช่น JOOX ซึ่งต่างๆเหล่านี้ ผู้เขียนยอมรับว่าไม่ได้เล่นเต็มที่ด้วยเวลาจำกัด
5.มีระบบซอฟแวร์รองรับที่ดี
การอัปเกรดเฟิร์มแวร์ผ่านระบบออนไลน์อัจฉริยะ (FOTA) ระบบดังกล่าวมาพร้อมกับความสามารถในการอัปเกรดเฟิร์มแวร์สำหรับการควบคุมระบบขับเคลื่อน ระบบส่งกำลัง ระบบการขับขี่อัจฉริยะต่างๆ รวมถึงระบบ Infotainment และระบบควบคุมอื่นๆ ภายในรถยนต์ได้อย่างง่ายดายผ่านระบบออนไลน์อัจฉริยะ (FOTA)
ตรงนี้คือเรื่องที่ดีและเป็นรากฐานของระบบรถสมัยใหม่ที่สำคัญ ผู้ผลิตรถเล่าให้ฟังว่าในอนาคตอาจจะเพิ่มฟังก์ชันซอฟต์แวร์ใหม่ๆเข้ามาในตัวรถผ่านการอัพเดทเฟิร์มแวร์ดังกล่าวได้ เช่นคำสั่งให้กล้องหน้ารถเปลี่ยนเป็นกล้องบันทึกภาพตลอดเวลาที่ขับขี่เป็นต้น หรือการอัพเดทเพิ่มฟังก์ชันให้กล้องรอบคันเป็นกล้องวงจรปิดที่เราสามารถเปิดดูผ่านมือถือได้ แล้วเตือนให้มีเสียงดังได้เมื่อเรามองดูแล้วเห็นว่าอาจจะมีคนมาทำไม่ดีกับรถเป็นต้น
ระบบ GWM Application เป็นการเชื่อมต่อโครงข่ายระยะไกล ช่วยให้สามารถควบคุมการเปิด-ปิดการชาร์จ เครื่องปรับอากาศ ปิดหน้าต่าง ได้จากระยะไกล และสามารถดูสถานะของรถรถได้
ทางGWM เราว่าเขาพัฒนาเรื่องคำสั่งเสียง โดยการตอบโต้ด้วยเสียงผ่านระบบปัญญาประดิษฐ์ จะมีความสามารถในการจดจำเสียงได้ เขาหวังที่จะช่วยลดการใช้งานจากการกดปุ่ม เพิ่มความสะดวกสบายให้แก่ผู้ขับขี่และลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ ผู้ขับขี่สามารถสั่งการและโต้ตอบด้วยเสียงเพื่อใช้งานฟังก์ชันต่างๆ รวมไปถึงการเข้าถึงระบบเอ็นเตอร์เทนเมนท์ภายในรถ
ยังมีฟังก์ชันการเข้าถึงข้อมูลแบตเตอรี่รถไฟฟ้า เช่น ระบบตรวจสอบสถานะปริมาณแบตเตอรี่ ระบบตรวจสอบสถานะการชาร์จแบตเตอรี่ ระบบตรวจสอบระยะทางวิ่งคงเหลือ ระบบช่วยเตือนเมื่อแบตเตอรี่มีปริมาณต่ำ ระบบช่วยเตือนเมื่อแบตเตอรี่มีความร้อนสูง และการค้นหา POI
ฟังก์ชันการใช้งานที่สามารถสั่งการและควบคุมได้จากระยะไกล เช่น การควบคุมระบบปรับอากาศ
การล็อคและปลดล็อคประตู การค้นหารถยนต์ และสามารถสั่งการปิดหน้าต่าง ฟังก์ชันด้านความปลอดภัย ที่สามารถสั่งการและควบคุมได้จากระยะไกล เช่น การแสดงตำแหน่งรถยนต์ การกำหนดรัศมีการใช้งานรถ และการแสดงผลการตั้งค่าต่างๆ ของรถ
แน่นอน อย่างที่กล่าวไป อนาคต อาจอัพเดตฟังก์ชันอื่นๆได้อีก
6.ระบบความปลอดภัยในเกณฑ์ดี
เรื่องนี้จำเป็นต้องไล่อย่างละเอียด ว่าค่ายรถ ใส่ฟังก์ชันความปลอดภัยอะไรมาให้ในรถคันนี้บ้าง โดยระบบการช่วยเหลือผู้ขับขี่และระบบความปลอดภัย (Driver Assistance and Safety Systems) สำหรับการขับขี่แบบอัตโนมัติในระดับ L2+
เริ่มจาก ระบบการช่วยเหลือผู้ขับขี่และระบบความปลอดภัยเชิงป้องกัน (Active Safety) ประกอบด้วย ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติแบบแปรผัน (ACC) มาพร้อมกล้องติดรถยนต์ ADAS ที่ประสานกับชิปควบคุมการขับเคลื่อนอัตโนมัติ EYEQ4 ของโมบายอาย ช่วยควบคุมในช่วงความเร็วที่กำหนดไว้ รวมถึงการหยุดและรีสตาร์ทกลับไปยังความเร็วที่ตั้งไว้ก่อนหน้า โดยรถจะลดความเร็วลงและหยุดตามคันหน้า และเมื่อรถคันหน้าเคลื่อนตัวหลังจากเบรคภายใน 3 วินาที รถจะเคลื่อนตัวตามคันข้างหน้าอัตโนมัติ โดยจะมีระยะห่างการติดตาม (ตรงนี้หากใช้จริงแล้วรู้สึกช้า กลัวคันหลังบีบแตรไล่ ก็กดคันเร่งไป)
ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติอัจฉริยะ (ICA) ทำงานตามความเร็วที่ผู้ขับขี่ตั้งเอาไว้ แต่จะตรวจจับรถคันหน้าเพื่อรักษาระยะห่างที่ปลอดภัย
ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติที่ความเร็วต่ำ (TJA) เป็นระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติเมื่อใช้ความเร็วต่ำ โดยสามารถควบคุมรถให้ติดตามรถด้านหน้าหรือขับต่อไปด้วยความเร็วคงที่เพื่อลดภาระของผู้ขับขี่
ระบบเบรกฉุกเฉินอัตโนมัติบนทางตรงและทางแยก (AEBI) ถือเป็นหนึ่งในระบบที่ดีทีสุดในระดับ L2+ ที่มาพร้อมระบบการตรวจจับคนเดินถนน และทางแยก โดยสามารถคำนวณระยะทางระหว่างรถและคนเดินถนนได้แบบเรียลไทม์ มีสัญญาณเตือนด้วยเสียงและการเบรกอัตโนมัติช่วยหลีกเลี่ยงการชนหรือลดแรงกระแทก การเบรกฉุกเฉินความเร็วต่ำ เมื่อเรดาร์ทำงาน จะตรวจสิ่งกีดขวางทั้งที่หยุดนิ่งหรือคนเดินถนนที่เคลื่อนที่ในแนวถอยจอดและหากพบว่ามีความเสี่ยงที่จะชน ระบบจะช่วยเบรคให้อัตโนมัติ โดยความเร็วขณะถอยจะไม่ต้องเกิน 8 กม./ชม.
ระบบช่วยควบคุมรถให้อยู่ในเลน (LKA) ช่วยควบคุมพวงมาลัยให้รถอยู่ในเลน โดยจะระบุเส้นแบ่งเลนถนนผ่านกล้องที่กระจกหน้ารถ เมื่อคนขับเบี่ยงเลนโดยไม่รู้ตัว ระบบจะช่วยระบบจะช่วยควบคุมพวงมาลัยให้รถอยู่ในเลน เมื่อระบบตรวจสอบพบว่าผู้ขับขี่มีลักษณะการขับขี่ที่ไม่ปลอดภัย ระบบจะแจ้งเตือนด้วยเสียง
ระบบช่วยเตือนเมื่อรถออกนอกเลน (LDW) แจ้งเตือนเมื่อรถกำลังออกนอกเลน เมื่อรถเบี่ยงออกจากเลนโดยไม่รู้ตัว ระบบจะส่งเสียงเตือนเพื่อให้ผู้ขับขี่มีเวลาตอบสนองมากขึ้น เมื่อผู้ขับขี่มีอาการจาม อ่อนล้า ฯลฯ ซึ่งอาจทำให้รถเบี่ยงออกนอกเลน ระบบจะแจ้งเตือนโดยทันที
ระบบช่วยรักษาระยะให้อยู่กลางเลน (LCK) ช่วยควบคุมรถให้อยู่กึ่งกลางเลน
ระบบช่วยควบคุมรถให้อยู่ในเลนในภาวะฉุกเฉิน (ELK) โดยหากมีการตรวจสอบพบรถอีกคันกำลังแล่นมา หรือมีรถแซงขึ้นมาจากอีกเลนหนึ่ง ระบบจะทำการแทรกแซงการทำงานมากขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงหรือลดการชน
ระบบช่วยเลี่ยงการเข้าใกล้รถใหญ่จากด้านข้าง (WDS) โดยระบบจะตรวจสอบรถบรรทุกขนาดใหญ่หรือรถที่มีขนาดยาว โดยในระหว่างการแซง ระบบจะรักษาช่องว่างระหว่างรถตามระยะที่เหมาะสมเพื่อหลีกเลี่ยงการปะทะ และจะประคองรถให้กลับสู่เลนเดิมอัตโนมัติ
การเข้าโค้งอัจฉริยะ (Intelligent Turn) เมื่อระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติแบบแปรผัน (ACC) ทำงาน กล้องจะทำการตรวจสอบความโค้งของถนน และความเร็วจะถูกปรับอัตโนมัติหากจำเป็นต้องลดความเร็วในขณะเข้าโค้งเพื่อความปลอดภัย และเมื่อผ่านโค้งไปแล้ว รถจะกลับเข้าสู่ความเร็วเดิมที่ตั้งไว้
ระบบช่วยออกตัวบนทางชัน (HSA) โดยเมื่อออกจากจุดที่หยุดนิ่งบนเนินสูงชัน เบรกจะยังคงค้างอยู่ราว 2 วินาที จนกระทั่งคันเร่งทำงานเพื่อป้องกันการถอยหลัง
ระบบตรวจความดันลมยาง (TPMS) โดยรถจะทำการวัดแรงดันลมยางอย่างต่อเนื่องและเตือนผู้ขับขี่หากมีแรงดันลมยางล้อใดลดลง
กล้องแสดงภาพรอบทิศทาง 360 องศา ประกอบไปด้วยกล้องที่มองได้รอบ 4 ตัว มีความละเอียดคมชัด 4 Megapixel โดยระบบจะรวมเอามุมมองภาพทั้ง 4 กล้องมาสร้างภาพที่มีมุมมอง 360 องศา เพื่อแสดงให้เห็นมุมมองของรถในแบบ “เฮลิคอปเตอร์” และเปิดการทำงานอัตโนมัติเมื่อเข้าสู่โหมดการถอยหลัง โดยสามารถดูได้เมื่อขับรถที่ความเร็ว 15 หรือ 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมงและตอนสตาร์ทรถ
ระบบช่วยจอดรถอัตโนมัติ 3 รูปแบบ (IAP) ใช้เซนเซอร์และกล้องในการตรวจสอบเพื่อตรวจจับวัตถุและเครื่องหมายบริเวณช่องจอดหรือจุดจอดรถและช่วยทำงานเต็มรูปแบบเพื่อเข้าจอด ทั้งแนวตั้ง แนวนอน หรือแนวเฉียง โดยเมื่อระบุช่องว่างที่จะนำรถเข้าจอดแล้ว รถจะทำการจอดด้วยตัวเองด้วยการควบคุมพวงมาลัย เบรก และคันเร่ง
ระบบช่วยเตือนเมื่อมีรถในจุดอับสายตาขณะถอยหลัง (RCTA) เซนเซอร์ช่วยตรวจสอบจุดอับสายตาด้านหลังของตัวรถทั้งด้านซ้ายและด้านขวาของช่องทางเดินรถในขณะถอยหลัง เมื่อกำลังถอยหลังออกจากช่องจอดเข้าสู่ช่องจราจร เซนเซอร์หลังของรถจะทำการเช็กด้านซ้ายและขวาของช่องจราจรและ ส่งสัญญาณเตือนด้วยเสียงและภาพ หากผู้ขับขี่ยังเพิกเฉย ไม่หยุดรถ ระบบเบรกอัตโนมัติในกรณีฉุกเฉินจะเริ่มทำงานด้วยการลดความเร็วและหยุดรถเพื่อหลีกเลี่ยงการชน
ระบบช่วยเตือนความเมื่อยล้าขณะขับขี่ (DFM) ช่วยประเมินและวิเคราะห์ลักษณะในการขับขี่ เช่นมุมบังคับเลี้ยว การเบรก การควบคุมไฟส่องสว่าง และใบบัดน้ำฝน ระยะเวลาในการขับ หากพบว่ามีลักษณะการขับขี่ที่เหนื่อยล้า หรือหลังจากขับรถด้วยความเร็วเกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และขับรถมากกว่า 4 ชั่วโมง ระบบจะเตือนด้วยภาพและเสียงนาน 20 วินาที ทุกๆ 10 นาที โดยสามารถทำการตั้งค่าใหม่ได้ก็ต่อเมื่อทำการหยุดรถเท่านั้นรถจะทำการแจ้งเตือนและแนะนำให้หยุดพัก
ระบบความปลอดภัยเชิงแก้ไข (Passive Safety) โครงสร้างตัวถัง ทำจากเหล็กกล้า IronBone™ เหล็กขึ้นรูปร้อนที่มีความแข็งแรง สามารถต้านทานแรงดึงได้ 1,520 Mpa รวมไปถึงเหล็กกล้าความแข็งแรง65% และเหล็กเทอร์โมฟอร์ม 8 ชิ้น ซึ่งสามารถดูดซับและลดแรงกระแทกเพื่อคุ้มครองความปลอดภัยของผู้โดยสารเป็นหลัก
ถุงลมนิรภัย 6 ตำแหน่ง เพื่อปกป้องผู้โดยสาร เมื่อเกิดอุบัติเหตุ ในกรณีที่ถุงลมนิรภัยทำงาน สัญญาณเตือนอันตรายจะทำงาน ประตูจะถูกปลดล็อก และรถจะโทรติดต่อศูนย์ช่วยเหลือฉุกเฉิน และสามารถส่งตำแหน่งเพื่อขอความช่วยเหลือได้ ได้รับมาตรฐานความปลอดภัย และ China Insurance Research Institute (C-IASI) ในระดับ Good มีระบบโทรหาเบอร์ฉุกเฉิน
เหล่านี้คือระบบความปลอดภัยที่รถคันนี้มี แต่ในการใช้งานจริง หลายคนมักจะเลือกปิดระบบความปลอดภัยบางระบบ เพราะมองว่าเตือนเยอะจนรำคาญ ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องส่วนบุคคล แต่ในความดีงามก็คือการที่รถมีใส่มาให้ ก็ทำให้เรารู้สึกดี และเมื่อจำเป็นต้องใช้ เราก็มีใช้ ดีกว่าไม่มี
และแน่นอนในการใช้งานจริงเราไม่สามารถคาดหวังกับระบบความปลอดภัยที่รถมีให้ได้ทั้งหมด คาดหวังแบบเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ ขอให้ระลึกไว้ว่า ระบบเพียงช่วยเราได้ระดับหนึ่งความสำคัญอยู่ที่ผู้ขับเอง
7.อัตราเร่งดีพอประมาณ
สมรรถนะของรถยนต์ ORA Good Cat ตามที่ทางค่ายรถระบุมาในสเปค คือ อัตราเร่ง 0-50 กม./ชม. ภายใน 3.8 วินาที สัมประสิทธิ์แรงต้านอากาศ 0.273 ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าแบบ Permanent Magnet Synchronous Motor ให้กำลังสูงสุด 105 kW หรือ 143 PS แรงบิดสูงสุด 210 นิวตัน-เมตร ความเร็วสูงสุด 152 กิโลเมตร/ชั่วโมง
ความสามารถการกู้คืนพลังงาน (Energy Recovery) ได้สามระดับ ได้แก่ น้อย, มาตรฐาน และมาก เพื่อการประหยัดพลังงาน
ความรู้สึกเมื่อใช้งานจริง ต้องยอมว่ารถยนต์ไฟฟ้าคันนี้ ให้ความรู้สึกที่ไม่เหมือนรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นอื่นก่อนหน้าที่เราอาจเคยขับหรือรู้จัก เพราะเวลาเราพูดถึงรถยนต์ไฟฟ้าที่ผ่านมา จุดเด่นสำคัญอันหนึ่งคือเรื่องอัตราเร่งที่ค่อนข้างดี แต่ ORA Good Cat เป็นรถน้ำหนักตัวรถไปไกลกว่าหน้าตา คือดูเหมือนไม่หนัก แต่หนัก ประกอบกับการปรับจูนกำลังของมอเตอร์ไฟฟ้า ให้เข้ากับประสิทธิภาพของแบตเตอรี่ ให้วิ่งไปตามระยะทางให้ได้มากที่สุด เราจึงไม่สามารถที่จะไปคาดหวังให้รถคันนี้ต้องแรงจัดจ้าน แบบรถไฟฟ้าในค่ายตะวันตก
แต่ถามว่าการใช้งานจริงน่าเกลียดไหม ตอบว่าไม่เลย! ลองทดสอบอัตราเร่ง 0-100 กิโลเมตร ขับคนเดียวใช้เวลาเราๆ 8.5-9 วินาที ถ้ามีบรรทุกมีคนนั่งเพิ่ม เวลาอาจจะอยู่ที่ราวๆ 10 วินาที พูดอย่างให้เข้าใจง่ายก็คือ รถยนต์ไฟฟ้าคันนี้ มีความแรงพอๆกับรถเก๋งเบนซินเครื่อง 1.5 เทอร์โบ หรือรถเก๋งเครื่องยนต์ 1,800 ซีซี หรือ เครื่องยนต์ 2,000 ซีซี นั่นแหละ
จุดเด่นอันหนึ่งก็คือเรื่องของการกดแซง ถ้าวิ่งอยู่ที่ความเร็ว 50 60 ถึง 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แล้วต้องการกดแซงรถบรรทุก ก็บอกได้เลยว่าไว้ใจได้ รถพุ่งไปข้างหน้าได้ทันใจ แต่ขอย้ำว่าเขาล็อคความเร็วไว้ที่ 152 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
มันอาจไม่ได้พุ่งจี๊ดจ๊าดแบบสไตล์รถยนต์ไฟฟ้าที่เคยรู้จัก แต่มันขับสนุกพอได้ กระทืบคันเร่งรถก็ไปตามที่ใจต้องการ จากที่มีโอกาสได้ทดสอบในสนามปิด บนพื้นถนนที่เปียกด้วย เพื่อทดสอบอัตราเร่งและการทำงานของช่วงล่าง ก็พบว่ารถมีอัตราเร่งที่ดีพอประมาณ อาจจะรู้สึกหน่วงในวินาทีแรกๆ แต่หลังจากนั้นพลังงานของมอเตอร์จะเริ่มทำงานฉุดรถไปข้างหน้า ไม่ได้ให้ความรู้สึกหลังติดเบาะมาก แต่ก็ให้ความรู้สึกว่ามันสามารถไปตามที่ใจต้องการได้ไม่ยาก นั่นคือมันดีพอประมาณของมัน ใช้ในเมืองได้
8.ใช้งานง่าย
ประเด็นนี้ขอพูดเรื่องความดีเกี่ยวกับการใช้งานของมันว่าเขาพยายามออกแบบให้รถคันนี้ใช้งานง่าย ภาพเข้าไปในตัวรถเราจะไม่เห็นปุ่มอะไรมากมายเลย ส่วนใหญ่การสั่งการเกิดจากหน้าจอทัชสกรีน
ฟังก์ชันที่ช่วยให้การสั่งการเป็นไปได้อย่างง่ายดายมากขึ้นคือ ระบบสั่งการด้วยเสียง สามารถควบคุมการใช้งานฟังก์ชันได้ตลอดเวลาด้วยเสียง สามารถทำให้ได้รับบริการอย่างที่ต้องการ สามารถควบคุมเครื่องปรับอากาศ ซันรูฟ ระบบนำทาง และมัลติมีเดีย ได้ในประโยคเดียว ข้อดีคือทำให้เราขับรถได้โดยไม่ต้องกังวลต้องเอามือมาปิดจับอะไร แค่ใช้ปากสั่งระบบก็ทำงาน
จะมีอยู่บ้างก็คือปัญหาระบบปฎิบัติการยังอืดบ้าง ทัชสกรีน ช้าบางครั้ง เหล่านี้ก็ต้องปรับปรุงต่อไป ส่วนผู้ใช้รถก็ต้องค่อยๆศึกษา ให้เข้าใจความซับซ้อนของมันมากขึ้น คนชอบการสั่งงานด้วยเสียง อาจจะชอบรถคันนี้มาก เหมือนเวลาเราสั่งงาน Siri ในมือถือ แต่อีกด้านหนึ่งคนที่ไม่ค่อยชอบพูดเท่าไหร่ อยากอยู่เงียบๆในการขับรถ ก็อาจจะใช้รถคันนี้ยากนิดนึง ต้องใช้เวลาศึกษา อันนี้ก็เป็นเรื่องพฤติกรรมส่วนบุคคล
ส่วนเรื่องการขับขี่ รถคันนี้ออกแบบให้ขับง่าย แค่มีกุญแจ เข้ามาในรถปุ๊บเหยียบเบรกรถก็ติดเลยพร้อมเดินทาง การเข้าเกียร์ก็แค่หมุน เลือกซ้ายเป็นเกียร์ D ก็เดินหน้า เลือกขวาเป็นเกียร์ R ก็ถอยหลัง อะไรจะง่ายขนาดนี้
9.โหมดการขับขี่โดดเด่น
ระบบขับขี่ทั้งหมด 5 แบบ ได้แก่ 1) มาตรฐาน 2) Sport 3) ECO 4) ECO+ และ 5) อัตโนมัติ ซึ่งผู้ขับขี่สามารถปรับได้เองตามปริมาณแบตเตอรี่ที่คงเหลือ
การเปลี่ยนโหมดทำได้ง่ายดายมีปุ่มกด เวลาเปลี่ยนโหมดไฟที่หน้าปัดจะเปลี่ยนโทนสี เช่นหมดมาตรฐานจะเป็นสีเขียว แต่เมื่อเป็นโหมด Sport จะเป็นสีแดงให้อารมณ์ร้อนแรง แม้จะมีโหมดการขับขี่หลายโหมดมาให้เลือก แต่การขับขี่จริงของผู้ขับขี่ให้ความรู้สึกแตกต่างเพียงเล็กน้อย
10.การประกอบตัวรถที่ดีระดับหนึ่ง มีสีให้เลือกเยอะ
ชิ้นงานภายนอก การทำสีของรถ การประกอบ การจัดวางพื้นที่ภายในห้องโดยสาร การจัดวางพื้นที่ของห้องเครื่อง โดยรวมอยู่ในเกณฑ์ดี แต่ทั้งหมดทั้งมวล ดีมากหรือดีน้อย ต้องรอดูที่ราคา ว่าเหมาะสมไหม เพราะในวันที่ทดสอบรถนั้น ทางค่ายผู้ผลิตรถไม่ได้เปิดเผยข้อมูลเรื่องราคาของรถ มันเป็นเทคนิคทางการตลาด
ORA Good Cat เตรียมเปิดตัวอย่างเป็นทางการและเริ่มวางจำหน่ายในประเทศไทยในวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2564 เป็นต้นไป โดยมีด้วยกันทั้งหมด 3 รุ่น ได้แก่
ORA Good Cat 400 TECH
สีรถภายนอก : 2 สี ได้แก่ สีดำ (Sun Black) และ สีขาว (Hamilton White)
สีรถภายใน : 1 สี ได้แก่ สีดำ (เบาะผ้า)
ORA Good Cat 400 PRO
สีรถภายนอก : 5 สี ได้แก่ ตัวรถสีแดงพร้อมหลังคาสีดำ (Mars Red with Black Roof)
ตัวรถสีขาวพร้อมหลังคาสีดำ (Hamilton White with Black Roof) สีฟ้า (Coral Blue)
สีดำ (Sun Black) และ สีขาว (Hamilton White)
สีรถภายใน : 1 สี ได้แก่ สีดำ (เบาะหนัง)
ORA Good Cat 500 ULTRA
สีรถภายนอก : 7 สี ได้แก่ ตัวรถสีเขียวพร้อมหลังคาสีขาว (Verdant Green with Hamilton White Roof) ตัวรถสีเบจพร้อมหลังคาสีน้ำตาล (Hazel Wood Beige with Wisdom Brown Roof)
ตัวรถสีแดงพร้อมหลังคาสีดำ (Mars Red with Black Roof) ตัวรถสีขาวพร้อมหลังคาสีดำ (Hamilton White with Black Roof) สีฟ้า (Coral Blue) สีดำ (Sun Black) และสีขาว (Hamilton White)
สีรถภายใน : 3 สี ได้แก่ สีดำ (เบาะหนัง) สำหรับทุกตัวเลือกสีรถภายนอก ยกเว้นเลือกตัวรถสีเขียวพร้อมหลังคา สีขาว (Verdant Green & Hamilton White) จะได้ภายในสีเขียว/เทา (เบาะหนัง) และตัวรถสีเบจพร้อมหลังคาสีน้ำตาล (Hazel Wood Beige & Wisdom Brown) จะได้ภายในสีเบจ/น้ำตาล (เบาะหนัง)
: TEST DRIVE
การทดสอบการขับขี่ เราขับรถ ORA Good Cat 400 PRO ออกเดินทางจากเมืองทองธานี ในวันที่ฝนตกปรอยๆตั้งแต่ตอนกลางคืน เริ่มเดินทางมุ่งหน้าไปสู่ตัวเมืองจังหวัดฉะเชิงเทรา กลับหันรถกลับ มายังจุดสตาร์ท
การขับขี่ค่อนข้างง่าย แค่มีกุญแจรถ เข้าไปนั่งในเก้าอี้คนขับ สามารถปรับเบาะโดยสารไฟฟ้าได้ 6 ทิศทาง จากนั้นก็เหยียบเหยียบเบรค ตัวรถกลับกุญแจจะส่งสัญญาณหากัน เป็นอันว่ารถสตาร์ทเสร็จเรียบร้อย
ทันทีที่เริ่มกดคันเร่งทำให้เรารู้สึกว่ารถคันนี้เป็นรถที่มีอัตราเร่งไม่ได้เหมือนรถยนต์ไฟฟ้าปกติ แต่ให้ความรู้สึกเหมือนเรากำลังขับรถยนต์น้ำมัน ให้อัตราเร่งที่ต่อเนื่องค่อนข้างดี แต่ไม่ได้รู้สึกกระโชกโฮกฮาก แต่เมื่อเราถอนคันเร่ง ความรู้สึกของรถยนต์ไฟฟ้าก็จะกลับมา มันจะมีการหน่วงเกิดขึ้น ซึ่งระดับของการหน่วงของมอเตอร์รถยนต์ไฟฟ้าคันนี้ เราสามารถปรับตั้งค่าได้ ถ้าตั้งค่าให้มันหน่วงมาก มันก็คือเบรคดีๆนี่เอง ต้องย้ำว่ายิ่งหน่วงมากการชาร์จไฟกลับไปยังแบตเตอรี่ก็ยิ่งดี ซึ่งต้องแลกมากับอารมณ์ในรถที่ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ มันจะกระตุก ยิ่งมีผู้โดยสารในรถ อาจจะเกิดอาการคลื่นไส้อาเจียนได้ แต่ถ้าขับคนเดียวแล้วชอบก็จัดไป
เราขับผ่านถนนรามอินทราในช่วงเช้าวันอาทิตย์ ฝนตก ถนนค่อนข้างลื่น เส้นนี้ขึ้นชื่อเรื่องความขรุขระ เพราะกำลังมีการก่อสร้างรถไฟฟ้า ทำให้เราต้องขับผ่านถนนซึ่งมีรอยต่อไม่เรียบ เยอะมากตลอดระยะทางมากกว่า 10 ถึง 20 กิโลเมตร ไปจนถึงมีนบุรี พบว่ารถคันนี้ช่วงล่างไม่ได้นุ่มนวลมาก มีความรู้สึกกระด้างนิดๆ ช่วงที่ขับผ่านรอยต่อที่ไม่เรียบ ความรู้สึกดังกล่าวจะขึ้นมาที่ตัวเราเล็กน้อย อยู่ในเกณฑ์ที่รับได้ อาจจะเป็นเพราะตัวรถที่หนักด้วย ขอบยางของล้อที่ค่อนข้างใหญ่ ความสูงของแก้มยางไม่สูงมากเท่าไหร่ ตรงนี้แลกมากับความไม่ค่อยนุ่มนวลในความเร็วต่ำ แต่ก็มั่นคงในความเร็วที่มากขึ้น ก็ผ่านไปได้ด้วยดี ไม่ได้รู้สึกเหนื่อยแต่ประการใด ต่างกับ Eco Car รุ่นหนึ่งที่ผู้เขียนขับผ่านเส้นนี้ประจำอยู่อย่างมาก นั่นหมายความว่า ORA Good Cat ใช้งานอยู่ในระดับที่รับได้ในพื้นที่กรุงเทพฯ แน่นอน อย่าเอาไปเทียบกับรถเก๋ง Class D segment
หลุดจากมีนบุรี เรามุ่งหน้าเข้าถนนสุวินทวงศ์ ซึ่งเป็นถนนลาดยางผสมกับคอนกรีตในบางช่วง โดยเฉพาะ เมื่อไปถึงเขตหนองจอกต่อเข้ากับจังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นถนนคอนกรีตค่อนข้างดีมาตรฐานสูง เราใช้ความเร็วได้ระดับหนึ่ง ก็พบว่า ด้วยน้ำหนักตัวที่มากของมัน บาลานซ์ของรถที่ดีจากการวางแบตเตอรี่ด้านล่าง หน้ายางที่กว้างระดับหนึ่ง ก็ทำให้รถมีความนิ่งในความเร็วสูง โดยเฉพาะในย่าน 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมงขึ้นไป การทรงตัวของรถอยู่ในระดับไว้ใจได้ แต่การเปลี่ยนเลนกะทันหัน ต้องการทำอย่างระมัดระวัง การเปลี่ยนเลนกะทันหันในความเร็วไม่สูงมาก สามารถทำได้ทันที ค่อนข้างไว้ใจได้ แต่การเปลี่ยนเลนกะทันหันด้วยความเร็วสูงต้องเพิ่มความระมัดระวังขึ้น ต้องพิจารณาน้ำหนักของรถด้วย
ส่วนการเร่งแซงนั้นทำได้ค่อนข้างดี ความเร็วของรถคันนี้ล็อคไว้ที่ 152 กิโลเมตรต่อชั่วโมง รถมีทัศนวิสัยค่อนข้างดี
เรื่องการเก็บเสียง ข้อดีของรถยนต์ไฟฟ้าคือเราจะไม่ได้ยินเสียงเครื่องยนต์เลยเพราะมันไม่มี แต่เสียงที่จะเข้ามาในรถคือเสียงจากบรรยากาศภายนอก เสียงจากการที่ลมปะทะกับรถ เสียงของยางที่บดกับถนน รถคันนี้เก็บเสียงได้ดีระดับหนึ่ง ในย่านความเร็วไม่สูงมาก แต่เมื่อขับที่ความเร็วสูง ต้องยอมรับว่ามีเสียงเข้ามาระดับหนึ่ง เพราะต้องไม่ลืมว่าดีไซน์ของรถคันนี้ไม่ใช่รถที่ทำมาเพื่อความเร็วสูง ไม่ใช่รถที่ยึดหลักอากาศพลศาสตร์มาเป็นที่หนึ่ง ดีไซน์ที่น่ารักของมัน กระจกมองข้างขนาดใหญ่ ช่วยให้มองเห็นรถคันหลังได้ชัดเจน แต่ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เสียงดังในความเร็วสูงบ้าง แต่ทั้งหมดขอย้ำว่าอยู่ในระดับที่รับได้ ใช้งานได้
เรื่องการทำงานของแบตเตอรี่ ออกจากเมืองทองธานี แบตเตอรี่ตัวเลขวิ่งได้ อีก 395 กิโลเมตร ไปถึงเป้าหมายระยะทางประมาณ 71 กิโล เหลือตัวเลขวิ่ง ได้ 330 กิโลเมตร การขับขี่ทั้งเร่งบ้าง ช้าบ้าง เป็นการจราจรปกติ ส่วนขากลับ กลับมาในเส้นทางมีหยุดและเปลี่ยนเส้นทางเล็กน้อย การจราจรค่อนข้างติดบนถนนรามอินทรา เหลือตัวเลขเมื่อมาถึงเมืองทองธานี ราวๆ 230 กิโลเมตร
เมื่อกลับมาถึงเมืองทองธานี เราได้เข้าทดสอบ สนามที่ถูกจัดพิเศษสำหรับให้ทดลองขับขี่อย่างเต็มที่ เราได้มีโอกาสกดคันเร่งแบบสุด ได้เปลี่ยนเลนกะทันหัน ด้วยสภาพถนนที่ไม่ค่อยดีคือมีฝนตกเปียก ได้มีโอกาสเหยียบเบรกกะทันหัน มีโอกาสทดสอบพวงมาลัย
ขอย้ำว่า การทดสอบดังกล่าวเป็นการขับขี่ในสภาวะผิดปกติ จัดขึ้นเพื่อให้สื่อมวลชนสายรถยนต์ได้ทดสอบรถอย่างเต็มที่ มีการควบคุมและดูแลเรื่องความปลอดภัย ไม่ควรนำไปทดสอบด้านนอก โดยภาพรวม รถสามารถเอาอยู่ในทุก Station เบรกค่อนข้างไว้ใจได้ หยุดได้ตามใจต้องการ มีออกอาการบ้างเล็กน้อยเวลาเข้าโค้งที่ความเร็วสูง แต่ก็อยู่ในระดับที่เอาอยู่ มั่นใจว่าการใช้งานในชีวิตประจำวันไม่น่ามีปัญหาอะไรเรื่องการขับขี่อย่างแน่นอน
บทสรุปการขับขี่ก็คือ สำหรับคนที่กำลังมองหารถยนต์ไฟฟ้าที่ขายในเมืองไทย มันคือรถยนต์ที่น่าใช้คันหนึ่ง การเดินทางกรุงเทพฯและปริมณฑลค่อนข้างไว้ใจได้ อาจจะเดินทางไกลก็สามารถทำได้แต่ต้องวางแผนเรื่องของการชาร์จ
ถ้าถามว่ารถคันนี้ดีมากหรือดีน้อย ทั้งหมดนั้นขึ้นอยู่กับราคา ยิ่งทำราคาดีเท่าไหร่ สมเหตุสมผลมากเท่าไหร่ ความฝันที่ว่ารถยนต์ไฟฟ้าจะเกิดขึ้นในเมืองไทยโดยมีรถคันนี้เป็นผู้เข้ามาเปลี่ยนเกม/สร้างให้แบรนด์ Great Wall Motor ลงหลักปักฐานหนาแน่นในสังคมไทย/เปลี่ยนภาพความจำของคนไทยต่ออุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าจีนได้ ก็อาจจะเป็นจริง
ต้องยอมรับว่าพัฒนาการอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าของทุนนิยมจีนครั้งนี้ไม่ธรรมดาจริงๆ