สกพอ. ผนึก 3 แบงก์รัฐ เปิดตัวสินเชื่อดอกเบี้ยพิเศษ ส่งเสริมการลงทุนในอีอีซี

สกพอ. ผนึก 3 แบงก์รัฐ เปิดตัวสินเชื่อดอกเบี้ยพิเศษ ส่งเสริมการลงทุนในอีอีซี

เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2564 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ สกพอ.ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ การส่งเสริมการลงทุนและบริการทางการเงินเพื่อพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) กับธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เพื่อเป็นช่องทางสนับสนุนแหล่งเงินทุน แก่นักลงทุน ผู้ประกอบการ และประชาชนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก กว่า 1.7 แสนราย ซึ่งมีภาคประชาชน 1.3 แสนราย ธุรกิจขนาดเล็ก 34,000 ราย ขนาดกลาง 4,000 ราย และขนาดใหญ่ 2,000 ราย ให้บรรเทาผลกระทบจากระบาดของโควิด และมีเงินทุนสำหรับใช้ลงทุน หรือนำไปพัฒนาปรับเปลี่ยนธุรกิจเพิ่มเติม

 

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า ธนาคารออมสินได้จัด 2 โครงการ ซึ่งคาดว่าจะช่วยสนับสนุนแหล่งเงินได้ไมต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาท ได้แก่ สินเชื่อ จีเอสบี สมูธ บิส ฟอร์ม อีอีซี เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนหรือลงทุนในสินทรัพย์ถาวร อัตราดอกเบี้ยคงที่ 2 ปีแรก 2.99% ต่อปี ระยะเวลากู้สูงสุด 10 ปี วงเงินกู้สูงสุด 20 ล้านบาท และ สินเชื่อ เอสเอ็มอี มีที่ มีเงิน เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนของกิจการเอสเอ็มอี หรือนำไปไถ่ถอนสัญญาขายฝาก ให้กู้โดยพิจารณาจากที่ดินซึ่งเป็นหลักประกัน วงเงินกู้สูงสุด 70% ของราคาประเมินราชการ ไม่ตรวจเครดิตบูโร อัตราดอกเบี้ยคงที่ 5.99% ตลอดสัญญา

Advertisement

สำหรับกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย เช่น ผู้ประกอบอาชีพค้าขาย งานบริการและผลิตสินค้าอุปโภคเพื่อจำหน่าย ได้แก่ สินเชื่อประชาชนสุขใจ สำหรับกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการประกอบธุรกิจ หรือใช้ปลดภาระหนี้นอกระบบ ให้วงเงินกู้สูงสุด 200,000 บาท อัตราดอกเบี้ย 1% ต่อเดือน Flat Rate ระยะเวลากู้สูงสุด 10 ปี โดย บสย.ค้ำประกันเต็มวงเงิน นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังสามารถเลือกใช้บริการสินเชื่ออื่น ตามมาตรการช่วยเหลือต่าง ๆ ได้ตามความประสงค์ อาทิ สินเชื่อดอกเบื่อต่ำสำหรับ เอสเอ็มอี ท่องเที่ยวและธุรกิจเกี่ยวเนื่อง สินเชื่อซอฟต์โลน ของ ธนาคารแห่งประเทสไทย (ธปท.) เพื่อฟื้นฟูกิจการ สินเชื่อสู้ภัย โควิด-19 และ สินเชื่ออิ่มใจ เป็นต้น

Advertisement

นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการของเอ็กซิมแบงก์ กล่าวว่า แพ็กเกจทางการเงินในโครงการนี้ ได้แก่ สินเชื่อ เอ็กซิม อีอีซี พลัส เป้าหมายวงเงิน 1,000 ล้านบาท เป็นวงเงินหมุนเวียนและเงินกู้ระยะยาว สำหรับผู้ประกอบการในทุกขนาดธุรกิจและทุกอุตสาหกรรมที่ต้องการลงทุนในอีอีซี หรือต้องการปรับปรุงเครื่องจักร โรงงาน ระบบซอฟต์แวร์ดิจิทัล โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ และอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อัตราดอกเบี้ยต่ำสุด 2% ต่อปี วงเงินสูงสุด 100 ล้านบาท ระยะเวลาผ่อนชำระสูงสุด 10 ปี

ด้านนางวสุกานต์ วิศาลสวัสดิ์ รักษาการผู้จัดการทั่วไป บสย.กล่าวว่า บสย.ให้บริการธุรกรรมทางการเงิน เช่น บริการ บสย. ค้ำประกันให้ลูกค้าในโครงการสินเชื่อ เอ็กซิม บิส ทรานฟอร์เมชัน โลน และบริการ บสย. ค้ำประกันให้ลูกค้าในโครงการสินเชื่อประชาสุขใจ สำหรับพื้นที่ อีอีซี เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนประกอบธุรกิจ ทดแทนการกู้ยืมเงินนอกระบบ และยังมีมาตรการลดค่าธรรมเนียมการค้ำประกัน ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนให้ผู้ประกอบการให้มีค่าใช้จ่ายลดลงอีกด้วย โดยปัจจุบัน บสย. มีวงเงินค้ำประกันอยู่เหลือ 40,000 ล้านบาท และสำหรับผู้ประกอบการรายย่อย 7,000 ล้านบาท

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image