รู้จัก ‘เคหะสุขประชา’ บ้านเช่าผู้มีเบี้ยน้อย

รู้จัก ‘เคหะสุขประชา’ บ้านเช่าผู้มีเบี้ยน้อย

ได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2564 แล้ว กับการตั้งบริษัทลูกอีกบริษัทของ การเคหะแห่งชาติ (กคช.) ในชื่อ “บริษัทเคหะสุขประชา จำกัด (มหาชน) (KE-ED) หรือ บมจ.เคหะสุขประชา” ซึ่งถือเป็นรัฐวิสาหกิจแรกที่ตั้ง บมจ.
นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ กล่าวว่า สืบเนื่องจากนโยบาย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ได้มอบหมายให้ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ดำเนินการจัดสร้างที่อยู่อาศัยประเภทเช่าเพิ่มมากขึ้น เพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย และสร้างโอกาสให้ประชาชนที่มีรายได้น้อย สามารถเข้าถึงที่อยู่อาศัยได้อย่างทั่วถึง อย่างน้อยปีละ 20,000 หลัง ให้ได้ 100,000 หน่วยทั่วประเทศ ภายในระยะเวลา 5 ปี (พ.ศ.2564-2568) ตามแผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) โดย นายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.พม.ได้มอบให้ กคช.ดำเนินการต่อ

เป็นที่มาของ “โครงการบ้านเคหะสุขประชา” สร้างบ้านเช่าราคาถูก พร้อมส่งเสริมอาชีพผู้อยู่อาศัย จำนวน 100,000 ยูนิต ซึ่งปัจจุบันกำลังดำเนินการก่อสร้างแล้วใน 2 พื้นที่นำร่อง คือ โครงการบ้านเคหะสุขประชาร่มเกล้า และโครงการบ้านเคหะสุขประชาฉลองกรุง รวม 573 ยูนิต อัตราค่าเช่าเริ่มต้นที่ 1,500-3,000 บาทต่อเดือน ผลปรากฏว่ามีประชาชนให้ความสนใจลงทะเบียนจองสิทธิจำนวนมาก รวม 6,600 ราย สะท้อนว่าประชาชนมีความต้องการโครงการนี้มาก

แต่ทั้งนี้ ด้วยเป็นโครงการที่เราต้องสร้างบ้านเช่าอีกมาก สร้าง 1 แสนหลัง หลังละ 6 แสนบาท รวมใช้เงินลงทุน 6 หมื่นล้านบาท ซึ่งท่ามกลางภาวะหนี้สินของ กคช.รวม 3.4 หมื่นล้านบาท โดยมีความสามารถในการหารายได้เทียบกับภาระหนี้ของกิจการ (Debt Service Coverage Ration :DSCR) ต่ำมาก หรืออัตราส่วน DSCR เท่ากับ 0.46 เท่า จนติด 1 ใน 5 รัฐวิสาหกิจที่มีภาวะหนี้สินมาก ฉะนั้น การจะพัฒนาโครงการอะไรก็ลำบาก แม้จะกู้โดยให้กระทรวงการคลังค้ำประกันได้ แต่ก็จะก่อหนี้สาธารณะของประเทศเพิ่มขึ้นไปอีก ฉะนั้น ทางเดียวที่จะทำได้คือ ตั้งบริษัทลูกขึ้นมา แล้วเอามืออาชีพมาบริหาร

สำหรับ บมจ.เคหะสุขประชา มีทุนจดทะเบียน 500 ล้านบาท แยกเป็นทุนจาก กคช. จำนวน 245 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 49 และเงินลงทุนจากภาคเอกชน จำนวน 255 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 51 ซึ่งขณะนี้มี บมจ.ทิพยประกันภัย, บมจ.ทุนธนชาต, บมจ.บีซีพีจี และ บจ.วินโดว์ เอเชีย เข้ามาถือหุ้น

Advertisement

โดยมีโครงการธุรกิจและแผนการลงทุน 5 ด้าน คือ

1.พัฒนาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ภาคที่อยู่อาศัย จัดทำโครงการบ้านเช่าฯ 4 รูปแบบ ครอบคลุม 4 กลุ่มเป้าหมาย ดังนี้

กลุ่มที่ 1 ผู้สูงอายุ คนพิการ แบบบ้านแฝดชั้นเดียว/2 ชั้น ที่ดิน 16 ตารางวา พื้นที่ใช้สอย 30 ตารางเมตร อัตราค่าเช่า 1,500 บาทต่อเดือน

กลุ่มที่ 2 ผู้มีสถานะโสด แบบบ้านแฝดชั้นเดียว/2 ชั้น ที่ดิน 16 ตารางวา พื้นที่ใช้สอย 30 ตารางเมตร อัตราค่าเช่า 2,000 บาทต่อเดือน

กลุ่มที่ 3 ครัวเรือนใหม่ แบบบ้านแฝดชั้นเดียว/2 ชั้น ที่ดิน 17.5 ตารางวา พื้นที่ใช้สอย 40 ตารางเมตร อัตราค่าเช่า 2,500 บาทต่อเดือน

และกลุ่มที่ 4 ครอบครัว แบบบ้านแฝดชั้นเดียว/2 ชั้น ที่ดิน 20 ตารางวา พื้นที่ใช้สอย 50 ตารางเมตร อัตราค่าเช่า 3,500 บาทต่อเดือน

2.รับซื้อทรัพย์สินคงเหลือจาก กคช.มาบริหารการขาย เช่น โครงการบ้านเอื้ออาทร

3.พัฒนาและบริหารชุมชนของโครงการบ้านเช่าฯ และรับจ้างดูแลโครงการตามแผนแม่บทฯ 4.พัฒนาเศรษฐกิจชุมชนในพื้นที่โครงการบ้านเช่า อาทิ ตลาดนัดชุมชน ร้านสะดวกซื้อ เกษตรอินทรีย์ เป็นต้น และ 5.บริหารทรัพย์สินก่อนโครงการแล้วเสร็จ เพื่อไม่ให้เกิดต้นทุนจม (Sunk Cost)

“จากสถานการณ์โควิด และสภาพเศรษฐกิจ ทำให้คนซื้อบ้านยากขึ้น การเคหะฯจึงเน้นมาทำบ้านเช่า แต่ด้วยวิเคราะห์แล้วเห็นว่าบ้านเช่าอย่างเดียวปัญหาไม่จบ จึงต้องเป็นบ้านเช่าพร้อมอาชีพ แต่ที่ผ่านมาการเคหะฯ สร้างบ้านอย่างเดียว เราไม่เคยทำเรื่องการส่งเสริมอาชีพ 6 กลุ่ม ได้แก่ เกษตรอินทรีย์ ปศุสัตว์ อาชีพบริการ ตลาด อุตสาหกรรมขนาดเล็ก และศูนย์การค้าปลีกส่ง ฉะนั้นการมีบริษัทลูก และมีเอกชนรายใหญ่มาร่วมทุน เชื่อว่าทุกคนจะเข้ามาเสริมศักยภาพเรา ซึ่งเร็วๆ นี้ จะเปิดเทียร์ 2 ให้เข้ามาร่วมทุนอีก เบื้องต้นมีเอกชนรายใหญ่แสดงความสนใจแล้ว เช่น เครือสหพัฒน์ เครือซีพี ที่จะเข้ามาเป็นปลายทางรับซื้อผลิตภัณฑ์ จากการส่งเสริมอาชีพของเราได้”

ผู้ว่าการ กคช.กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ กคช.ได้คุยกับธนาคารออมสิน ธนาคารธนชาต ในการปล่อยสินเชื่อให้ผู้อยู่อาศัยที่เข้ารับการส่งเสริมอาชีพ เช่น นาย ก.กู้เงินมาเพื่อเช่าบ้าน เช่าบ่อ และประกอบอาชีพเลี้ยงปลาทับทิม พอบ่อปลาเริ่มให้ผลผลิตและรายได้สมมุติว่าได้ 2 หมื่นบาทต่อเดือน นาย ก.จะมีเงินค่าเช่าบ้าน 1,500-3,000 บาทต่อเดือน มีเงินค่าเช่าบ่อ และเงินผ่อนคืนธนาคาร นาย ก.จะเริ่มมีอนาคต ฉะนั้นก็หวังว่าจะช่วยคนมีรายได้น้อย คนตกงาน คนไร้บ้าน ตลอดจนผู้อยู่อาศัยรุกล้ำที่สาธารณะทั่วประเทศ ให้มีบ้านและอาชีพที่มั่นคงต่อไป

อย่างไรก็ตาม กระบวนการหลังจากนี้ จะเร่งตั้งดำเนินการตั้ง บมจ.เคหะสุขประชา พร้อมเดินหน้าโครงการบ้านเคหะสุขประชา ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ อีก 13 โครงการ คาดว่าจะเห็นชอบในเร็วๆ นี้ ก่อนเสนอบอร์ด กคช. และ ครม.ต่อไป ส่วนโครงการสร้างที่อยู่อาศัยอื่นๆ ในส่วน กคช.อีก 9 แสนหน่วย ตามแผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี กคช.ยังทำเหมือนเดิม

นายทวีพงษ์กล่าวย้ำว่า สิ่งหนึ่งที่เราต้องเสนอตั้งเป็น บมจ.คือ อยากให้มีความโปร่งใสตั้งแต่วินาทีแรก เพราะการเป็น บมจ.จะต้องมีกระบวนการและขั้นตอนตรวจสอบจาก สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) และพอเวลาผ่านไปจะไม่ถูกบิดเบือน ซึ่งเป็นปัญหาของบริษัทลูกของการเคหะฯ ที่ถูกภาคเอกชนเข้ามาแทรกแซง รับห้องเช่าจากการเคหะฯ ไปหลักร้อยบาท แล้วปล่อยเช่าช่วงห้องเปล่าพร้อมคิดออปชั่นเฟอร์นิเจอร์เพิ่ม จนมีค่าเช่ารวมถึง 3,000 บาท

“ผมถูกชาวการเคหะฯ บางส่วน มองว่าจะเข้ามาสร้างความเสียหายให้องค์กรหรือไม่ ทั้งที่เข้ามาทำเรื่องคุณธรรม ความโปร่งใส เข้ามาเปลี่ยนแปลงทุกอย่าง เขาไม่ได้มองว่าที่เขาทำอยู่ จะทำให้องค์กรล้มละลายเลย ฉะนั้นเชื่อว่าการมีบริษัทลูกเข้ามาขับเคลื่อนงาน จะช่วยให้สภาพองค์กรเราดีขึ้น” นายทวีพงษ์กล่าวทิ้งท้าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image