เงินเฟ้อต.ค.64 พุ่ง2.38% ผลพ่วงราคาน้ำมัน-ผักแพง พณ.ชี้เงินเฟ้อเข้าโหลดขาขึ้น

เงินเฟ้อต.ค.64 พุ่ง 2.38% ผลพ่วงราคาน้ำมัน-ผักแพง พณ.ชี้เงินเฟ้อเข้าโหลดขาขึ้น

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า(สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค(เงินเฟ้อ)ทั่วไปเดือนตุลาคม 2564 สูงขึ้น 2.38 % เทียบเดือนตุลาคมปีก่อน และสูงขึ้น 1.68% ในเดือนกันยายนปีนี้ เป็นการสูงขึ้นต่อเนื่องเดือนที่ 2 ตามราคาสินค้ากลุ่มพลังงานสูงขึ้น โดยเฉพาะน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นตามราคาโลก ประกอบกับสินค้ากลุ่มอาหารสดราคาผันผวนและบางชนิดสูงขึ้น โดยเฉพาะผักสดในพื้นที่เจออุทกภัย และราคาไข่ไก่คงสูงเท่าปีก่อน รวมถึงอาหารบริโภคในบ้านและนอกบ้าน และเครื่องประกอบอาหาร ปรับขึ้นตามต้นทุน ขณะที่ราคาสินค้ากลุ่มอาหารสดอื่นๆลดลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว เนื้อสุกร ไก่สด และผลไม้สด ทั้งนี้ราคาสินค้าเดือนตุลาคมปีนี้เทียบปีตุลาคมปีก่อน สูงขึ้น 71 รายการ ไม่เปลี่ยนแปลง 60 รายการ ลดลงเพียง 3 รายการ หากเทียบกับกันยายนปีนี้ สินค้าราคาสูงขึ้น 26 รายการ ไม่เปลี่ยนแปลง 108 รายการ และไม่มีสินค้าราคาลดลง

“เงินเฟ้อที่เพิ่มตุลาคม ส่วนหนึ่งจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ส่งผลให้ภาคธุรกิจและประชาชนมีกำลังซื้อและการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มมากขึ้น สอดคล้องกับเครื่องชี้วัดทางเศรษฐกิจสำคัญที่มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้น ด้านอุปสงค์สะท้อนได้จากยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้า และมูลค่าการส่งออกที่ขยายตัวต่อเนื่อง รวมถึงราคาวัสดุก่อสร้างที่สูงขึ้น 10% จึงทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนตุลาคม อยู่ที่ 43.4 จากระดับ 42.1 ในเดือนก่อนหน้า แม้ยังต่ำกว่าระดับปกติ50 แต่มีทิศทางที่ดีขึ้นตามลำดับ โดยเพิ่มติดต่อเป็นเดือนที่ 3 ด้านอุปทานสะท้อนอัตราการใช้กำลังการผลิตดีขึ้น และดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเริ่มดีขึ้นแม้ยังต่ำกว่าปีก่อน สอดคล้องกับดัชนีราคาผู้ผลิตสูงขึ้น 6.9%” นายรณรงค์ กล่าว

นายรณรงค์ กล่าวต่อว่า สินค้าเกษตรที่ราคาปรับลดลง และได้รับความเสียหายจากอุทกภัย ได้ส่งผลให้รายได้เกษตรกรปรับตัวลดลงในรอบ 15 เดือน อาจจะกระทบอุปสงค์ภายในประเทศและเงินเฟ้อของไทยได้ในระยะต่อไป เป็นประเด็นสำคัญที่ต้องเฝ้าระวังและดูแลอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ เงินเฟ้อพื้นฐาน (หักอาหารสดและพลังงานออกแล้ว) สูงขึ้น 0.21 % เทียบตุลาคมปีก่อน และสูงขึ้น 0.19 % จากเดือนกันยายนนี้ปีนี้ เป็นการสูงขึ้นอย่างมีเสถียรภาพและสอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจ ส่งผลให้เงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 10 เดือนปี2564 สูงขึ้น 0.99%

สำหรับแนวโน้มเงินเฟ้อทั่วไปเดือนพฤศจิกายน 2564 มีแนวโน้มสูงขึ้น ปัจจัยจาก 1.สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19เริ่มคลี่คลาย หลายพื้นที่กระจายวัคซีนและการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ส่งผลให้ภาคธุรกิจสามารถดำเนินการได้มากขึ้น ประกอบกับมาตรการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว ตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน 2564 จะส่งผลดีต่อกำลังซื้อและการจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศ 2.น้ำมันเชื้อเพลิง ราคายังมีทิศทางที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจจะกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้า และบริการ รวมถึงการขนส่ง 3. อุทกภัยในหลายพื้นที่ในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้ปริมาณสินค้าเกษตรเข้าสู่ตลาดน้อยลง และส่งผลต่อระดับราคาต่อไป สำหรับสินค้าในหมวดอื่น ๆ มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในทิศทางปกติตามปริมาณผลผลิตและความต้องการ อย่างไรก็ตาม สินค้าในหมวดอาหารสดส่วนใหญ่ โดยเฉพาะข้าว เนื้อสุกร ไก่สด และผลไม้สด ยังมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่สถานการณ์โควิด-19 ยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่เป็นตัวแปรสำคัญของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะต้องเฝ้าระวังและส่งผลต่อเงินเฟ้ออย่างมีนัยสำคัญ

Advertisement

“ที่กังวลตอนนี้ต้นทุนเพิ่มและราคาสูงขึ้นของสินค้ากลุ่มส่วนประกอบวัตถุดิบเพื่อประกอบเครื่องปรุงหรืออาหาร รวมถึงสินค้านำเข้าที่มีต้นทุนค่าระวางและขนส่งยังสูง กำลังซื้อเปิดประเทศจากนักท่องเที่ยวดีขึ้น จะส่งผลต่อเงินเฟ้อสูงขึ้นจากนี้ ขณะที่หน้าหนาวก็จะมีผักบางชนิดออกมาทดแทนตลาดมากขึ้น แต่อัตราขยายตัวของเงินเฟ้อจะไม่แรงเท่าเดือนตุลาคม และไตรมาส 4/2564 สูงขึ้น 2.43% จากไตรมาส3 สูงขึ้น 0.70% จะส่งผลต่อเงินเฟ้อเฉลี่ยปี 2564 อยู่ระหว่าง 0.8 – 1.2% ค่ากลางอยู่ที่ 1% ส่วนปี 2565เงินเฟ้อน่าจะสูงได้อีก แต่อัตราขยายตัวไม่แรงแล้ว ซึ่งจะมีการประเมินตัวเลขอีกครั้ง” นายรณรงค์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image