สศค. เผยภาวะเศรษฐกิจการคลัง ก.ย.64 สัญญาณดีขึ้น หลังรัฐบาลผ่อนคลายมาตรการ

สศค. เผยภาวะเศรษฐกิจการคลัง ก.ย.64 สัญญาณดีขึ้น หลังรัฐบาลผ่อนคลายมาตรการ

นายวุฒิพงศ์ จิตตั้งสกุล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า ภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนกันยายน 2564 มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ตามการบริโภคภาคเอกชนที่ปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) มีทิศทางดีขึ้นต่อเนื่อง ประกอบกับการส่งออกสินค้าขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7

นายวุฒิพงศ์ กล่าวว่า โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยการบริโภคสินค้าคงทน สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งและปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ในเดือนกันยายน 2564 หดตัวในอัตราชะลอลงที่ -13.5 และ -16.9% ต่อปี ตามลำดับ และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลเพิ่มขึ้น 58.1 และ 18.7% ตามลำดับ สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาที่ระดับ 41.4 จากระดับ 39.6 ในเดือนสิงหาคม 2564 โดยเป็นผลมาจากภาครัฐได้ผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด -19 ส่งผลให้ประชาชนและภาคธุรกิจมีการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มมากขึ้น ขณะที่การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ยังคงขยายตัวที่ 8.6% ต่อปี ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้าที่เพิ่มสูงขึ้นตามมูลค่าการนำเข้าสินค้า อย่างไรก็ดีรายได้เกษตรกรที่แท้จริงลดลงที่ -5.3% ต่อปี

นายวุฒิพงศ์ กล่าวว่า เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชน มีสัญญาณทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า โดยการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณนำเข้าสินค้าทุน ในเดือนกันยายน 2564 ขยายตัวที่ 13.5% ต่อปี แต่ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ -2.1% ขณะที่การจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ หดตัวในอัตราชะลอลงที่ -20.2% ต่อปี และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลเพิ่มขึ้น 38.7% สำหรับการลงทุนในหมวดการก่อสร้าง สะท้อนจากปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศ ในเดือนกันยายน 2564 ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ –9.5% ต่อปี และลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ -3.3% ขณะที่ภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์หดตัวในอัตราชะลอลงที่ -6.0% ต่อปี และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ 3.4%

Advertisement

นายวุฒิพงศ์ กล่าวว่า มูลค่าการส่งออกสินค้าขยายตัวต่อเนื่องจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า มูลค่าการส่งออกสินค้ารวมในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ ในเดือนกันยายน 2564 อยู่ที่ 23,036.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ติดต่อกันที่ 17.1% ต่อปี และหากพิจารณาเฉพาะมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ไม่รวมน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย พบว่า ขยายตัว 14.8% ต่อปี โดยสินค้าที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ 1.สินค้าเกษตรและอาหาร 2.สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน 3. สินค้าที่เกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาด 4.สินค้าขั้นกลางหรือสินค้าวัตถุดิบ และ 5. สินค้ารถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ

นายวุฒิพงศ์ กล่าวว่า เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยด้านอุปทาน ส่งสัญญาณปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยภาคเกษตร สะท้อนจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร ในเดือนกันยายน 2564 ขยายตัวที่ 4.9% ต่อปี จากการเพิ่มขึ้นของผลผลิตสำคัญ ได้แก่ ยางพารา มันสำปะหลัง และข้าวโพด อย่างไรก็ดี หากเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลลดลงที่ -2.7% สำหรับภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม ในเดือนกันยายน 2564 หดตัวในอัตราชะลอลงที่ -1.3% ต่อปี และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ 8.0% สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 79.0 จากระดับ 76.8 ในเดือนสิงหาคม 2564 ซึ่งเป็นการปรับตัวดีขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 6 เดือน

นายวุฒิพงศ์ กล่าวว่า ส่วนบริการด้านการท่องเที่ยว ในเดือนกันยายน 2564 มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติจากโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ และอื่น ๆ รวมถึงนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่ได้รับการตรวจลงตราประเภทนักท่องเที่ยว รวมถึงกลุ่มนักท่องเที่ยวสมาชิกสิทธิพิเศษ นักธุรกิจ กลุ่มสุขภาพที่เข้ามารับบริการทางการแพทย์รวม 12,237 คน สำหรับจำนวนผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย ในเดือนกันยายน 2564 อยู่ที่ 2,198,337 คน

Advertisement

นายวุฒิพงศ์ กล่าวว่า เสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนกันยายน 2564 อยู่ที่ 1.68% ต่อปี ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 0.19% ต่อปี ส่วนสัดส่วนหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2564 อยู่ที่ 57.% ต่อจีดีพี ซึ่งยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลัง สำหรับเสถียรภาพภายนอกยังอยู่ในระดับที่มั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2564 อยู่ในระดับสูงที่ 244.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image