“อาคม” แนะ 6 แนวทางประกันภัยปรับตัวรับยุคนิวนอร์มอล คปภ.พร้อมยกระดับขับเคลื่อนไทยศูนย์กลางนวัตกรรม

“อาคม” แนะ 6 แนวทางประกันภัยปรับตัวรับยุคนิวนอร์มอล คปภ.พร้อมยกระดับขับเคลื่อนไทยศูนย์กลางนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีประกันภัย

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถา เปิดงาน Thailand InsurTech Fair 2021 หรือ มหกรรมด้านประกันภัย โดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ว่าการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ส่งผลให้เกิดการตระหนักถึงความสำคัญของการประกันภัยในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะประกันชีวิตและประกันสุขภาพเพิ่มมากขึ้นในระดับครัวเรือนและผู้ประกอบการ ดังนั้นธุรกิจประกันถือเป็นส่วนหนึ่งของระบบการเงินของประเทศ และมีบทบาทสำคัญในการระดมทุนจากผู้มีเงินออม เพื่อสร้างหลักประกันชีวิตระยะยาว

นายอาคม กล่าวว่า ภัยที่เกิดจากธรรมชาติ แม้จะมีการนำเทคโนยีหรือเครื่องมือต่างๆ ใช้ในการพยากรณ์ล่วงหน้า และมีการเตรียมการป้องกันอย่างดี แต่ก็ไม่สามารถเลี่ยงความเสี่ยงและความเสียหายได้ พร้อมแนะ ภาคธุรกิจเร่งปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงตามวิถีชีวิตแบบใหม่ หรือ นิวนอร์มอล ใน 6 เรื่อง คือ 1.ด้านเทคโนโลยี โดยหวังให้ภาคประกันภัย มีการนำเทคโนโลยีมาใช้มากขึ้น เพื่อลดภาระการเดินทาง และลดการใช้กระดาษ 2.ด้านสภาพแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ โดยเฉพาะการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ เข้าสู่ชั้นบรรยากาศ ซึ่งรัฐบาลมีนโยบายชัดเจนในการปรับเปลี่ยนไปสู่รถยนต์ไฟฟ้า ดังนั้นธุรกิจประกันภัยจะต้องปรับและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค

นายอาคม กล่าวว่า 3.ด้านการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งในปี 2565 จะมีสัดส่วนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเป็น 20% ของจำนวนประชากรไทย แนะการออกแบบผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะประกันชีวิต และประกันสุขภาพ ซึ่งถือเป็นแหล่งออมเงิน ที่ระหว่างทางจะต้องได้ผลตอบแทนให้กับผู้เอาประกัน ไม่ใช่การมุ่งผลตอบแทนเมื่อครบอายุประกัน 4.ด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งไทยยังขาดประกันวินาศภัยที่ให้ความคลุมครองไปถึงโครงสร้างพื้นฐานสาธารณะ ทั้ง สนามบิน ท่าเรือ รถไฟและถนนต่างๆ ในขณะที่ทั่วโลกก็ทำกัน

Advertisement

นายอาคม กล่าวว่า 5.ด้านเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว หรือ BCG คือการพัฒนาองค์รวม เพื่อเพิ่มมูลค่าให้สูงขึ้น และลดของเสียที่เกิดขึ้น ควบคู่กับ ESG โดยเฉพาะด้านธรรมาภิบาล ซึ่งเป็นนโยบายที่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกนำไปใช้ในการดำเนินธุรกิจ และ 6.การบริหารความเสี่ยง ซึ่งจำเป็นต้องมีในทุกธุรกิจ โดยต้องมีการคาดการณ์ความเสี่ยงของธุรกิจในอนาคต มีการทดสอบความอ่อนไหวของธุรกิจ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะในธุรกิจประกันภัยจะต้องมี เพื่อให้ธุรกิจสามารถอยู่รอดได้

“ถึงความคาดหวังในอุตสาหกรรมประกันภัยในการเป็นกลไกหลักสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง มีเสถียรภาพจากภายในและภายนอก หลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง ลดความยากจน เหลื่อมล้ำ และยกระดับเศรษฐกิจฐานรากผ่านการส่งเสริมการเข้าถึงประกันภัยของประชาชนทุกภาคส่วนอย่างทั่วถึง” นายอาคม กล่าว

นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย กล่าวว่า ปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมประกันภัยมีส่วนสำคัญในการสร้างเสริมความเข้มแข็งมั่นคงให้กับระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ และยังเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการสร้างหลักประกันความมั่นคงในครอบครัว การประกอบธุรกิจการค้าและการลงทุน รวมไปถึงการดำเนินชีวิตประจำวันของคนไทยทุกคน ทั้งนี้ คปภ. จึงได้เล็งเห็นถึงการพัฒนาของเทคโนโลยีและนวัตกรรมแบบก้าวกระโดด มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่อุตสาหกรรมประกันภัยจะต้องพร้อมรับความเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัล ต้องมีการปรับตัว

Advertisement

นายสุทธิพล กล่าวว่า รวมถึงปรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจ โดยนำเทคโนโลยีมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ และการให้บริการประชาชน เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมประกันภัยของไทยให้ก้าวไกล และพร้อมขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางของนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีประกันภัย หรือ “InsurTech Startup Hub” ในอนาคต ในการนี้ จึงเป็นที่มาของการปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดงาน สัปดาห์ประกันภัย มาเป็น Thailand InsurTech Fair ครั้งแรกของประเทศไทย เป็นการจัดงานในรูปแบบ Virtual Event เต็มรูปแบบ ระหว่างวันที่ 26-30 ตุลาคม 2564 ซึ่งคาดว่าจะมีผู้เข้าชมง่านผ่านออนไลน์ประมาณ 50,000 ราย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image