คอนโดใหม่เปิดตัวคึกคักรับแอลทีวี-เปิดประเทศ

คอนโดใหม่เปิดตัวคึกคักรับแอลทีวี-เปิดประเทศ

นายภัทรชัย ทวีวงศ์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิจัยและการสื่อสาร คอลลิเออร์ส ประเทศไทย กล่าวถึงสถานการณ์การเปิดตัวโครงการคอนโดมิเนียมใหม่ในช่วงไตรมาส 3 ว่า ผู้พัฒนาส่วนใหญ่เริ่มกลับมาเปิดตัวโครงการใหม่ในช่วงครึ่งหลังของปี พ.ศ. 2564 กันอย่างคึกคัก หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทยเริ่มผ่อนคลาย การกำหนดเวลาการออกนอกเคหสถานได้มีการผ่อนปรน ควบคู่ไปกับจำนวนการฉีดวัคซีนที่เพิ่มมากขึ้น โดยประชาชนในเขตกรุงเทพมหานครนั้นได้รับวัคซีนเข็ม 2 แล้วกว่าร้อยละ 70.0 รวมทั้งมาตรการเยียวยาประชาชนที่เริ่มมีมากขึ้น และที่สำคัญคือมาตรการเปิดประเทศจากทางภาครัฐฯ ที่อนุญาตให้มีการเปิดประเทศภายในวันที่ 1 พฤศจิกายน โดยมีการยกเลิกการกำหนดเวลาการออกนอกเคหสถาน และอนุญาตให้ชาวต่างชาติสามารถเดินทางเข้าสู่เมืองไทยมากขึ้น รวมถึงปัจจัยบวกในเรื่องที่การธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประกาศผ่อนปรนมาตรการ LTV เป็นการชั่วคราว มีผลบังคับใช้สำหรับสัญญาเงินกู้ยืมซื้อที่อยู่อาศัยตั้งแต่ 20 ตุลาคม 2564 -31 ธันวาคม 2565ทั้งหมดนี้ส่งผลให้ภาคอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยโดยเฉพาะตลาดคอนโดมิเนียมกลับมาคึกคักมากขึ้น เนื่องจากผู้พัฒนามีความเชื่อมั่นในตลาดคอนโดมิเนียมว่าจะมีการตอบรับที่ดีจากผู้ซื้อ จึงเร่งดำเนินการเปิดตัวโครงการใหม่กันอย่างคึกคักขานรับมาตรการดงักล่าว

นายภัทรชัยกล่าวว่า ฝ่ายวิจัยและการสื่อสาร คอลลิเออร์ส ประเทศไทย คาดการณ์ทิศทางของตลาดคอนโดมิเนียมในพื้นที่กรุงเทพมหานครในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี ว่า ภาพรวมอุปทานเปิดขายใหม่จะอยู่ที่ประมาณ 8,000 ยูนิต ซึ่งอาจส่งผลให้อุปทานเปิดขายใหม่ของตลาดคอนโดมิเนียมในพื้นที่กรุงเทพมหานครในปีนี้ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 19,472 ยูนิต เท่ากับว่าอาจปรับตัวลดจากในปีก่อนหน้าร้อยละ 12.6 ซึ่งเป็นตัวเลขที่น้อยกว่าที่หลายฝ่ายเคยคาดการณ์ไว้ แต่อย่างไรก็ตามยังคงพบว่า มีผู้พัฒนาบางส่วนยังคงเลือกที่จะเลื่อนแผนการเปิดตัวในปีนี้ออกไป เพื่อที่จะศึกษาข้อมูลการพัฒนาโครงการให้รอบคอบ เพื่อที่จะได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้ซื้อเมื่อมีการเปิดตัวโครงการใหม่

นายภัทรชัยกล่าวว่า จากการสำรวจพบว่า ภาพรวมอุปทานคอนโดมิเนียมเปิดขายใหม่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ณ สิ้นไตรมาสที่ 3 พ.ศ.2564 ที่ผ่านมา มีโครงการคอนโดมิเนียมเปิดขายใหม่ถึง 13 โครงการ 5,393 ยูนิต ด้วยมูลค่าการลงทุนรวมกว่า 11,253 ล้านบาท ถึงแม้ว่าจะปรับตัวลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าถึง 3,340 ยูนิต หรือคิดเป็นร้อยละ 38.2 และพบว่าจากอุปทานที่เปิดขายใหม่ทั้งหมดยังคงเป็นการพัฒนาโดยผู้พัฒนารายใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์มากที่สุดถึง 5,143 ยูนิตหรือคิดเป็นร้อยละ 95.4 ด้วยมูลค่าการลงทุนรวมประมาณ 10,363 ล้านบาท และผู้พัฒนานอกตลาดหลักทรัพย์เพียงแค่ 250 ยูนิตหรือคิดเป็นร้อยละ 4.6 ด้วยมูลค่าการลงทุนรวมประมาณ 890 ล้านบาท ส่งผลให้ในช่วง 3 ไตรมาสของปีพ.ศ. 2564 ที่ผ่านมา มีอุปทานโครงการคอนโดมิเนียมเปิดขายใหม่ในพื้นที่กรุงเทพมหานครทั้งหมด 27 โครงการด้วยยูนิตขายทั้งหมด 11,472 ยูนิต มูลค่าการลงทุนประมาณ 40,025 ล้านบาท ปรับตัวลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 27.5

“ผู้พัฒนาส่วนใหญ่เริ่มประกาศแผนเปิดตัวโครงการใหม่ในช่วงปลายปี พ.ศ. 2564 กันอย่างคึกคัก และส่วนใหญ่จะเริ่มทยอยเปิดตัวในช่วงเดือนกรกฎาคมเป็นต้นไป หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทยที่เริ่มผ่อนคลายลง การกำหนดเวลาการออกนอกเคหสถานได้มีการผ่อนปรน ควบคู่ไปกับจำนวนการฉีดวัคซีนที่เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งการเยียวยาประชาชนที่เริ่มมีแน้วโน้มที่มากขึ้น รวมถึงมาตรการการเปิดประเทศจากทางภาครัฐฯ ที่อนุญาตให้มีการเปิดประเทศภายในวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564 โดยมีการยกเลิกการกำหนดเวลาการออกนอกเคหสถาน และอนุญาตให้มีชาวต่างชาติสามารถเดินทางเข้าสู่เมืองไทยมากขึ้น ทั้งหมดนี้ส่งผลให้ภาคอสังหาริมทรัพย์โดยเฉพาะตลาดคอนโดมิเนียมมีความคึกคักมากขึ้น เนื่องจากผู้พัฒนามีความเชื่อมั่นในตลาดคอนโดมิเนียมว่าจะมีการตอบรับที่ดีจากผู้ซื้อทั้งในประเทศและจากต่างประเทศ จึงมีการเร่งดำเนินการเปิดตัวโครงการใหม่อย่างคึกคักขานรับมาตรการดังกล่าว”นายภัทรชัยกล่าว

Advertisement

นายภัทรชัยกล่าวว่า สำหรับอุปทานคอนโดมิเนียมเปิดขายใหม่ในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี พ.ศ. 2564 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครที่ผ่านมา พบว่า ยังคงตั้งอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นนอกมากที่สุดจำนวน 8 โครงการ 3,413 ยูนิต หรือคิดเป็นร้อยละ 63.3 และตามมาด้วยในพื้นที่บริเวณรอบเมืองด้านทิศตะวันออก (สุขุมวิท, บางนา) จำนวน 2 โครงการ ประมาณ 1,565 ยูนิต หรือคิดเป็นร้อยละ 29.1 และพบว่าโครงการคอนโดมิเนียมที่เปิดขายใหม่ในช่วงไตรมาสที่ 3 ที่ผ่านมายังคงอยู่ในช่วงระดับราคาต่ำกว่า 100,000 บาทต่อตารางเมตรมากถึงร้อยละ 85.5 เหมือนในช่วงหลายไตรมาสที่ผ่านมา เนื่องจากผู้พัฒนายังคงเดินหน้าเลือกเปิดตัวโครงการในพื้นที่กรุงเทพฯชั้นนอกที่มั่นใจในกำลังซื้อและมีระดับราคาขายต่อยูนิตไม่สูงมากนักเพื่อกำลังซื้อสามารถเข้าถึงได้ง่าย เน้นการพัฒนาโครงการที่มียูนิตขายไม่มากนัก เพื่อที่จะสามารถปิดการขายได้ในระยะเวลาที่รวดเร็ว

สำหรับอัตราขายเฉลี่ยรวมของคอนโดมิเนียมเปิดใหม่ในช่วงไตรมาสที่ 3 พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมา พบว่ามีอัตราการขายเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณร้อยละ 41.0 ถึงแม้ว่าจะเป็นอัตราการขายเฉลี่ยจะต่ำกว่าในช่วงไตรมาสก่อนหน้าพอสมควร แต่ฝ่ายวิจัยและการสื่อสาร คอลลิเออร์ส ประเทศไทย พบว่าผู้พัฒนารายใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์บางรายที่เปิดตัวโครงการคอนโดมิเนียมโครงการใหม่ในพื้นที่กรุงเทพฯรอบนอก ทั้งในพื้นที่รามคำแหง และย่านฉลองกรุง ยังสามารถเข้าถึงกำลังซื้อได้เป็นอย่างดีสามารถทำยอดจองได้ร้อยละ 100.0 เพียงแค่ในช่วงของการเปิดขายพรีเซลล์ของโครงการเท่านั้น ซึ่งถือว่าสวนกระภาพรวมตลาดพอสมควร จากอัตราการขายเฉลี่ยของโครงการคอนมิเนียมที่เปิดขายใหม่ดังกล่าวมองว่า ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ค่อนข้างดี บางโครงการสามารถปิดการขายได้หมดทั้งโครงการเพียงแค่ในช่วงพรีเซลล์และหลายโครงการเช่นเดียวกันที่สามารถปิดการขายได้มากกว่าร้อยละ 60.0 ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความคึกคักของตลาดที่เริ่มมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น ทั้งในส่วนของการเปิดตัวโครงการใหม่ และอัตราการขายที่ดีขึ้น ล้วนมาจากปัจจัยบวกทั้งในเรื่องที่การธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ผ่อนปรนมาตรการ LTV เป็นการชั่วคราว มีผลบังคับใช้สำหรับสัญญาเงินกู้ยืมซื้อที่อยู่อาศัยตั้งแต่ 20 ตุลาคม 2564 -31 ธันวาคม 2565 บวกกับมาตรการเปิดประเทศในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนนี้

ซึ่งจากปัจจัยดังกล่าวทำให้กำลังซื้อเริ่มกลับมาให้ความสนใจตลาดคอนโดมิเนียมอีกครั้ง ส่งผลให้ภาพรวมตลาดในช่วงไตรมาสที่ 3 ที่ผ่านมากลับมาคึกคักเป็นอย่างมาก ทั้งในเรื่องของการเปิดตัวโครงการใหม่รวมถึงแผนการเปิดตัวในช่วงไตรมาสสุดท้ายที่ผู้พัฒนาเป็นจำนวนมาก มองว่าเป็นช่วงจังหวะที่ดีที่จะกลับมาเปิดตัวโครงการใหม่อีกครั้งในปีนี้ ทั้งในย่านพระรามสี่ ลาดพร้าว บางนา สุขุมวิทตอนปลาย รามอินทรา เป็นต้น

Advertisement

“คาดการณ์ว่าในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2564 จะมีอุปทานคอนโดมิเนียมเปิดขายใหม่ในพื้นที่กรุงเทพฯ อย่างคึกคักขายรับมาตรการเปิดประเทศของรัฐบาลอีกประมาณ 8,000 ยูนิต ซึ่งอาจส่งผลให้อุปทานเปิดขายใหม่ของตลาดคอนโดมิเนียมในพื้นที่กรุงเทพมหานครในปีนี้ปรับตัวมาอยู่ที่ 19,472 ยูนิต เท่ากับว่าอาจปรับตัวลดจากในปีก่อนหน้าถึงร้อยละ 12.6 และส่วนใหญ่ยังคงกระจายตัวอยู่ในพื้นที่รอบใจกลางเมืองและพื้นที่กรุงเทพฯชั้นนอก ในระดับราคาขายที่ไม่สูงมากโดยเฉพาะในช่วงระดับราคา 50,000-100,000 บาทต่อตารางเมตร หรือในทำเลรอบใจกลางเมือง ที่เน้นเรื่องราคาและทำเลเป็นจุดขาย เพื่อดึงดูดความสนใจของผู้ซื้อ และคาดว่าการเปิดตัวในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีจะกลับมาคึกคักและหลายโครงการของผู้พัฒนารายใหญ่จะยังคงได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีหรือบางโครงการอาจปิดการขายลงในระยะเวลที่รวดเร็ว”นายภัทรชัยกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image