วิกฤตน้ำมันแพงหูฉี่…เผือกร้อน‘รบ.ตู่’ กองทุนถังแตกกัดฟันกู้ ขยาดลดภาษี!!

วิกฤตน้ำมันแพงหูฉี่...เผือกร้อน‘รบ.ตู่’ กองทุนถังแตกกัดฟันกู้ ขยาดลดภาษี!!

ยังไม่ทันผ่านพ้นโรคระบาดไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) คนไทยหลายจังหวัดต้องเจอทุกข์ซ้ำซ้อนจากปัญหาอุทกภัย จนประชาชนหลายจังหวัดเอ่ยปากฝากถึงรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ว่า “รุนแรงกว่าปี 2554” ด้วยซ้ำ

ล่าสุด ค่าครองชีพของคนไทยกำลังพุ่งขึ้นพรวดๆ จากวิกฤตพลังงานเมื่อราคาน้ำมันดิบทั้งโลกขยับสูงขึ้นไม่หยุดหย่อน ส่งผลต่อราคาขายปลีกหน้าปั๊ม ราคาสินค้า ราคาค่าขนส่ง ฯลฯ ประเทศไทยในฐานะผู้นำเข้าพลังงานเป็นหลักหนีไม่พ้นต้องก้มหน้ารับชะตากรรม หวังให้รัฐบาลโชว์ฝีมือแก้ปัญหา บรรเทาผลกระทบประชาชนให้มากที่สุด!!

⦁โควิดไทยยังไม่ทันสงบราคาน้ำมันก็พุ่งพรวด
ทำความเข้าใจถึงสาเหตุที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกในขณะนี้ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง มาจากหลายปัจจัย ทั้งเศรษฐกิจทั่วโลกที่เริ่มฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด-19 การเข้าสู่ช่วงฤดูหนาวของซีกโลกตะวันตก และผลกระทบต่อเนื่องจากพายุในสหรัฐอเมริกาที่ทำให้การผลิตน้ำมันต้องหยุดชะงัก รวมทั้งการจำกัดการผลิตน้ำมันของกลุ่มโอเปค ล่าสุด ราคาน้ำมันดิบดูไบ ณ วันที่ 22 ตุลาคม อยู่ที่ระดับ 83 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล จากช่วงโควิดระดับราคาอยู่ที่ประมาณ 65 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล

ราคาโลกที่เพิ่มขึ้นได้สะท้อนมายังราคาขายปลีกในประเทศให้ปรับตัวขึ้นเช่นกัน เก็บสถิติราคาน้ำมันเฉพาะเดือนกันยายนที่ผ่านมา ผู้ค้าน้ำมันประกาศปรับขึ้นราคาถึง 6 ครั้ง จนรัฐบาลโดยกระทรวงพลังงานนั่งไม่ติด เพราะเสียงก่นด่าจากประชาชนเริ่มมาจากรอบทิศที่ไม่พอใจ โดยเฉพาะราคาน้ำมันดีเซล บี10 (น้ำมันฐาน) ที่ใกล้ทะลุ 30 บาทต่อลิตร และ บี7 ที่ทะลุไปถึง 31 บาทต่อลิตร ซึ่งสัดส่วนการใช้ทั้งสองชนิดใกล้เคียงกัน

Advertisement

เผือกร้อนดังกล่าว วันที่ 4 ตุลาคม กระทรวงพลังงาน โดย สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน จึงเรียกประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) นัดพิเศษ เพื่อหาทางออก หลังการประชุม กบง.ประกาศคงราคาดีเซลทั้ง 2 ชนิด ไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร โดยใช้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเข้าดูแล ซึ่งกองทุนมีเงินสุทธิประมาณ 1.1 หมื่นล้านบาท พร้อมทั้งกำหนดค่าตลาดดีเซลเหลือ 1.40 บาทต่อลิตร จากปกติเฉลี่ย 1.80 บาทต่อลิตร

ขณะที่บัญชีแอลพีจี (ก๊าซหุงต้ม) ถูกแยกออกชัดเจนพร้อมประสานใช้เงินจาก พ.ร.ก.กู้เงินเพิ่มเติม 5 แสนล้านบาทของรัฐบาลเข้าอุดหนุนผู้ใช้กลุ่มครัวเรือน เพื่อคงราคาขายปลีกก๊าซหุงต้มถังขนาด 15 กิโลกรัม ราคา 318 บาทต่อถัง (ไม่รวมค่าขนส่ง) ต่อไป

ขณะเดียวกัน กบง.ยังมีมติปรับสูตรผสมไบโอดีเซล (บี100) ในน้ำมันดีเซล บี10 (ไบโอดีเซล 10%) และ บี7 (ไบโอดีเซล 7%) เหลือ บี6 (ไบโอดีเซล 6%) มีผลวันที่ 11-31 ตุลาคม เนื่องจากต้นทุนน้ำมันที่สูงนอกจากเนื้อน้ำมันดิบ อีกส่วนยังมาจากไบโอดีเซลที่แพงกว่า 40 บาทต่อลิตร

⦁แรงกระเพื่อมจากผู้ค้าผู้ใช้ร้อง รบ.ช่วยด่วน
จากมติ กบง.ข้างต้น แม้ผู้ใช้ดีเซลจะเริ่มเบาใจ แต่เกิดแรงกระเพื่อมทันที ทั้งจากผู้ใช้เบนซินที่ต้องการให้รัฐบาลดูแลราคาเช่นกัน อีกกลุ่มมาจากเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันที่ไม่ต้องการให้รัฐบาลลดสัดส่วนการผสมไบโอดีเซล รวมกันไปร้องเรียนที่ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งปัจจุบันราคาปาล์มน้ำมันดีดขึ้นไปถึง8-9 บาทต่อกิโลกรัมแล้ว ต่างจากอดีตที่เคยอยู่ระดับ 3 บาทต่อกิโลกรัม และปริมาณล้นตลาด จนรัฐบาลมีนโยบายช่วยเหลือด่วน ทั้งนำปาล์มดิบไปเผาทำเชื้อเพลิงโรงไฟฟ้า และการเพิ่มสัดส่วนไบโอดีเซลเป็น 10% ก่อนประกาศเป็นน้ำมันฐานจูงใจคนไทยทั้งประเทศสนับสนุน

อีกกลุ่มคือผู้ค้าน้ำมันมาตรา 7 ที่ไม่เห็นด้วยกับค่าการตลาดที่ลดลงมากเมื่อเทียบกับต้นทุนด้านต่างๆ ที่แบกรับ โดยเฉพาะรายย่อยที่โอดครวญกับรายจ่ายต่างๆ ทั้งค่าแรง ค่าสต๊อกน้ำมัน ค่าบริหารจัดการ ค่าไฟ รวมทั้งค่าเซอร์วิสประชาชน โดยระบุว่าปัจจุบันรายได้จากการขายน้ำมันน้อยมาก ต้องดิ้นรนจากธุรกิจนอนออยล์เป็นหลัก ขณะที่รายใหญ่สายป่านดีกว่า โดยเฉพาะการถือหุ้นจากรัฐ เมื่อประกาศราคานำไปก่อน รายอื่นก็ต้องปฏิบัติตาม

และอีกกลุ่มที่เสียงดังกว่าใคร คือกลุ่มรถบรรทุก ที่รุกแรงรุกเร็ว เข้าพบรองนายกฯสุพัฒนพงษ์ เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม เรียกร้องราคาดีเซลที่ 25 บาทต่อลิตร โดยส่วนลดดังกล่าวต้องการให้รัฐใช้วิธีลดภาษีสรรพสามิต โดยวันที่ 19 ตุลาคม ได้แสดงพลังนำรถบรรทุกวิ่งบนถนนสายหลักๆ ทั้งภาคเหนือ ใต้ ตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) ตะวันออก และตะวันตก รวมกว่า 1,000 คัน ใน 6 เส้นทาง 7 จุด โดยไม่เข้ามาในพื้นที่กรุงเทพฯ ล่าสุดยังขู่เดินรถ 40% หากรัฐบาลไม่รับข้อเสนอ

⦁‘บิ๊กตู่’นั่งไม่ติดสั่งดูแลดีเซลห้ามเกิน30บ.
เจอแรงกระเพื่อมจากหลากกลุ่มเข้าไป ช่วงบ่ายวันที่ 19 ตุลาคม พล.อ.ประยุทธ์เรียกประชุมรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ก่อนจะออกมายืนยันกับประชาชนว่า รัฐบาลจะดูแลราคาดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตรแน่นอน พร้อมโยนเผือกร้อนกลับมาที่กระทรวงพลังงาน ให้ชี้แจงประชาชนถึงแนวทางดูแลราคาหลังจากนี้

ต่อมา วันที่ 20 ตุลาคม กบง.มีการประชุมนัดพิเศษ เพื่อหาทางออกเรื่องนี้ กำหนดวาระเดียวคือการบริหารราคาดีเซล ผลการประชุมออกมาว่า กบง.มีมติยุติการลดสัดส่วนไบโอดีเซล และกลับไปใช้สัดส่วนตามเดิม คือ บี7 บี10 และ บี20 โดยกำหนดราคาทั้ง 3 ชนิด ไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตรต่อไป

ขณะเดียวกันจะกำหนดส่วนต่างราคาทั้ง 3 ชนิด ให้ใกล้เคียงกัน คือ บี7 แพงกว่า บี10 อยู่ที่ 15 สตางค์ และ บี7 แพงกว่า บี20 อยู่ที่ 25 สตางค์ เพื่อดูแลผู้ใช้ทุกกลุ่ม พร้อมดูแลเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน นอกจากนี้ กบง.ยังมีมติคงค่าการตลาดดีเซลไม่ให้เกิน 1.40 บาทต่อลิตร ทั้งหมดนี้มีผลวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้เป็นต้นไป

โดยเครื่องมือหลักในการดูแลจะใช้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีเงินเหลือ 9.2 พันล้านบาท หากเงินไม่พอจะขอกู้ตาม พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมาตรึงราคา ตามกรอบเงินกู้ไม่เกิน 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งปัจจุบันกระทรวงพลังงานได้ประสานกับกระทรวงการคลังถึงแผนการกู้ ซึ่งต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง เพราะจะต้องบรรจุในแผนการก่อหนี้สาธารณะของกระทรวงการคลังด้วย และหากเงินกู้ยังไม่พออีกจะประสานกับกระทรวงการคลังดูแล นั่นคือ มาตรการภาษีสรรพสามิต

แนวทางนี้กระทรวงพลังงาน ตั้งเป้าหมายดูแลให้ได้ช่วง 4-5 เดือนข้างหน้า เพราะคาดว่าหลังจากนั้นราคาน้ำมันเข้าสู่ช่วงขาลงเพราะหมดฤดูหนาว โดยการดููแลราคาดังกล่าวจะอยู่ภายใต้สมมุติฐานที่ว่า น้ำมันดิบดูไบอยู่ระดับ 87.5 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล คิดเป็นราคาดีเซล 33 บาทต่อลิตร ใช้เงินอุดหนุนทั้ง 3 ชนิด ประมาณ 5,000 ล้านบาทต่อเดือน แต่ถ้าราคาน้ำมันดิบดูไบเกิน 87.5 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล กบง.จะเรียกประชุมด่วนเพื่อหาแนวทางดูแลในรูปแบบอื่นต่อไป

⦁ถ้ากองทุนเอาไม่อยู่จ่อเปิดไพ่ลดภาษีสรรพสามิต
ส่วนประเด็นข้อเรียกร้องของกลุ่มรถบรรทุก รองนายกฯสุพัฒนพงษ์ย้ำชัดระหว่างแถลงข่าวผลประชุม กบง. ว่า “กรณีผู้ประกอบการรถบรรทุกอยากให้ลดเหลือ 25 บาทต่อลิตรนั้น ไม่สามารถทำได้ เพราะรัฐบาลมีมาตรการทางการเงินช่วยเหลือประชาชนทุกกลุ่มอยู่แล้ว” คำตอบชัดเจนดับฝันแก๊งรถบรรทุกทันที

หลังจากนี้ต้องมาดูกันว่าราคาน้ำมันจะพุ่งไปอีกแค่ไหน และเครื่องมือกองทุนน้ำมันฯจะเอาอยู่หรือไม่ เพราะยิ่งกู้เท่ากับก่อหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หรือหากเปลี่ยนมาใช้ไพ่ใบสุดท้ายอย่างการลดภาษีสรรพสามิต ปัจจุบันเก็บผู้ใช้ดีเซลลิตรละ 5.99 บาท เมื่อรวมภาษีน้ำมันทุกชนิดจะถือเป็นรายได้หลักประเทศในเวลานี้ อยู่ที่ประมาณ 2 แสนล้านบาท คิดเป็น 40% ของภาษีสรรพสามิตทั้งหมด หลังรายได้อื่นหดหายจากพิษโควิดที่ยังไม่จบสิ้น

ถ้าบาลานซ์แผนบริหารน้ำมันครั้งนี้ไม่ดี พลาด บวกมรสุมอื่นที่ถาโถมในปัจจุบัน รัฐนาวาของบิ๊กตู่ก็เสี่ยงอับปางเอาง่ายๆ จะเลือกสวดมนต์ขอให้ราคาน้ำมันลดคงไม่พอ!!

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image