เปิดวิชั่น ‘ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์’ เอ็มดี ปณท ดึงดิจิทัล-อีวีบริการ ปชช. จ่อฟู้ด เดลิเวอรี่

เปิดวิชั่น‘ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์’เอ็มดีปณท ดึงดิจิทัล-อีวีบริการ ปชช. จ่อฟู้ด เดลิเวอรี่
ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์

เปิดวิชั่น ‘ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์’ เอ็มดี ปณท ดึงดิจิทัล-อีวีบริการ ปชช. จ่อฟู้ด เดลิเวอรี่

“กำลังศึกษาธุรกิจบริการส่งอาหาร (ฟู้ด เดลิเวอรี่) แม้ปัจจุบันการแข่งขันสูง แต่มีช่องว่างทางการตลาดที่หลายเจ้ายังไม่สามารถให้บริการได้ครอบคลุมทั่วประเทศ”

ช่วงกลางปี บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) ได้ผู้บริหารคนใหม่ ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ นั่งดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ ถือเป็นจังหวะเวลาที่ท้าทายจากวิกฤตโควิด-19 ที่รุนแรงและขยายวงกว้างก่อนจะเริ่มคลี่คลายลง

“มติชน” สัมภาษณ์พิเศษ ดร.ดนันท์ เอ็มดีไปรษณีย์ถึงโรดแมปและวิชั่นในการทำงานว่า ธุรกิจการขนส่งได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ผลกระทบด้านบวก คือ คนซื้อคนขายของออนไลน์เพิ่มมากขึ้น แม่ค้าตลาดสดปรับตัวจากการขายในตลาดมาเป็นการขายออนไลน์แทน ส่วนผลกระทบด้านลบ คือ ส่งของได้ช้าลง แต่ปัจจุบันสถานการณ์ดีขึ้นมาก

การแข่งขันที่มี ปณท เป็นของคนไทยมากว่า 109 ปี และมีทุนจากต่างชาติเข้ามาให้บริการหลายราย เป็นประโยชน์กับผู้บริโภคที่มีทางเลือกที่หลากหลายมากขึ้น มีผู้ให้บริการรองรับจำนวนชิ้นงานที่เติบโต ทำให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนได้ ปณท ได้แข่งขันจนเข้าไปอยู่ในใจผู้บริโภคเข้าใจว่าผู้บริโภคต้องการอะไร เตรียมบริการเพื่อรองรับความต้องการนั้น

จุดแข็งของ ปณท คือ อยู่คู่กับสังคมไทยมายาวนาน บุรุษไปรษณีย์รู้จักลูกค้าอย่างลึกซึ้ง ส่งต่อความต้องการได้นอกเหนือจากการส่งจดหมาย มีบริการอื่นเพิ่มเติม อาทิ เติมเงินโทรศัพท์มือถือ ขายซิมโทรศัพท์ รับออเดอร์ส่งของต่อรวมไปถึงมีเอชอาร์ (บริหารบุคคล) ซีอาร์เอ็ม (ลูกค้าสัมพันธ์) แข็งแกร่ง

Advertisement

ที่สำคัญคือ ปณท เป็นรัฐวิสาหกิจ ไม่ได้ทำธุรกิจเพื่อแสวงหาผลกำไรอย่างเดียว เรามีหน้าที่ดูแลชุมชน สังคมไทย ช่วงโควิดระบาด ปณท ได้ส่งยาตามระบบการรักษาที่บ้าน (โฮม ไอโซเลชั่น) ส่งเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ตามโรงพยาบาลต่างๆ ส่งผลไม้ให้เกษตรกรในช่วงราคาตกต่ำ

นอกจากนี้ ได้ช่วยเหลือเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน เอสเอ็มอี นำสินค้าไปวางจำหน่ายตามที่ทำการไปรษณีย์กว่า 5,000 แห่ง และมีช่องทางออนไลน์ Thailandpostmart.com มีสินค้ากว่า 17,000 รายการ มีผู้ประกอบการ 6,500 ราย ช่วงเดือนมกราคม-ตุลาคม 2564 สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรกว่า 400 ล้านบาท

ดร.ดนันท์ ระบุว่า ด้วยเทคโนโลยีที่มีบทบาทต่อการประกอบธุรกิจ ปณท จึงนำมาช่วยเรื่องบริการ พัฒนาประสิทธิภาพธุรกิจ โดยให้ความสำคัญกับโครงสร้างข้อมูล ร่วมมือกับสถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ (สวข.) มีระบบซีอาร์เอ็ม บริหารจัดการข้อมูลลูกค้า ตอบสนองความต้องการลูกค้าในแต่ละกลุ่ม

Advertisement

นอกจากนี้ ยังใช้เครื่องคัดแยกพัสดุแบบ Cross Belt Sorter ช่วยคัดแยกพัสดุได้วันละ 3 แสนชิ้น ทำให้ควบคุมคุณภาพ เวลา ความถูกต้อง ส่งพัสดุปลายทางถูกต้อง ไม่ต้องใช้พนักงานมาก พนักงานไปทำงานในส่วนอื่นได้ นอกจากนี้ ยังมีบริการรับพัสดุจากที่บ้าน การรองรับการชำระเงินแบบไร้เงินสด โดยเตรียมลงทุนทางด้านเทคโนโลยีดิจิทัลเพิ่มเติม ในปี 2565 มูลค่าไม่น้อยกว่า1,000 ล้านบาท

ด้านนวัตกรรม มีการร่วมกับพาร์ตเนอร์ อาทิ เอไอเอส ทรู ให้บริการเติมเงินมือถือตามบ้านที่ทาง ปณท ไปส่งของประชาชนไม่ต้องออกจากบ้าน ก็ใช้บริการดังกล่าวได้ หลังจากนี้จะเป็นยุค เน็กซ์ นอร์มอล คนอยู่บ้านมากขึ้น หมายความว่าการให้บริการต่างๆ ทาง ปณท สามารถไปให้บริการถึงหน้าบ้านได้ แพลตฟอร์ม ฮิวแมน เน็ตเวิร์กกิ้งเป็นช่องทางหนึ่งที่ให้บริการถึงหน้าบ้านได้

รวมทั้งการนำเทคโนโลยีโดรนมาใช้ สถานการณ์ช่วงโควิด ที่มีบางหมู่บ้านปิดไม่ให้คนเข้า-ออก ป้องกันการแพร่ระบาดของโรค จึงมีการใช้โดรนส่งของ หรือสถานการณ์น้ำท่วม รถยนต์เข้าไม่ได้ก็ใช้โดรนส่งของแทน โดยเฉพาะยา เวชภัณฑ์ สำหรับผู้ป่วยที่ไม่สามารถรอได้ เทคโนโลยีก้าวผ่านข้อจำกัดเหล่านี้ อะไรที่เป็นไปไม่ได้ จะเป็นไปได้ โดรนจึงเป็นการประยุกต์ใช้กับการรองรับการให้บริการโลจิสติกส์ที่หลากหลายมากขึ้น

ด้านสิ่งแวดล้อม เป็นอีกเรื่องที่ ดร.ดนันท์ ให้ความสำคัญ โดยระบุว่า ปณท คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ลดมลภาวะ เตรียมปรับเปลี่ยนรถขนส่งที่ใช้น้ำมัน เป็นรถขนส่งไฟฟ้าเริ่มทดลองใช้บางพื้นที่แล้ว จะเริ่มเปลี่ยนในเฟสแรกภายในไตรมาส 1/2565 กลุ่มรถกระบะ รถตู้ รวม 250 คัน ช่วยลดต้นทุน เพราะรถยนต์ที่ใช้มีอายุการใช้งาน 8-10 ปี ต้องเปลี่ยนใหม่อยู่แล้ว ส่วนไฟฟ้าที่ใช้จะมาจากการผลิตไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เซลล์นำไฟฟ้ามาเป็นสถานีชาร์จให้กับรถยนต์

อีกบริการที่ ปณท เพิ่งดำเนินการ คือ บริการการขนส่งสินค้าควบคุมอุณหภูมิแบบด่วน พึ่งเปิดให้บริการเมื่อ 1 กันยายนที่ผ่านมา มียอดใช้บริการเติบโตต่อเนื่อง มีสินค้าทะเลจากภาคใต้ใช้บริการจำนวนมาก หลังจากนี้จะขยายเส้นทางการให้บริการเพิ่มเติม ครอบคลุมภาคอื่นๆ โดยเฉพาะร้านอาหารที่มีหลายสาขา ที่มีการกระจายของสดส่งไปยังสาขาต่างๆ การส่งผลไม้ที่ต้องการควบคุมอุณหภูมิ

ดร.ดนันท์ กล่าวถึงธุรกิจในอนาคตของ ปณท กำลังศึกษา ธุรกิจบริการส่งอาหาร (ฟู้ด เดลิเวอรี่) แม้ปัจจุบันการแข่งขันสูง แต่มีช่องว่างทางการตลาดที่หลายเจ้ายังไม่สามารถให้บริการได้ครอบคลุมทั่วประเทศ ปณท จะนำจุดแข็งที่มีโครงข่ายครอบคลุมทั่วประเทศ เจาะตลาดที่ยังมีความต้องการอยู่และยังไม่มีผู้ให้บริการเพียงพอ ขณะนี้กำลังศึกษารายละเอียดว่าพื้นที่ที่มีความต้องการในพื้นที่ตามต่างจังหวัด เป็นโอกาสของ ปณท ที่จะไปเติมเต็มตรงนั้น โดยภายในปี 2565 อาจจะเริ่มเปิดตัว

สำหรับการป้องกันมิจฉาชีพทางออนไลน์และออฟไลน์ ปณท ได้มีการสื่อสารกับลูกค้าอยู่ตลอดเวลาถึงการส่งข้อมูลให้กับลูกค้าผ่านทางช่องทางใดบ้าง ถ้าเป็นการติดต่อช่องทางอื่นไม่ใช่ของ ปณท แน่นอน ส่วนบุคคลที่มีการแอบอ้าง ปณท ได้แจ้งความกับกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) เพื่อสอบสวนหาตัวคนร้ายมาดำเนินคดีตามทางกฎหมาย

ช่วงท้าย ดร.ดนันท์ กล่าวถึงการทำงานตลอด 5 เดือน ว่ามีเรื่องต้องทำหลายอย่าง อาทิ เพิ่มประสิทธิภาพบริการ ศึกษาข้อมูลเชิงลึกตามความต้องการลูกค้า ปรับปรุงบริการให้ตอบโจทย์ นำเทคโนโลยีทันสมัยเพิ่มความสะดวกการบริการ ให้ผู้ใช้บริการเข้าถึง ปณท มากขึ้น บนกลยุทธ์ First Mind ทั้งออนไลน์และออฟไลน์

ทั้งนี้ จะไม่มีการลดจำนวนพนักงาน เพราะหลายงานจำเป็นต้องใช้คน อาทิ พนักงานส่งของหรือนำจ่าย ต้องมีคนส่งของ ส่วนการเพิ่มจำนวนพนักงานจะทำเมื่อเปิดให้บริการอื่นเพิ่มเติม เพื่อตอบโจทย์คนอยู่บ้านมากขึ้น ให้บริการถึงหน้าบ้าน ส่วนพนักงานที่ถูกแทนที่ด้วยออโตเมชั่น จะปรับเพิ่มทักษะให้สามารถบริการส่วนอื่นที่มีความต้องการใช้คน ภาพรวมเป็นการบริหารจัดการทรัพยากรภายในองค์กร ให้ตอบสนองความต้องการทางธุรกิจมากกว่า

“ปี 2565 ของ ปณท จะมีนวัตกรรมใหม่มาให้ประชาชน เป็นสิ่งที่ตั้งใจและอยู่ในโรดแมปของเรา นำเทคโนโลยีมาใช้เปลี่ยนแปลงระบบการให้บริการตั้งแต่ต้นจนจบ ประชาชนจะได้รับบริการที่ดีขึ้น ตอบโจทย์มากขึ้น” ดร.ดนันท์ ทิ้งท้าย

ฉายภาพทั้งปัจจุบันและอนาคตได้ชัดเจน น่าติดตามก้าวย่างของบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด นับจากนี้!!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image