7 ปีบาดแผล IUU ประมงไทยยังโคม่า

7 ปีบาดแผล IUU ประมงไทยยังโคม่า

ตั้งแต่สหภาพยุโรป (อียู) ประกาศให้ใบเหลืองไทยหลังมีปัญหาประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม (ไอยูยู) ตั้งแต่วันที่ 21 เม.ย.2558 ในสมัยรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้า คสช. อาศัยอำนาจตามมาตรา 44 มีคำสั่งให้ตั้งศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย เริ่มปฏิบัติการตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2558

และใช้เวลากว่า 4 ปี “อียู” จึงประกาศปลดใบเหลืองประมงไทยช่วงต้นปี 2562

กว่า 7 ปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบอาชีพเรือประมงในพื้นที่ 22 จังหวัดติดชายทะเล และธุรกิจที่เกี่ยวข้องทั้งห้องเย็น แพปลา โรงน้ำแข็ง อู่เรือ ต้องเผชิญผลกระทบกับการออกกฎระเบียบ การออกพระราชกำหนดเข้ามาควบคุมการทำประมงอย่างเข้มงวด ให้เป็นไปตามเงื่อนไขของ “อียู” เพื่อให้ไทยหลุดพ้นจากใบเหลือง

Advertisement

ผลกระทบที่เกิดขึ้นทำให้ผู้ประกอบอาชีพเรือประมง ออกมาเรียกร้องรัฐบาลช่วยเหลือเป็นระยะ ทั้งการเรียกร้องให้รัฐซื้อเรือประมงที่ต้องจอดทิ้งไว้คืน เพราะไม่สามารถนำออกทะเลทำประมงได้ การแก้ไขยกเลิกกฎระเบียบต่างๆ

สถานการณ์ของผูู้ประกอบอาชีพประมงในปัจจุบัน นายบุญชู แพใหญ่ นายกสมาคมประมงจังหวัดพังงาและรองประธานสมาคมประมงแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ทุกวันนี้ชาวประมงเหมือนรอวันตายไปวันๆ และทยอยเลิกอาชีพทำประมงเลิกไปเรื่อยๆ เนื่องจากไม่มีทุน ตอนนี้เรือของตนเอง จอดอยู่ 3 ลำ เป็นเรืออวนดำ ไม่มีแรงงานประมง เนื่องจากมีการกล่าวหาว่ามีการค้ามนุษย์ในเรือประมง อยากให้มาดูที่ท่าเรือของตนเองหรือว่าท่าเรือไหนก็ได้ในจังหวัดพังงาว่ามีการค้ามนุษย์จริงไหม อย่างลืมว่าเรือประมงไม่สามารถเอาแรงงานอื่นเข้ามาทดแทนได้ กฎหมายบางมาตรา มีโทษปรับสูง ปกติท่าเรือประมงในจังหวัดพังงาทุกท่าเรือจะมีหน่วยงานของรัฐมาคอยตรวจสอบเป็นประจำไม่ว่าจะเป็น PIPO เจ้าท่า กรมประมง และศรชล มาร่วมกันตรวจ การแจ้งเข้า-ออกของเรือประมง พอมีแรงงานเมียนมาเข้ามาเยอะก็กล่าวหาว่ามีการนำเข้ามาทำงานในเรือประมง อยากวิงวอนให้รัฐบาลโปรดมาดูแลชาวประมงบ้างไม่ใช่จะมากล่าวหาว่าชาวประมงเป็นโจรกันหมด ต่อไปอาชีพประมง ทางรัฐบาลไม่ต้องมาเข้มงวดหรอกเพราะจะหมดไปโดยปริยาย

“การออก พ.ร.ก.ประมงปี 2558 และแก้ไขปี 2560 เป็นการออกกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมกับพี่น้องชาวประมง 22 จังหวัด เพื่อให้เป็นไปตามขอบังคับของไอยูยู เช่น เรือประมงไทยที่เข้าไปในประเทศอินโดนีเซีย แม้มีใบอนุญาตทำประมงจะไปจับปลาต่างประเทศก็ไปไม่ได้แล้วโดนล็อกหมดมาตั้งแต่ปี 2558 ตอนนี้ต้องจอดทิ้งไว้ บางลำก็พังเสียหาย” นายบุญชูกล่าว

Advertisement

เช่นเดียวกับ นายนนทิวรรธน์ นนทภักดิ์ผู้ประกอบการ อู่ต่อเรือ ส.ภักดี จ.นครศรีธรรมราช ที่สะท้อนว่าปัญหาประมงในพื้นที่ว่าที่ผ่านมา ชาวประมงประสบปัญหาหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น ไอยูยู ซึ่งผู้ประกอบการก็หยุดที่จะออกทำการประมง เฉพาะอำเภอปากพนังก่อนหน้านี้มีเรือนับพันลำ วันนี้เหลือเพียงกว่า 100 ลำ ยอดปริมาณเรือตก70-80% เราต้องสูญเสียเงินรายได้เข้าจังหวัดมากมาย จนนำมาสู่การเรียกร้องในหลายๆ เรื่อง

“วันนี้เราไม่พูดถึงเรื่องอดีต เรามาพูดกันถึงปัจจุบัน นับจากวิกฤตโควิดมาอีก ลูกเรือหาย รายได้ไม่มี ครอบครัวประมงอยู่ในสภาพลำบาก ถามว่าทำอย่างไร ทุกคนต้องปรับเปลี่ยน เรือใหญ่ออกไม่ได้ เรือเล็กออกหาปลาชายฝั่ง เพื่อเลี้ยงครอบครัว และยังเจอปัญหาเรื่องเครื่องมือ เมื่อทุกคนปรับเปลี่ยนก็ดีขึ้น พอประคองครอบครัวได้ แต่ตัวผู้ประกอบการเรือใหญ่ที่เหลือ ต้องหาวิธีการช่วยเหลือตัวเอง ด้วยการออกเรือ”

นายนนทิวรรธน์กล่าวด้วยว่า อีกสิ่งหนึ่งที่เป็นปัญหาของปากพนังในเวลานี้ เรือประมงที่เหลือออกหาปลาแต่กลับเข้าฝั่งไม่ได้เพราะร่องน้ำตื้นเขิน จำเป็นต้องไปขึ้นเรือที่ฝั่งขนอม สิชล ทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น วันนี้เรือเข้าไม่ได้ ออกไม่ได้ ต้องจอดนิ่ง ผลผลิตสัตว์น้ำมีราคาถูกอีก สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัญหา ล่าสุดเรื่องน้ำมันมีราคาสูงขึ้นบอกไม่ถูก วันนี้จึงอยากเรียกร้องไปยังรัฐบาล ช่วยจัดสรรงบประมาณมาดูแลชาวประมงในจังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อช่วยให้อยู่กันให้ได้ฝ่าวิกฤตให้ได้ ช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจจังหวัดกลับคืนมา

“สมุทรสาคร” เป็นอีกจังหวัดหนึ่งที่ได้รับผลกระทบมาก เรือประมงที่เคยมีอยู่จำนวนสามารถนำออกไปทำประมงได้จำนวนน้อย นายกมล ไกรวัตนุสสรณ์ ประธานชมรมเรืออวนลากสมุทรสาคร ระบุว่า วิกฤตของพี่น้องชาวประมงในช่วงที่ผ่านมาว่า วิกฤตของชาวประมงนั้นที่หนักหนาสาหัสสุดในเรื่องของกฎหมายการทำประมง ส่งผลให้พี่น้องชาวประมงไทยไม่สามารถที่จะหากินได้ตามวิถีชีวิตปกติที่เคยทำมาหากินกันมาแต่ดั้งเดิม ในอดีตรัฐบาลเคยบอกว่ามีเรือประมงอยู่ 50,000 ลำ แต่ปัจจุบันออกหากินได้ไม่ถึง 9,000 ลำทั่วประเทศ เพราะโดนเรื่องของกฎหมายที่มีข้อบังคับอยู่มากมาย อีกทั้งยังออกมาอย่างต่อเนื่องปรับแก้กันอยู่เรื่อยไป อย่างเช่น เรื่องของแรงงานในเรือประมง ที่ยังคงมีการปรับแก้ไขจนทำให้ชาวประมงที่มีการจ้างแรงงานข้ามชาตินั้น ปฏิบัติตามแทบไม่ทันจนเกิดความสุ่มเสี่ยงต่อการจ้างแรงงาน เพราะกฎหมายที่ไม่นิ่งนั่นเอง

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของน้ำมันแพง ที่ปัจจุบันส่งผลกระทบต่ออาชีพประมงเป็นอย่างมาก เพราะน้ำมันขึ้นราคาแต่ชาวประมงกลับยังคงจับสัตว์น้ำได้เท่าเดิม ทำให้เกิดค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้นไปอีก ทั้งๆ ที่เป็นอยู่ก็ต้องพยายามประคองชีวิตภายใต้ภาระที่แบกรับกันอย่างหนักหนาสาหัสอยู่แล้ว

เรื่องเร่งด่วนที่อยากให้รัฐบาลเข้ามาช่วยแก้ไขคือ ปัญหาน้ำมันแพง และการแก้ไขปัญหาซื้อเรือประมงที่ยังคงยืดเยื้อเรื้อรังมานาน โดยต้องการให้รัฐบาลจัดตั้งกองทุนมาจัดซื้อเรือประมงคืน เพื่อพี่น้องชาวประมงจะได้นำเงินไปใช้หนี้ที่คั่งค้างอยู่ให้หมดไป และนำไปเป็นทุนตั้งต้นในการสร้างอาชีพใหม่ แต่ทางรัฐบาลก็ยังคงผัดผ่อนไปเรื่อยๆ ไม่มีความชัดเจนสักที แม้จะผ่านมานาน 3-4 ปีแล้วก็ตามที ทุกวันนี้ยังคงมีเรือที่รอขึ้นทะเบียนอีกกว่า 2,000 ลำ ให้รัฐบาลเข้ามารับซื้อเรือคืนไป

นายกมลกล่าวทิ้งท้ายว่า การแก้ไขปัญหาของรัฐบาลที่ผ่านมายังแก้ไขไม่ตรงจุด การแก้กฎหมายเอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจอุตสาหกรรมประมงต่อเนื่องบนฝั่งมากเกินไป ทั้งที่การทำอุตสาหกรรมต่อเนื่องประมงบนฝั่งนั้น ส่วนใหญ่จะใช้การนำเข้าสินค้าประมงจากต่างประเทศเพื่อนำมาแปรรูปแล้วส่งออก ปัญหาของพี่น้องชาวประมงในทะเลที่พยายามแก้ไขกันมานานเกือบ 7 ปีแล้วยังไม่เห็นผลที่ชัดเจน ยิ่งแก้ก็ยิ่งทำให้พี่น้องชาวประมงตายลงไปเรื่อยๆ

ทั้งหมดนี้้เป็นเสียงสะท้อนที่รอรัฐบาลเข้ามาแก้ไขอย่างจริง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image