กรอ.มั่นใจเปิดประเทศบูมลงทุน2.76แสนล. สัญญาณดีปี’64รง.ปิดตัวลดลงรวม 720 แห่ง

แฟ้มภาพ

เปิดประเทศบูมลงทุน2.76แสนล. กรอ.คาดเศรษฐกิจคึกต่างชาติเชื่อมั่น สัญญาณดีปี’64รง.ปิดกิจการลดลง3.23%

 

นายวันชัย พนมชัย อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กรอ. ตั้งเป้ามูลค่าการลงทุนในปีงบประมาณพ.ศ. 2565 กว่า 276,000 ล้านบาท และมีเป้าหมายการประกอบกิจการโรงงานเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 2,800 ราย เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2564 เพราะมั่นใจว่าจะได้รับอานิสงส์จากนโยบายการเปิดประเทศตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ซึ่งนโยบายนี้จะสร้างความเชื่อมั่นให้เห็นถึงศักยภาพของประเทศไทยในการบริหารจัดการสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด -19 และการกระจายวัคซีนได้ครอบคลุมมากขึ้น การดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่จะอยู่ร่วมกับโควิด -19 ที่จะขับเคลื่อนให้ทุกภาคส่วนเริ่มกลับมาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้มากขึ้นทั้งในด้านการบริโภค การลงทุน การส่งออกสุทธิ การใช้จ่ายภาครัฐบาล จะส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมมีการผลิตได้เพิ่มขึ้นตามความต้องการของตลาดในประเทศ ซึ่งคาดว่าจีดีพีปี 2565 จะขยายตัว 3-5% และจีดีพีโลกจะขยายตัว 4.5%

Advertisement

ประกอบกับนโยบายส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)  ที่มีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เช่น ระบบการขนส่ง (สนามบินอู่ตะเภา รถไฟความเร็วสูง ท่าเรือมาบตาพุด) การพัฒนาสมาร์ทซีตี้ที่บ้านฉาง ที่มีการลงทุน 5G การสร้างซิลิคอนเทคปาร์ค การมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนที่จะดึงดูดนักลงทุนต่างประเทศเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า ระบบอัตนมัติ/หุ่นยนต์ อาหารแห่งอนาคต พลังงานทางเลือก เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (บีซีจี) รวมถึงการจัดตั้งเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพิ่มเติม 6 แห่งในพื้นที่อีอีซี ซึ่งจะส่งเสริมให้เกิดบรรยากาศของกรลงทุนที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตและจะกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศให้ขยายตัวได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้

ในช่วงสถานการณ์โควิดที่ผ่านมา กระทรวงอุตสาหกรรมได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่งเสริมให้โรงงานทั่วประเทศได้มีการปฏิบัติตามมาตรการควบคุมป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด (บับเบิล แอนด์ ซีล) ส่งผลให้เกิดความเชื่อมั่นของนักลงทุนอย่างต่อเนื่องแม้ในสถานการณ์โควิด-19

ในส่วนของเงินลงทุนภาคอุตสาหกรรมประจำปีงบประมาณ 2564 (ตุลาคม2563-กันยายน2564) ทั้งการตั้งโรงงานใหม่และการขยายกิจการ มีมูลค่าการลงทุนรวม 350,064.72 ล้านบาท เทียบจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ลดลง 13.51% การประกอบกิจการโรงงานใหม่ มีจำนวนทั้งสิ้น 2,666 โรงงาน ปรับตัวลดลงเล็กน้อย คิดเป็น 0. 78% มูลค่าเงินลงทุน มีการขยายตัวสูงขึ้นจำนวน 263,416.39 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 36,000 ล้านบาท คิดเป็น 15.88% และมีโรงงานที่ได้รับอนุญาตขยายกิจการจำนวน 258 โรง ลดลง 66.31% มูลค่าเงินลงทุน 86,648.32 ล้านบาท และมีจำนวนโรงงานที่เลิกประกอบกิจการ จำนวน 720 โรงงาน ลดลง 3.23% มูลค่าการลงทุนของโรงงานที่เลิกกิจการ 39,488.29ล้านบาท ลดลง 19.15% เทียบกับปีที่ผ่านมา

Advertisement

โดยอุตสาหกรรมเป้าหมาย ทั้งยานยนต์wฟฟ้า อุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ และอิเล็กหรอนิกส์อัจฉริยะ มีแนวโน้มเติบโตสูงขึ้น เป็นไปตามแนวทางร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 และประกาศการส่งเสริมการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) ทั้งนี้ ตัวเลขการขอรับการส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอ ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 มีมูลค่าสูงกว่า500,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 140% ของปีก่อน

สะท้อนถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อประเทศไทยที่มีอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากความเข้มแข็งในด้านปัจจัยพื้นฐาน โดยแนวโน้มปี 2565 คาดว่าจะมีการขอรับการส่งเสริมการลงทุนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว ประกอบกับการย้ายฐานการผลิตที่เป็นผลจากสงครามการค้าโดยเฉพาะโครงกรลงทุนจากจีนและไต้หวัน นอกจากนี้มาตรการเปีดประเทศยังเป็นส่วนเสริมสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนต่างชาติ และช่วยทำให้การเดินทางเข้าประเทศไทยของกลุ่มนักลงทุนสะดวกมากขึ้น

ปัจจุบันกระทรวงอุตสาหกรรมได้ตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้ประกอบการจากสถานการณ์ต่าง ๆ จึงได้มีมาตรการที่ช่วยลดภาระของผู้ลงทุนและเอื้อต่อบรรยากาศในการลงทุน เช่น การยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปีและการยกเว้นค่าธรรมเนียมจดทะเบียนเครื่องจักร เป็นต้น รวมถึงการยกเลิกการต่ออายุใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน การปรับปรุงหลักเกณฑ์การขยายโรงงาน หรือการเพิ่มเครื่องจักรเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตของโรงงานเป็นขั้นบันได ให้มีความเหมาะสมกับโรงงานแต่ละขนาด หรือการเพิ่มประเภทการประกอบกิจการโรงงานโดยไม่ต้องขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานใหม่และการใช้ระบบออนไลน์และการเชื่อมโยงฐานข้อมูลเพื่อยกระดับการให้บริการและอำนวยความสะดวกกับผู้ประกอบการให้สามารถดำเนินกิจการได้รวดเร็วยิ่งขึ้น (อีส ออฟ ดูอิ่งบิสซิเนส)

นอกจากนี้ยังมีมาตรการสนับสนุนและให้คำปรึกษากับโรงงานในด้านต่าง ๆ เช่น การปรับเปลี่ยนเครื่องจักรเก่าให้มีความทันสมัย การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในโรงงานและการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้วัตถุดิบและทรัพยากรต่าง ๆ ตลอดจนการส่งเสริมโรงงานเข้าสู่อุตสาหกรรมสีเขียว อุตสาหกรรมเชิงนิเวศน์และลดมลพิษด้านสิ่งแวดล้อม เพิ่มมาตรการความปลอดภัยเพื่อให้ภาคอุตสาหกรรม อยู่ร่วมกับชุมชนอย่างยั่งยืน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image