‘กสทช.’ ไม่ปล่อย เข้มโทษทางปกครองผู้ให้บริการเนื้อหา ปล่อย ‘SMS’ ลวง ว่อน!

‘กสทช.’ ไม่ปล่อย เข้มโทษทางปกครองผู้ให้บริการเนื้อหา ปล่อย ‘SMS’ ลวง ว่อน!

สำนักงาน กสทช.ยกระดับมาตรการจัดการปัญหา SMS หลอกลวง เข้มลงโทษทางปกครองกับผู้ให้บริการเนื้อหาที่ปล่อยให้มี SMS หลอกลวงส่งไปยังประชาชน พร้อมส่งเรื่องให้ บช.สอท.ดำเนินคดีตามกฎหมายกับมิจฉาชีพ ส่วน ก.ดีอีเอส จะดำเนินการเอาผิดกับมิจฉาชีพตาม พ.ร.บ.คอมพ์

เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ร่วมกับสำนักงาน กสทช. ผู้แทนจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) และผู้ประกอบการโทรคมนาคม ได้ประชุมหารือเพื่อติดตามและกำกับดูแลกรณีมิจฉาชีพส่งข้อความสั้น (เอสเอ็มเอส) หลอกลวงประชาชน การชักชวนเล่นพนันออนไลน์ และลามกอนาจาร

นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช.) เปิดเผยว่า จากการประชุมติดตามและกำกับดูแลกรณีมิจฉาชีพส่งข้อความสั้น (เอสเอ็มเอส) หลอกลวงประชาชน การชักชวนเล่นพนันออนไลน์ และลามกอนาจาร ที่ประชุมได้ข้อสรุปที่จะยกระดับมาตรการในการดำเนินการจัดการปัญหา เอสเอ็มเอสหลอกลวงเพิ่มขึ้นอีกระดับหนึ่ง โดยสำนักงาน กสทช.ได้กำหนดมาตรการเกี่ยวกับเนื้อหาของข้อความ และการกำหนดชื่อ Sender name ซึ่งจะเริ่มจากต้นทางของการส่งเอสเอ็มเอสจากผู้ให้บริการเนื้อหา ดังนี้

Advertisement

1.ผู้ให้บริการเนื้อหาต้องมีระบบยืนยันตัวตนของลูกค้าที่มาซื้อเอสเอ็มเอสที่ชัดเจน และตรวจสอบได้

2.ข้อความในเอสเอ็มเอส และชื่อ Sender name ต้องไม่ให้ลูกค้ากำหนดเองได้โดยอิสระ แต่ต้องแจ้งผ่านผู้ให้บริการทราบก่อน

3.การกำหนด Sender name ต้องไม่มีลักษณะเป็นเลขหมายโทรศัพท์

Advertisement

4.หากชื่อ Sender name ตรงกับหรือคล้ายกับชื่อบริษัท หน่วยงาน หรือเครื่องหมายการค้า ทางผู้ให้บริการสามารถขอเอกสารจากลูกค้าในการรับรอง หรือการได้รับความยินยอมให้ใช้ชื่อจากเจ้าของชื่อบริษัท หน่วยงาน หรือเครื่องหมายทางการค้านั้นๆ ได้

5.ข้อความไม่ควรมี link เพื่อป้องกันไม่ให้ใช้เป็นเครื่องมืออำนวยความสะดวกต่อการกระทำผิด

นายไตรรัตน์กล่าวว่า สำหรับแนวปฏิบัติในการรวบรวมข้อมูล และการดำเนินการกรณีพบข้อความที่ผิดกฎหมายที่จะใช้ในการดำเนินการของผู้ให้บริการโทรคมนาคม กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) และสำนักงาน กสทช.นั้น สำนักงานกำหนดให้ 1.ผู้ให้บริการต้องส่งรายชื่อ Sender name ให้สำนักงาน กสทช.รวบรวม 2.หากทางตำรวจต้องการข้อมูลของผู้ส่งข้อความจาก Sender name ที่กระทำผิดกฎหมายจะได้ประสานสำนักงาน กสทช. เพื่อขอข้อมูลผู้ให้บริการที่เป็นต้นทางการส่งข้อความดังกล่าวก่อนออกหมายฯ เพื่อขอข้อมูลส่งข้อความ ไปยังผู้ให้บริการ 3.สำนักงาน กสทช.จะแจ้งผู้ให้บริการทราบกรณีการขอหมายฯ จากตำรวจเพื่อให้ผู้ให้บริการเตรียมข้อมูล โดยเมื่อผู้ให้บริการได้รับหมายแล้วจะต้องให้ข้อมูลแก่ตำรวจโดยไม่ชักช้า

สำหรับแนวปฏิบัติในการรวบรวมข้อมูล และการดำเนินการกรณีพบข้อความที่ผิดกฎหมาย ในระหว่างที่รอหมายจากตำรวจ สำนักงาน กสทช.และผู้ให้บริการจะดำเนินการระงับการส่งข้อความ (เอสเอ็มเอส) จาก Sender name นั้นโดยเร็ว และผู้ให้บริการต้องตักเตือนลูกค้าของตนให้ทราบถึงการกระทำที่ผิดกฎหมายดังกล่าว ซึ่งหากยังมีพฤติกรรมเช่นเดิมอีกจะมีมาตรการที่เข้มงวดขึ้น ในกรณีที่เป็นการส่งข้อความ (เอสเอ็มเอส) ข้ามโครงข่าย ให้ผู้ให้บริการปลายทางแจ้งผู้ให้บริการต้นทางที่ส่งเอสเอ็มเอสรับทราบปัญหา โดยให้ผู้บริการต้นทางระงับการส่งภายใน 24 ชั่วโมง ทั้งนี้ ประเด็นที่สำนักงาน กสทช. ผู้ประกอบการโทรคมนาคม จะต้องพิจารณาดำเนินการต่อไป ได้แก่ 1.แนวทางการจัดทำ White List Sender 2.แนวที่ให้ผู้ส่งข้อความให้ความยินยอมที่จะให้ตรวจข้อความที่ส่ง กรณีมีผู้ร้องเรียน 3.แนวทางการดำเนินการสำหรับข้อความที่เป็นการโฆษณา ทั้งนี้ เพื่อให้การแก้ไขปัญหาเอสเอ็มเอสหลอกลวงสำเร็จได้

นายไตรรัตน์กล่าวว่า ในส่วนของการลงโทษสำนักงาน กสทช.จะออกคำสั่งทางปกครองกับผู้ให้บริการเนื้อหาที่ไม่ให้ความร่วมมือในการแก้ปัญหาเอสเอ็มเอสหลอกลวง ที่ยังปล่อยให้มีเอสเอ็มเอสหลอกลวงส่งไปยังประชาชน โดยจะมีคำสั่ง ตักเตือน ปรับ พักใบอนุญาต จนถึงเพิกถอนใบอนุญาต ตามข้อเท็จจริง สำหรับการดำเนินคดีกับมิจฉาชีพ กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) ซึ่งมีความเชี่ยวชาญและชำนาญในเรื่องดังกล่าว จะรับผิดชอบในการดำเนินการเอาผิดและดำเนินคดีกับมิจฉาชีพ สำหรับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) จะใช้ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560 ในการดำเนินการกับมิจฉาชีพที่ทำการส่งข้อความ อีเมล์ หรือใช้วิธีการใดก็ตามเพื่อหลอกลวงประชาชนผ่านทางออนไลน์

อย่างไรก็ตาม สำนักงานยังคงขอให้ประชาชนระมัดระวังอย่าหลงเชื่อข้อความจากเอสเอ็มเอสโดยง่าย อย่ากรอก Username Password ที่ใช้ในการทำธุรกรรมต่างๆ กับธนาคารในลิงก์ที่ส่งมากับเอสเอ็มเอส หรืออย่าให้ข้อมูลส่วนตัว เช่น บัตรประชาชน ไปกับคนที่โทรมาสอบถามข้อมูลทางโทรศัพท์ง่ายๆ ควรตรวจสอบที่มาของเอสเอ็มเอส หรือหน่วยงานที่โทรศัพท์เข้ามาให้แน่ใจก่อน เพื่อระมัดระวังไม่ให้ข้อมูลเหล่านี้ตกไปอยู่ในมือมิจฉาชีพที่จะเอาข้อมูลส่วนตัวของเราไปใช้ทำธุรกรรม ขโมยเงินของเรา หรือนำไปก่อความเสียหายได้

“สำนักงานมองว่าความร่วมมือในครั้งนี้ของสำนักงาน กสทช. ดีอีเอส บช.สอท. และผู้ประกอบการโทรคมนาคมทุกรายที่มุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาเอสเอ็มเอส และโทรศัพท์หลอกลวง จะทำให้การแก้ไขปัญหามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ หากประชาชนประสบปัญหา หรือต้องการแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับเอสเอ็มเอส และโทรศัพท์หลอกลวง สามารถแจ้งมายัง Call Center สำนักงาน กสทช. หมายเลขโทรศัพท์ 1200 (โทรฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย) หรือแจ้งไปยัง Call Center ของค่ายมือถือที่ท่านใช้บริการอยู่ หรือหมายเลขโทรศัพท์ที่แต่ละค่ายมีไว้เพื่อรับข้อมูลเรื่องเอสเอ็มเอส และโทรศัพท์หลอกลวงโดยเฉพาะ” นายไตรรัตน์กล่าว

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image