‘เฉลิมชัย’ ชูเปลี่ยนโฉมเกษตรไทย ฟุ้งเข็นจีดีพีเกษตรแตะ 20% หลุดพ้นกับดักความยากจน

‘เฉลิมชัย’ ชูแนวคิดเกษตรไทยต้องเปลี่ยนโฉม ฟุ้งเข็นจีดีพีเกษตรแตะ 20% หลุดพ้นกับดักความยากจน

เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวปาฐกถาพิเศษ ในงานสัมมนาวิชาการ Disruptive Change เกษตรไทย ต้องเปลี่ยนโฉม จัดโดยสมาคมเศรษฐศาสตร์เกษตรแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ว่า ภาคเกษตร เป็นภาคการผลิตที่มีบทบาทสำคัญ และมีความเชื่อมโยงกับการพัฒนาประเทศในหลายมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เป็นแหล่งรองรับแรงงานที่สำคัญ และเป็นแหล่งวัตถุดิบหรือต้นน้ำของอุตสาหกรรมต่างๆ รวมถึงเป็นรากฐานของการสร้างความมั่นคงทางอาหารของประเทศและของโลก อย่างไรก็ตาม ยังมีความท้าทายหลายประการ ที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันแก้ไขปัญหา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรภาคเกษตรไปสู่สังคมผู้สูงอายุ ความผันผวนของสภาพภูมิอากาศ การขาดองค์ความรู้ ความเข้าใจด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม เกษตรกรยังไม่สามารถเข้าถึงช่องทางการตลาดใหม่ ๆ ได้ รวมถึงกฎระเบียบและมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศที่เข้มงวดมากขึ้น ซึ่งถือเป็นความท้าทายของภาคเกษตรที่ต้องเผชิญ

นายเฉลิมชัย กล่าวว่า กระทรวงเกษตรฯ จึงให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ในการเดินหน้าผลักดันให้เกษตรกรไทยสามารถประกอบอาชีพเกษตรกรรมได้อย่างมั่นคง และหลุดพ้นจากความยากจน อย่างไรก็ตาม การทำงานจากนี้ต้องบูรณาการร่วมกัน 3 ฝ่าย คือ เกษตรกร ภาครัฐ และภาคเอกชน มีการนำเทคโนโลยี และนวัตกรรมมาใช้ในการเกษตร การผลักดันนโยบายตลาดนำการผลิต ทั้งหมดนี้จะสามารถปรับโฉมเกษตรของไทยได้ ที่สำคัญคือการสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร และการดึงคนรุ่นใหม่เข้ามาอยู่ในภาคเกษตร ที่จะเป็นแรงขับเคลื่อนในการผลักดันจีดีพีภาคเกษตรได้ต่อไป ภายใต้จุดมุ่งหมายการสร้างความมั่นคงในอาชีพเกษตรกรรมด้วยแนวคิดวิสัยทัศน์ Disruptive Change เกษตรไทยต้องเปลี่ยนโฉม

นายเฉลิมชัย กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม แม้ว่าภาคเกษตรจะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 น้อยที่สุด แต่ภาคเกษตรต้องมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างภาคเกษตรในอนาคต ซึ่งยอมรับว่าแรงงานภาคเกษตรมีจำนวนประชากรที่เกี่ยวข้องมากถึง 30 ล้านคน แต่จีดีพีภาคเกษตรมีสัดส่วนแค่ 8% เท่านั้น ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรในประเทศที่เกี่ยวข้อง ดังนั้นจำเป็นจะต้องผลักดันจีดีพีภาคเกษตรให้เพิ่มขึ้น เพราะหากผลักดันจีดีพีภาคเกษตรได้ถึงสัดส่วน 20% ก็จะเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงทั้งนโยบาย งบประมาณ และการพัฒนา ที่จะทำให้เกษตรกรมีรายได้ที่มั่นคงและยั่งยืน

Advertisement

ด้าน นายทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า การปรับตัวของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์นับจากนี้จะต้องก้าวไปสู่ Next normal 2022 โดยต้องปรับการทำงานของบุคลากรในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ คือฟันเฟืองสำคัญ เพื่อให้สอดรับกับบริบทที่จะเปลี่ยนแปลงไปในอนาคตเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ การทำงานสามารถถ่ายทอดจากศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) 882 ศูนย์ และศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (เอไอซี) และสถาบันการศึกษาที่มีอยู่ทั้ง 77 จังหวัด

“กระทรวงเกษตรฯ เน้นการสร้างเซอร์วิสมายในการบริการ เพราะเกษตรกรคือลูกค้าคนสำคัญ บุคลากรต้องเป็นสมาร์ทออฟฟิศ มีความรอบรู้ สามารถประยุกต์ใช้องค์ความรู้เพื่อถ่ายทอดให้กับเกษตรกรด้วยช่องทางที่หลากหลาย มีการพัฒนากระบวนการทำงานด้วยเทคโนโลยี สร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เปิดโอกาสให้เกษตรกรมีส่วนร่วมในด้านต่างๆ โดยเฉพาะงานวิจัย ตลอดจนถ่ายทอดงานวิจัยไปสู่เกษตรกร อาทิ การใช้พื้นที่จริงหรือฟาร์มของเกษตรกรเป็นแปลงทดลองหรือพื้นที่ศึกษาวิจัย เกษตรกรรายย่อยสามารถนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น” นายทองเปลว กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image