ผู้เขียน | สุโชติ ถิรวรรณรัตน์ |
---|
คิดเห็นแชร์ : ‘เงินเฟ้อ’ปัญหาที่ต้องติดตามต่อในปีหน้า
บทความ “คิด เห็น แชร์” ฉบับนี้ ผมจะขอแชร์มุมมอง เรื่องอัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญทั่วโลกในขณะนี้ โดยผลกระทบของอัตราเงินเฟ้อนี้ อาจเป็นปัจจัยกดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในอนาคตได้เช่นกัน
ภายหลังการอัดงบกระตุ้นเศรษฐกิจของธนาคารกลางทั่วโลก โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) และธนาคารกลางยุโรป (ECB) รวมไปถึงนโยบายการคลังของรัฐบาลประเทศต่างๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่ชะลอตัวรุนแรงจาก “โควิด-19” ส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวขึ้นมาอย่างมาก อาทิ น้ำมันดิบ ถ่านหิน วัสดุก่อสร้าง (เหล็ก) และราคาสินค้าเกษตรหลายชนิดที่เชื่อมโยงกับราคาพลังงาน (ถั่วเหลือง ข้าวโพด ปาล์มน้ำมัน ยางพารา เป็นต้น) ล่าสุดอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐ (Consumer Price Index: CPI) เดือน ต.ค.2565 เท่ากับ 6.2% YoY สูงสุดตั้งเดือน พ.ย.2533 เป็นต้นมา ซึ่งกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่กดดันให้นักลงทุนและนักเศรษฐศาสตร์กังวลต่อโอกาสในการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ Fed ที่อาจเร็วกว่าคาด เพื่อสกัดกั้นภาวะเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นในขณะนี้ ในทางกลับกันการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนนโยบายเพื่อสกัดกั้นภาวะเงินเฟ้อก็อาจเป็นดาบสองคม ที่ไปขวางกั้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ รวมทั้งเป็นการเพิ่มต้นทุนทางการเงินทั้งของรัฐบาลที่มีการกู้เงินมาเพื่อใช้ในนโยบายการคลังเพื่อประคับประคองภาวะเศรษฐกิจในภาวะวิกฤตโควิด-19 และรวมไปถึงภาคเอกชนที่ต้นทุนทางการเงินก็จะเพิ่มขึ้นเช่นกัน
อย่างไรก็ดี นักเศรษฐศาสตร์ บล. เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ยังคงประเมินว่าภาวะเงินเฟ้อของสหรัฐที่เร่งตัวขึ้นในขณะนี้จะเป็นการเกิดขึ้นเพียงชั่วคราวเท่านั้น และคาดอัตราเร่งของภาวะเงินเฟ้อของสหรัฐจะเริ่มชะลอตัวลงในเดือน ม.ค.2565 เป็นต้นไป ดังนั้น ในภาพรวมผมยังประเมินว่าช่วงเวลาที่เหมาะสมที่ Fed ตัดสินใจขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย จะเป็นครึ่งปีหลังของปี 2565 เป็นต้นไป
สำหรับภาวะเงินเฟ้อในประเทศไทย อาจจะแตกต่างจากภาวะเงินเฟ้อของสหรัฐที่น่าจะใกล้ถึงจุดสูงสุดแล้ว ซึ่งอัตราเงินเฟ้อของประเทศไทยในเดือน ต.ค.2565 เท่ากับ 2.38% YoY และน่าจะยังมีแนวโน้มที่จะยืนในระดับสูงต่อเนื่องในปี 2565 โดยนักเศรษฐศาสตร์ของเคจีไอ ประเมินอัตราเงินเฟ้อของไทยปี 2565 อยู่ที่ราว 2.5% เนื่องจากเป็นผลจากมาตรการภาครัฐที่ช่วยเหลือค่าครองชีพ (ลดค่าน้ำ ค่าไฟ ในช่วง Work from Home) หมดลง ซึ่งส่วนนี้มีผลต่ออัตราเงินเฟ้อราว 1% ขณะที่ราคาน้ำมันเฉลี่ยปี 2565 คาดจะสูงกว่าค่าเฉลี่ยในปี 2564 นอกจากนี้ ผมประเมินว่าโอกาสที่ราคาสินค้าอาหารจะปรับขึ้นจาก “ความต้องการ” (หรืออุปสงค์) การบริโภคอาหารทั้งในประเทศและการส่งออกจะเริ่มฟื้นตัวตามภาคการท่องเที่ยว และรวมไปถึงการกลับมาเปิดโรงเรียน
นอกเหนือจากต้นทุนส่วนใหญ่ที่ปรับขึ้นตามทิศทางราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกแล้ว ผลจากปรากฏการณ์ “ลานิญา” ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ได้ส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตรทั่วโลก กล่าวคือ ปริมาณน้ำฝนเพิ่มขึ้นในภูมิภาคเอเชีย (น้ำท่วมในประเทศไทย ช่วงฤดูฝนที่ผ่านมา) และภูมิอากาศแห้งแล้งทางฝั่งทวีปอเมริกาซึ่งอาจทำให้ผลผลิตภาคการเกษตรที่สำคัญๆ อย่าง ถั่วเหลืองและข้าวโพด มีปริมาณที่ลดต่ำลงได้ อย่างไรก็ดี ในทางกลับกันข้อดีของปรากฏการณ์ลานิญา ก็คือ ปริมาณน้ำที่เต็มเขื่อนในประเทศไทยขณะนี้ ซึ่งจะทำให้เกษตรกรไทยสามารถทำการเกษตรได้เต็มประสิทธิภาพในฤดูแล้งปี 2565
กลับมาที่การลงทุนในตลาดหุ้นไทย ผลจากการคาดการณ์ภาวะเงินเฟ้อดังกล่าว แม้ในภาพรวมตามทฤษฎีเศรษฐศาสตร์แล้วภาวะเงินเฟ้อที่ไม่สูงเกินไปนักจะเป็นผลดีต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ แต่ผลกระทบต่อภาคธุรกิจจะแตกต่างกันไป ธุรกิจในภาคการผลิตที่อาจได้รับผลกระทบจากต้นทุนวัตถุดิบที่ปรับสูงขึ้น แต่ไม่สามารถปรับราคาขายสินค้าขึ้นได้ในทันที แต่ในทางกลับกันธุรกิจที่มีความยืดหยุ่นของอุปสงส์ต่อราคาต่ำ เช่น สินค้าจำเป็นในชีวิตประจำวัน จะได้รับผลกระทบที่น้อยกว่า และธุรกิจที่เชื่อมโยงกับสินค้าโภคภัณฑ์โดยตรงจะได้อานิสงส์เชิงบวกหากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับขึ้น เป็นต้น ซึ่งผมประเมินว่าตลาดหุ้นไทยที่ยังเป็นตลาดเกิดใหม่และมีธุรกิจที่เชื่อมโยงกับสินค้าจำเป็น (เช่น ธุรกิจอาหาร) และสินค้าโภคภัณฑ์ (พลังงาน เกษตร) หลายตัว
ดังนั้น หากเราวิเคราะห์ถึงแนวโน้มของภาวะเงินเฟ้อในปีหน้าได้ถูก ก็จะสามารถกำหนดกลยุทธ์การลงทุนเพื่อป้องกันภาวะเงินเฟ้อ (Inflation Hedging) ได้
สุโชติ ถิรวรรณรัตน์
ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย KGI