สภาพัฒน์ เผย ใช้ พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้าน ตรึงราคาน้ำมันไม่ได้ ยันจ่ายประกันรายได้เกษตรแน่

สภาพัฒน์ เผย ใช้ พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้าน ตรึงราคาน้ำมันไม่ได้ ยันจ่ายประกันรายได้เกษตรแน่ สรุปผลกลางเดือนธ.ค.นี้

วันที่ 22 พฤศจิกายน 2564 นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยว่า ราคาน้ำมันที่สูงขึ้น เป็นผลกระทบจากตลาดโลก การใช้เงินกู้จาก ระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงินฉบับเพิ่มเติม 5 แสนล้านบาท ซึ่งมีวัตถุประสงค์บรรเทาผลกระทบโควิดและฟื้นฟูเศรษฐกิจนั้น มาพยุงราคาน้ำมันอาจจะติดในข้อกฎหมาย ซึ่งจะต้องไปดูในรายละเอียดอีกครั้ง อย่างไรก็ดี ต้องใช้กลไกที่มีอยู่ให้เต็มที่ก่อน หากยังมีผลกระทบในเรื่องนี้อยู่ ก็จะใช้มาตรการลดภาษีเป็นลำดับสุดท้าย

“เท่าที่ได้มีการหารือกับผู้ที่อยู่ในด้านนี้ ก็มองว่าราคาน้ำมันคงมีโอกาสที่จะเพิ่มขึ้นไปแตะ 100 เหรียญต่อบาร์เรล คงยากและยังไม่มีในช่วงนี้ ซึ่งถามว่าต้องใช้เงินกู้ในการช่วยเหลือเยียวยาได้หรือไม่ ต้องดูข้อกฎหมายให้ชัดเจน ซึ่งก็น่าจะต้องใช้มาตรการและกลไกที่มีอยู่ก่อน” นายดนุชา กล่าว

นายดนุชา กล่าวว่า ส่วนเรื่องการออกมาตรการคงราคาก๊าชหุงต้ม หรือ แอลพีจี เพื่อช่วยเหลือครัวเรือนนั้น ที่ผ่านมาตั้งแต่มีโควิดระบาด คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติให้ลดราคา เพื่อบรรเทาภาระประชาชน โดยใช้งบประมาณจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ส่วนรอบนี้จะขอใช้เงินกู้ พ.ร.ก.กู้เงินฉบับเพิ่มเติม 5 แสนล้านบาท ในการบรรเทาภาระประชาชนช่วงโควิดก็สามารถทำได้ ผ่านโครงการจากกระทรวงพลังงาน ซึ่งขณะนี้กระทรวงพลังงานกำลังดูรายละเอียดโครงการและปัญหาข้อกฎหมายต่างๆ อยู่ ซึ่งคาดว่าจะไว้วงเงินประมาณ 2,000 ล้านบาท เพื่อลดภาระค่าครองชีพให้ประชาชน 2-3 เดือน

Advertisement

นายดนุชา กล่าวว่า สำหรับเรื่องของประกันรายได้พืชผลทางการเกษตร ในฤดูการผลิต 2564/65 คงไม่มีการสะดุด เนื่องจากยังคงมีมาตรการอยู่ รัฐบาลก็คงจะดำเนินการจ่ายต่อไป แต่ว่าต้องดูเรื่องที่มาของแหล่งเงินด้วย เนื่องจากงบประมาณของภาครัฐมีข้อจำกัด โดยกระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็จะเร่งหารือให้ได้ข้อสรุปโดยเร็ว ภายใน สิ้นเดือนพฤศจิกายน หรืออย่างช้าไม่เกินกลางเดือนธันวาคมนี้ น่าจะมีวิธีแก้ไขปัญหาที่ชัดเจนออกมาแน่นอน

นายดนุชา กล่าวว่าโดยในครั้งนี้ยังคงไม่มีการทบทวนหรือปรับปรุงโครงการใหม่ ต้องดูเรื่องของแหล่งเงินว่าจะเอามาจากไหน ไปจ่ายคืนให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และให้นำไปใช้ชดเชยในโครงการประกันรายได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งในอนาคตจำเป็นต้องมีการปรับระบบการเกษตร จะให้อยู่กับโครงการประกันรายได้อย่างเดียวคงไม่ได้ แม้ว่าที่ผ่านมาจะช่วยในเวลาที่ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำได้ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องมีการปรับปรุงระบบการผลิตด้วย ให้มีคุณภาพ และเพิ่มมูลค่าสินค้า เพิ่มรายได้เกษตรกร เป็นเรื่องที่ต้องช่วยกันหลายฝ่าย

“การประกันรายได้ นั้นมีต่อเรื่องคุณภาพสินค้าเหมือนกัน ทำให้ไม่เกิดการพัฒนา ดังนั้นจึงต้องมีการทำมาตรการคู่กับการพัฒนาระบบการเกษตร ซึ่งเรื่องงบประมาณที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ก็มีการหารือกันอยู่ เพราะมันเป็นภาระให้กับรัฐบาลค่อนข้างเยอะ แค่เฉพาะข้าวอย่างเดียวก็เยอะแล้ว ยังไม่รวม มันสำปะหลัง ปาล์มอีก แต่ก็โชคดีว่า ขณะนี้ ราคายางพารา ดี จึงไม่ต้องไปจ่ายชดเชย แต่ถ้าอนาคตสินค้าเกษตรหลายตัวราคาลงพร้อมนี้ ก็ยุ่งได้” นายดนุชา กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image