การบินไทย พลิกกำไร โชว์ตัวเลข 9 เดือนแรก แตะ 5.1 หมื่นล้านบาท

การบินไทย พลิกกำไร โชว์ตัวเลข 9 เดือนแรก แตะ 5.1 หมื่นล้านบาท

เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน การบินไทย ได้ทำหนังสือถึงตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า 9 เดือนแรกของปี 2564 บริษัทฯ และ บริษัทย่อย มีกำไรสุทธิ 51,115 ล้านบาท จากปีก่อนที่ขาดทุนสุทธิ 49,561 ล้านบาท โดยเป็นกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่ 51,121 ล้านบาท คิดเป็นกำไรต่อหุ้น 23.42 บาท

ในขณะที่ปีก่อน ขาดทุนต่อหุ้น 22.70 บาท โดยมี EBITDA เป็นลบ จำนวน 9,639 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 5,044 ล้านบาท EBITHA Margin เท่ากับ -64.2% เปรียบเทียบกับปีก่อนที่เท่ากับ -10.4%

ทั้งนี้ ในช่วง 9 เดือนแรกนั้น มีรายได้รวมทั้งสิ้น 14,990 ล้านบาท ต่ำกว่าปีก่อน 29,230 ล้านบาท หรือ 66.1% สาเหตุหลักจากรายได้จากการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าลดลง 29,185 ล้านบาท รายได้จากบริการอื่นๆ ลดลง 1,288 ล้านบาท เนื่องจากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศทั้งของไทยและประเทศต่างๆ

มีรายได้อื่นเพิ่มขึ้น 1,243 ล้านบาท สาเหตุหลักจากการรับรู้รายได้ที่เกิดจากการหักลบกลบหนี้ค่าบริการรายเดือนและค่าซ่อมบำรุง ตามสัญญาที่ค้างชำระตามข้อตกลงระงับข้อพิพาทเรียกร้องค่าเสียหายที่เกี่ยวข้องกับการชำรุดของเครื่องยนต์

Advertisement

สำหรับค่าใช้จ่ายรวมทั้งสิ้น 36,481 ล้นบาท ต่ำกว่าปีก่อน 41,695 ล้านบาท เนื่องจากค่าใช้จ่ายดำเนินงานที่แปรผัน

การไม่สามารถบินได้ตามปกติ ส่งผลให้ขาดทุนจากการดำเนินงานไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว 21,491 ล้านบาท แต่ขาดทุนลดลงจากปีก่อน 12,465 ล้านบาท

ในงวด 9 เดือนแรก บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว-สุทธิ เป็นรายได้รวม 73,084 ล้านบาท ประกอบด้วย

– กำไรจากการขายเงินลงทุน 2,202 ล้านบาท
– กำไรจากการขายสินทรัพย์จำนวน 628 ล้านบาท
– กำไรจากการปรับโครงสร้างหนี้ จํานวน 60,730 ล้านบาท
– เงินชดเชยโครงการร่วมใจจากองค์กร 4,936 ล้านบาท
– เงินชดเชยกรณีเลิกจ้างพนักงาน 1,222 ล้านบาท
– การปรับปรุงรายการผลประโยชน์พนักงานลดลง 8,323 ล้านบาท จากการปรับโครงสร้างองค์กร และผลประโยชน์ของพนักงาน
– ผลขาดทุนจากการด้อยค่าของเครื่องบินและสินทรัพย์สิทธิการใช้และอุปกรณ์การบินหมุนเวียน จำนวน 18,440 ล้านบาท
– ผลขาดทุนจากการด้อยค่าซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 9 จำนวน 116 ล้านบาท
– ขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ จำนวน 11,197 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการตีมูลค่าทางบัญชีของหนี้สินที่เป็นเงินตราต่างประเทศ รวมหนี้สินตามสัญญาเช่าดำเนินงานเครื่องบินตามมาตรฐานรายงานทางการเงินฉบับที่ 16

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image