“พณ.”โชว์ตัวเลขส่งออกก.ย.ยังบวก 17% “จุรินทร์” แจง5ปัจจัยหนุน เอกชนห่วงน้ำมันแพง-ค่าบาทแข็ง

“พณ.”โชว์ตัวเลขส่งออกก.ย.ยังบวก 17% “จุรินทร์” แจง5ปัจจัยหนุน เอกชนห่วงน้ำมันแพง-ค่าบาทแข็ง

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกของไทยเดือนกันยายน 2564 มีมูลค่า 23,036.0 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว17.1% (ประมาณ 760,556 ล้านบาท หรือบวก 24.40%) หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัว 14.8% ทำให้การส่งออก 9 เดือนแรก 2564 ขยายตัว 15.5% และมูลค่ารวม 199,997 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นเงินบาท 6.2 ล้านล้านบาท หรือบวก 14.99% เมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัว 20.4 % ขณะที่การนำเข้าเดือนกันยายน 2564 มีมูลค่า 22,426 ล้านเหรียญสหรัฐ บวก 30.31% (ประมาณ 7.5 แสนล้านบาท บวก 38.35%) ทำให้ 9 เดือนแรกปีนี้นำเข้ารวม 197,980 ล้านเหรียญสหรัฐ บวก 30.90% (ประมาณ 6.2 ล้านล้านบาท บวก 30.52%) โดยไทยได้ดุลการค้าเดือนกันยายน 609.8 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 10,289 ล้านบาท) 9 เดือนได้ดุลการค้า 2,017 ล้านเหรียญสหรัฐ (เทียบปีก่อนขาดดุลรวม 24,620 ล้านบาท )

นายจุรินทร์ กล่าวว่า การส่งออกในเดือนกันยายนเพิ่มขึ้นทั้งการส่งออกในหมวดสินค้าเกษตร สินค้าอุตสาหกรรมเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรม โดยสินค้าเกษตรส่งออกบวก 12.9% ทำรายได้เข้าประเทศรวม 64,831 ล้านบาท และ 9 เดือนแรกขยายบวก 24.7% ทำเงินเข้าประเทศ 611,907 ล้านบาท สินค้าเกษตรสำคัญมี 5 ตัว ได้แก่ ยางพารา บวก 83.6% ลำไยสด บวก73.8% มะม่วงสด บวก 55.9% มันสำปะหลัง บวก 44.4% ข้าว บวก33.8% ส่วนสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรโดยรวมบวก 11.3% มูลค่า 56,589 ล้านบาท สินค้าเด่นคือผลไม้กระป๋องและผลไม้แปรรูป บวก 29.3% โดยเฉพาะสับปะรดกระป๋อง บวก 118.3% ผลไม้รวมกระป๋อง บวก 100.6% และมะม่วงกระป๋อง บวก 60.7% และสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยง เป็นพระเอกมาโดยตลอด บวก 23.6% สินค้าอุตสาหกรรมโดยภาพรวมบวก 15.8% มูลค่า 608,317 ล้านบาท สินค้าขยายตัวดี คือ สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน บวก 61% เหล็กและผลิตภัณฑ์จากเหล็ก บวก 38.8% เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ บวก 32.8% รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ บวก 4.9% สำหรับตลาดส่งออกส่วนใหญ่เป็นบวก โดยเฉพาะตลาดใหม่ฟื้นตัวดี อาทิ เอเชียใต้ บวก 69% รัสเซียและกลุ่มประเทศ CISบวก 42.5% แอฟริกาบวก30.2% ตะวันออกกลาง บวก 17.4% ลาตินอเมริกา บวก 10.1%

นายจุรินทร์ กล่าวว่า ปัจจัยที่ทำให้การส่งออกเดือนกันยายนยังดีและเป็นบวกถึง 17.1% ทั้งที่ไทยประสบกับปัญหาโควิดและปัญหาภาคการผลิตล็อกดาวน์ในช่วงที่ผ่านมา ได้แก่ 1. แผนงานส่งเสริมการส่งออกที่กำหนดไว้เป็นรูปธรรม 130 กิจกรรมช่วงครึ่งปีหลัง2564 บรรลุผลและเป็นการทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพของกระทรวงพาณิชย์กับภาคเอกชนและส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการเจรจาเปิดตลาดใหม่ทั้ง ตลาดตะวันออกกลาง ตลาดแอฟริกาหรือลาตินอเมริกา ประสบความสำเร็จ และที่สำคัญ คือ การที่กระทรวงพาณิชย์จับมือกับภาคเอกชน เร่งรัดการแก้ปัญหาสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมทั้งตู้คอนเทนเนอร์ การแก้ปัญหาด่านชายแดนไทย-เวียดนาม ไทย-จีน เป็นต้น รวมทั้งการเร่งรัดการเปิดด่านที่สำเร็จ
2.ภาวะเศรษฐกิจโลกเริ่มดีขึ้น WTO คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ว่าขนาดจีดีพี บวก 8% แต่ประเมินใหม่เพิ่มเป็น 10.8% รวมถึงในประเทศมีการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ การใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ และการเตรียมเปิดประเทศ ในหลายประเทศช่วยการส่งออกไทยโตตามไปด้วย 3.ค่าเงินบาทยังอ่อนกว่าปีก่อนช่วยทำให้สินค้าไทยสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ดีขึ้น 4.ราคาน้ำมันดิบเพิ่มขึ้น แต่มี 2 มุม แง่ลบคือทำให้ต้นทุนการผลิตแพงขึ้น แต่ก็ทำให้สินค้าส่งออกสินค้าเกี่ยวข้องกับน้ำมัน มีมูลค่าเพิ่มขึ้นด้วย 5.ศักยภาพภาคเอกชนไทยเข้มแข็ง ทำให้ภาคการผลิตด้านอุตสาหกรรมฟื้นตัวเร็ว แม้เจอกับภาวะการล็อกดาวน์และโควิด ดูได้จากตัวเลขการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าทุนเครื่องจักรต่างๆในช่วงเดือนกันยาบวกถึง 33% จะดีต่อการส่งออกในอนาคต และทำให้กระทรวงพาณิชย์มั่นใจต่อการส่งออกดีขึ้นจากนี้

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานหอการค้าไทย และนายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป เปิดเผยว่า ทิศทางการส่งออกยังดี เพราะหลายประเทศฟื้นตัวจากโควิด และเตรียมนำเข้าเพื่อฉลองปีใหม่ ซึ่งจะมีผลต่อตัวเลขการส่งออกในช่วงกันยายน-พฤศจิกายนดีขึ้น และส่งผลให้การส่งออกไทยปีนี้ขยายตัวเกิน 2 หลักได้ แต่อย่างไรก็ตาม ที่กังวลคือต้นทุนส่งออกยังสูงทั้งจากค่าระวางเรือ ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงสูงขึ้น และค่าเงินบาทเริ่มแข็งค่า อาจมีผลกระทบต่อการส่งออกจากนี้

Advertisement

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมคณะกรรมการร่วม(กกร.) ได้มีการประเมินการส่งออกทั้งปี 2564 ไว้ว่า จะโตได้ 12% ดูจาก 9 เดือนแรกปีนี้ขยายตัวเลข 15.5%

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image