‘แบงก์ชาติ’ เตือนคนไทยหนี้ท่วม ไม่มีเงินสำรองถ้าหยุดงาน 3 เดือน

‘แบงก์ชาติ’ เตือนคนไทยหนี้ท่วม ไม่มีเงินสำรองถ้าหยุดงาน 3 เดือน

นางสาวนวพร มหารักขกะ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายบริหารความเสี่ยงองค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท. ร่วมกับ สำนักงานสถิติแห่งชาติในการสำรวจระดับทักษะทางการเงินของคนไทยตามกรอบของ The Organization for Economic Co-operation and Development (OECD) เป็นครั้งที่ 8 ครอบคลุมกลุ่มตัวอย่างทุกจังหวัดทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 11,901 ครัวเรือน เพื่อเป็นข้อมูลในการพัฒนาทักษะทางการเงินของคนไทย และสร้างภูมิคุ้มกันทางการเงินที่ดี

ภาพรวมผลการสำรวจปี 2563 พบว่าคนไทยมีพัฒนาการระดับทักษะทางการเงินดีขึ้นอยู่ที่ 71% สูงกว่าการสำรวจครั้งก่อนในปี 2561 อยู่ที่ 66.2% และสูงกว่าค่าเฉลี่ยการสำรวจทักษะทางการเงิน
ครั้งล่าสุดของ OECD ในปี 2563 อยู่ที่ 60.5% เมื่อพิจารณาองค์ประกอบของทักษะทางการเงินทั้ง 3 ด้าน พบว่าคนไทยมีพัฒนาการดีขึ้นในทุกด้าน โดยความรู้ทางการเงินอยู่ที่ 62.9% ในปี 2561 อยู่ที่ 55.7% ปรับตัวดีขึ้นในทุกหัวข้อ แต่ยังมีหัวข้อที่สามารถพัฒนาและส่งเสริมเพิ่มเติม ได้แก่ การคำนวณดอกเบี้ยเงินฝากทบต้น การกระจายความเสี่ยงในการลงทุน และมูลค่าของเงินตามกาลเวลา

ด้านพฤติกรรมทางการเงินอยู่ที่ 71.1% ในปี 2561 อยู่ที่ 67.8% โดยหัวข้อการจัดสรรเงินก่อนใช้และศึกษาข้อมูลจากแหล่งที่น่าเชื่อถือมีคะแนนเพิ่มขึ้นมาก อย่างไรก็ดี หัวข้อการบริหารจัดการเงินเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาเงินไม่พอใช้มีคะแนนลดลง ขณะที่ด้านทัศนคติทางการเงินอยู่ที่ 82% ในปี 2561 อยู่ที่ 78.0%พัฒนาการดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะทัศนคติในเรื่องการวางแผนเพื่ออนาคตในระยะยาวเป็นหัวข้อที่มีพัฒนาการจากปี 2561 มากที่สุด ซึ่งความไม่มั่นคงทางรายได้จากวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 น่าจะมีส่วนทำให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญในการเตรียมพร้อมรับมือกับเหตุการณ์ในอนาคตมากขึ้น

Advertisement

สำหรับการสำรวจทัศนคติและพฤติกรรมการออม พบว่าสัดส่วนผู้มีเงินออมในกลุ่มตัวอย่างเพิ่มขึ้นเป็น 74.7% ในปี 2561 อยู่ที่ 72.0% และคนส่วนใหญ่มีความตระหนักเรื่องการออมเงินเพื่อใช้ในยามฉุกเฉิน และการออมเพื่อการเกษียณ ซึ่งการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 น่าจะเป็นสาเหตุที่ทำให้ประชาชนตระหนักถึงความจำเป็นของการเก็บเงินสำรองมากขึ้น อย่างไรก็ดี มีเพียง 38% ที่มีเงินสำรองอยู่ได้เกิน 3 เดือนหากต้องหยุดงานกะทันหัน แสดงให้เห็นว่ายังมีความจำเป็นต้องส่งเสริมการออมให้บรรลุเป้าหมาย ทั้งนี้ แรงจูงใจสำคัญในการออมมาจากการมีเป้าหมายหรือแผนที่ชัดเจนที่จะต้องใช้เงินในอนาคต แต่มีเพียง 19.7% ที่จัดสรรเงินเพื่อออมก่อนนำเงินไปใช้จ่ายจึงอาจเป็นเหตุผลที่ทำให้เป้าหมายการออมไม่สำเร็จ

“จากสถานการณ์โควิด ความเปราะบางทางเงินของคนไทยสะท้อนจากตัวเลขหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้น รวมไปถึงตัวเลขการขอปรับโครงสร้างหนี้ อย่างไรก็ตามจากการสำรวจในครั้งนี้ก็ได้สะท้อนว่าคนกว่า 62% ไม่มีเงินสำรองหากต้องหยุดงาน 3 เดือน ซึ่งมีความเปราะบางมากทีเดียว” นางสาวนวพร กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image