สกู๊ปหน้า 1 : โบกมือลา ‘หัวลำโพง’ พลิกตำนาน 105 ปี

สกู๊ปหน้า 1 : โบกมือลา ‘หัวลำโพง’ พลิกตำนาน 105 ปี

รอชมปรับโฉมใหม่ ใกล้ถึงเวลากล่าวคำร่ำลาตำนาน 105 ปี
สถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) ที่ถือเป็นศูนย์กลางการคมนาคม และเป็นหนึ่งแลนด์มาร์กของประเทศไทยอย่างสมบูรณ์แล้ว เนื่องจากสถานีกลางบางซื่อจะเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในเดือนพฤศจิกายนนี้แล้ว จากนโยบายของกระทรวงคมนาคม ต้องการให้รถไฟทุกขบวน โดยเฉพาะรถไฟทางไกล ปรับเส้นทางให้สิ้นสุดจากเดิมสถานีหัวลำโพง เป็นสถานีปลายทางที่สถานีกลางบางซื่อแทน จึงต้องพลิกโฉม “หัวลำโพง” ใหม่

ทางกระทรวงคมนาคมเห็นว่าหากรถไฟไม่ต้องวิ่งให้บริการไปยังสถานีหัวลำโพงแล้ว จะช่วยแก้ปัญหาการจราจรติดขัดบนถนน ใช้ประโยชน์จากสถานีกลางบางซื่อให้คุ้มค่า สมกับที่ได้ลงทุนไปจำนวนมาก เพื่อเป็นศูนย์กลางของการขนส่งใหญ่ระดับอาเซียน

ในช่วงแรกที่มีการประกาศปิดสถานีหัวลำโพง “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มอบหมายให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) พิจารณาในส่วนของทางรถไฟจากบางซื่อไปหัวลำโพง ว่าจะสามารถพัฒนาหรือทำกิจกรรมใดเพื่อคืนประโยชน์ให้แก่สังคมและประชาชนได้อย่างไร เนื่องจากที่ผ่านมาประชาชนได้รับผลกระทบทางเสียงของรถไฟมานาน

อีกทั้งให้โจทย์ศึกษาการใช้ประโยชน์สถานีหัวลำโพง โดยพัฒนาและคงความเป็นแลนด์มาร์กสำคัญของประเทศไว้ดังเดิม จากโจทย์ดังกล่าว ในช่วงแรกของการเตรียมปิดสถานีหัวลำโพง มีการระดมความเห็นจากคณะนักวิจัยจาก 5 สถาบัน ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร และสถาบันอาศรมศิลป์ ที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมกันศึกษา โครงการอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่สถานีรถไฟลำโพง ผลวิจัยจะฉายภาพว่าถ้าคนไทยมาใช้ประโยชน์ในพื้นที่และอาคารต่างๆ บริเวณสถานีหัวลำโพง ควรออกแบบให้เป็นพื้นที่แบบไหน ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของหัวลำโพงจะเป็นเช่นไร

Advertisement

แนวทางพัฒนาสถานีรถไฟหัวลำโพงจากผลวิจัยระยะที่ 1 คณะนักวิจัยหลายสถาบันต่อยอดสู่การศึกษาเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาสภาพแวดล้อมทางกายภาพของพื้นที่สถานีรถไฟ จนได้ข้อเสนอลักษณะการใช้งานและประโยชน์ของพื้นที่และอาคารต่างๆ 3 รูปแบบ ได้แก่

แบบที่ 1 สัดส่วนของพื้นที่ที่ใช้เป็นพื้นที่สาธารณะและพื้นที่เชิงพาณิชย์มากที่สุด มีสัดส่วนเท่ากันคือ 30%

แบบที่ 2 สัดส่วนของพื้นที่ที่ใช้เป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์มากที่สุด 30% รองลงมาคือลานกิจกรรม พื้นที่สร้างสรรค์ และพื้นที่อนุรักษ์ ในสัดส่วนเท่ากันหรือประมาณ 18%

Advertisement

แบบที่ 3 พื้นที่ใช้พื้นที่เชิงพาณิชย์มากที่สุด 40% รองลงมา ลานกิจกรรมและพื้นที่อนุรักษ์ในสัดส่วนเท่ากัน หรือประมาณ 18% แต่ล่าสุด บริษัท เอสอาร์ที เเอสเสท จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกบริหารสินทรัพย์ของ รฟท. จะนำเสนอแนวคิดการพัฒนาพื้นที่สถานีหัวลำโพง และแนวทางการพัฒนาตลอดเส้นทางบางซื่อ-หัวลำโพง ของ รฟท.

โดยในส่วนของสถานีหัวลำโพงนั้นตามกฎหมายผังเมืองปัจจุบันเป็นพื้นที่สีน้ำเงิน คือที่ดินประเภทหน่วยงานราชการ สาธารณูปโภคและสาธารณูปการ ไม่สามารถนำมาพัฒนาเชิงพาณิชย์ได้ รฟท.จึงจะเร่งปรับผังเมืองให้เป็นพื้นที่สีแดง หรือที่ดินประเภทพาณิชยกรรม เพื่อให้สามารถพัฒนาเชิงพาณิชย์และเพื่อจูงใจให้เอกชนเข้าร่วมลงทุน ที่ รฟท.จะได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนในการพัฒนาโครงการ สำหรับพื้นที่ที่จะนำมาพัฒนาประกอบด้วยพื้นที่ทั้งหมดกว่า 120 ไร่ มูลค่าที่ดินประมาณ 14,400 ล้านบาท แบ่งเป็น

1.พื้นที่ถนนทางเข้าออก และลานจอดรถบริเวณถนนพระราม 4 จำนวน 16 ไร่ มูลค่า 1,920 ล้านบาท

2.อาคารสถานีกรุงเทพหรือหัวลำโพง 13 ไร่ มูลค่า 1,560 ล้านบาท

3.ชานชาลา ทางรถไฟ และย่านสับเปลี่ยน 49 ไร่ มูลค่า 5,880 ล้านบาท

4.โรงซ่อมรถดีเซลราง และรถโดยสาร 22 ไร่ มูลค่า 2,640 ล้านบาท

5.อาคารสำนักงาน รฟท. ตึกคลังพัสดุ 20 ไร่ มูลค่า 2,400 ล้านบาท รวมมูลค่า 14,400 ล้านบาท เบื้องต้นที่ทางปรึกษาจัดทำแอ๊กชั่นแพลนในการพัฒนาที่ดินย่านหัวลำโพง โดยแบ่งพื้นที่เป็น 5 โซน คือ

โซน A จำนวน 16 ไร่ บริเวณอาคารสถานีหัวลำโพงและพื้นที่สาธารณะจัดทำเป็นพื้นที่สาธารณประโยชน์และพัฒนาทัศนียภาพโดยรอบ

โซน B จำนวน 13 ไร่ ปรับปรุงอาคารให้เป็นไปตามแนวทางอนุรักษ์

โซน C จำนวน 22 ไร่ ปัจจุบันเป็นพื้นที่โรงซ่อมรถรางและรถโดยสาร จะเป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ในรูปแบบปิดและเปิด เช่น ร้านค้า ร้านอาหาร พื้นที่กิจกรรม และจะปรับปรุงพื้นที่บริเวณนี้ให้เป็นทางเดินเลียบคลองผดุงกรุงเกษม ผสมผสานความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เน้นความเป็นพื้นที่สีเขียวโดยรอบโครงการ นำต้นแบบมากจากเมืองเวนิส ประเทศอิตาลี

โซน D จำนวน 49 ไร่ ปัจจุบันคือพื้นที่ชานชาลา ทางรถไฟ และย่านสับเปลี่ยน ซึ่งเป็นศูนย์กลางการเชื่อมต่อทั้งระบบการสัญจรและพื้นที่ฝั่งเมือง มีแผนพัฒนาได้หลายรูปแบบ โดยจะพัฒนาเชิงพาณิชย์ ในรูปแบบมิกซ์ยูส

โซน E จำนวน 20 ไร่ บริเวณอาคารสำนักงาน รฟท. ตึกคลังพัสดุเดิม จะพัฒนาเป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ อาทิ โรงแรม อาคารสำนักงาน ศูนย์กิจกรรม รวมถึงปรับพื้นที่ให้ร่มรื่นผสมผสานความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและเชื่อมต่อรูปแบบสิ่งปลูกสร้างเชิงอนุรักษ์โครงสร้างอาคารเดิม รวมทั้งจะพัฒนาทางรถจักรยานริมทางรถไฟ นอกจากนี้ ที่ปรึกษายังเสนอให้พัฒนานำร่องก่อนในระยะสั้นช่วง 3-5 ปี หรือระหว่างปี 2564-2568 เฉพาะโซน A, B และ C ก่อน

แต่กระทรวงคมนาคมมีข้อท้วงติงโดยขอให้เอสอาร์ทีกลับไปจัดทำแผนการพัฒนาทั้ง 5 โซนพร้อมกัน เพื่อเปรียบเทียบความคุ้มค่า เพราะกระทรวงคมนาคมมองว่าหากเปิดประมูลที่ดินผืนใหญ่ผืนเดียวจะจูงใจเอกชนให้เข้ามาร่วมทุนมากกว่าการซอยแปลงย่อยประมูล ดังนั้น ภายในช่วง 1 เดือน หรือภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ จะเสนอแนวทางดังกล่าวและในเดือนธันวาคม 2564 จะเสนอแบบการพัฒนาเสมือนจริง ให้กระทรวงพิจารณาภายในเดือนธันวาคม 2564

นอกจากนี้ “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รมว.คมนาคม ได้ขอให้เอสอาร์ทีปรับแผนพัฒนาที่ดินโซน D ให้เป็นพื้นที่ในแนวสูงเหมือนกับมาบุญครอง เป็นคอมมูนิตี้มอลล์ และตลาด เพื่อให้มีการใช้พื้นที่อย่างคุ้มค่า และสร้างรายได้สูงสุดให้กับ รฟท.อีกด้วย เดือนพฤศจิกายนนี้ หลายคนเตรียมโบกมือลาสถานีรถไฟหัวลำโพง และเปลี่ยนไปปักหมุดหมายใหม่ที่สถานีบางซื่อ พร้อมรอชมการแปลงโฉมครั้งใหม่ของสถานีรถไฟหัวลำโพง ว่าที่สุดแล้วสถานที่ประวัติศาสตร์แห่งนี้จะถูกพัฒนาไปในทิศทางใด จะถูกใจและเกิดประโยชน์ได้มากน้อยแค่ไหน…ต้องรอชม
ภาคต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image