‘ส.ภัตตาคาร’ ย้ำร้านได้ ‘ตราเอสเอชเอ’ มีความปลอดภัยสูง หลัง ‘กทม.’ ยอมให้นั่งดื่มได้ 3 ทุ่ม

‘ส.ภัตตาคาร’ ย้ำร้านได้ ‘ตราเอสเอชเอ’ มีความปลอดภัยสูง หลัง ‘กทม.’ ยอมให้นั่งดื่มได้ 3 ทุ่ม

นางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย เปิดเผยว่า การอนุญาตให้นั่งดื่มแอลกอฮอล์ที่ร้านได้ถึง 21.00 น. ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดี เนื่องจากความจริงกรุงเทพมหานคร (กทม.) มีความกังวลเกี่ยวกับการกลับมาระบาดโควิด-19 ใหม่อีกครั้งสูงมาก ที่ผ่านมาจึงไม่อนุญาตให้กลับมานั่งดื่มที่ร้านได้มาโดยตลอด แม้เอกชนจะเสนอข้อเรียกร้องไปหลายครั้งก็ตาม แต่ขณะนี้ กทม. ยอมให้กลับมานั่งดื่มได้ แม้จะถึงช่วง 21.00 น. เท่านั้น แต่ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีมากจากที่ไม่ยอมให้มาตลอด ส่วนการกำหนดให้ร้านนั่งดื่มได้ ต้องเป็นร้านที่ได้รับตราสัญลักษณ์เครื่องหมายมาตรฐานความปลอดภัยด้านการท่องเที่ยวและสุขอนามัย (เอสเอชเอ) หรือเครื่องหมายชาเท่านั้น ก็ถือเป็นเรื่องที่ดี เนื่องจากมีความมั่นใจในมาตรฐานความปลอดภัยของร้านอาหารหรือภัตตาคารเหล่านี้ได้ รวมถึงการปลดล็อกให้ดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหารได้ ถือเป็นการสะท้อนความพร้อมในการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งกำหนดเริ่มวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ด้วย

“เชื่อว่าที่ กทม. ยอมให้นั่งดื่มที่ร้านได้ แต่เน้นเฉพาะร้านที่ได้รับเครื่องหมายชาเท่านั้น ซึ่งมีประมาณ 3,000 รายในกรุงเทพฯ เพราะมั่นใจในมาตรฐานความปลอดภัยของร้านอาหารเหล่านี้ เนื่องจากขั้นตอนการขอรับเครื่องหมายชา ไม่ได้ทำกันง่ายๆ แต่ต้องทำให้ร้านได้มาตรฐานทุกอย่างที่กำหนด จึงจะสามารถรับเครื่องหมายชาได้ อาทิ จัดให้มีทางเข้าและออกทางเดียว เพื่อกำหนดการคัดกรองได้ บันทึกประวัติพนักงาน จำกัดจำนวนคนเข้าใช้บริการ ติดตั้งจุดล้างมือด้วยสบู่เหลว หรือเจลแอลกอฮอล์ ทำความสะอาดบริเวณสัมผัสร่วมทุก 2 ชั่วโมง และการระบายอากาศที่เพียงพอ อย่างร้านที่ใช้ระบบเครื่องปรับอากาศ ก็ต้องเปิดประตูหรือหน้าต่าง เพื่อระบายอากาศออกไป ซึ่งทุกอย่างมีต้นทุนค่าใช้จ่ายทั้งนั้น แต่ผู้ประกอบการก็พร้อมดำเนินการตามเงื่อนไขทั้งหมดจนได้รับมาตรฐานดังกล่าว” นางฐนิวรรณกล่าว

นางฐนิวรรณกล่าวว่า กทม. ได้ส่งประกาศคำสั่งและโทษหากมีผู้ประกอบการร้านที่ไม่ได้รับเครื่องหมายชา แต่เปิดให้นั่งดื่มแอลกอฮอล์ ถือเป็นการฝ่าฝืนเงื่อนไขที่ตั้งไว้ จึงมีการกำหนดโทษคือ ผู้ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามอาจมีความผิดตามมาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท และความผิดตามมาตรา 18 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยมองว่าการกำหนดโทษดังกล่าวออกมา ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ยอมได้รับ เนื่องจากร้านอาหารที่ได้เครื่องหมายชา ส่วนมากจะเป็นเด็กดี หมายถึงที่ผ่านมาปฏิบัติตามมาตรการที่รัฐบาลกำหนดให้มาโดยตลอด เพราะไม่อยากกลับไปเปิดๆ ปิดๆ ร้านอาหารใหม่อีกครั้งแล้ว จึงพยายามปฏิบัติตามมาตรฐานด้านสุขอนามัยอย่างเข้มข้น เพื่อป้องกันการระบาดโควิด-19 เพราะไม่มีร้านใดอยากเป็นต้นเหตุของการระบาดคลัสเตอร์ใหม่แน่นอน การกำหนดโทษออกมาก็เป็นการป้องกันไม่ให้เกิดการฝ่าฝืนคำสั่ง หรือการประมาทในการประกอบการ ที่ป้องกันการถูกสั่งปิดทั้งหมด แต่เป็นการเอาผิดกับผู้ฝ่าฝืนเป็นรายกรณีไป

ทั้งนี้ ในวันที่ 2 พฤศจิกายนนี้ สมาคมฯจะเข้าร่วมกัารประชุมหารือกับศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับแผนการเปิดประเทศต่อภาคเอกชน ณ ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล เพิ่มเติมด้วย

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image