‘ศบค.’ อ้อนนายจ้างนำเข้าแรงงานต่างด้าวถูกกฎหมาย หลังพบคลัสเตอร์กิจการเสี่ยงติดเชื้อเพิ่มไม่หยุด

‘ศบค.’ อ้อนนายจ้างนำเข้าแรงงานต่างด้าวถูกกฎหมาย หลังพบคลัสเตอร์กิจการเสี่ยงติดเชื้อเพิ่มไม่หยุด

พญ.สุมณี วัชรสินธุ์ ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า จำนวนผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่สูงสุดใน 10 จังหวัดแรก ได้แก่ 1.กรุงเทพฯ 734 คน 2.สงขลา 426 คน 3.นครศรีธรรมราช 290 คน 4.เชียงใหม่ 245 คน 5.สุราษฎร์ธานี 237 คน 6.สมุทรปราการ 235 คน 7.ชลบุรี 205 คน 8.ปัตตานี 177 คน 9.ยะลา 140 คน และ 10.ตรัง 129 คน ซึ่งในจำนวนจังหวัดทั้งหมด พบว่ามีเพียง 2 จังหวัดเท่านั้น ที่ไม่มีผู้ติดเชื้อโควิด ได้แก่ 1.แพร่ 2.อำนาจเจริญ โดยแยกผู้ติดเชื้อโควิดในประเภทคลัสเตอร์ พบในคลัสเตอร์โรงงานและสถานประกอบการ มีกรุงเทพฯ 49 ราย ปราจีนบุรี 9 ราย และลำพูน 14 ราย คลัสเตอร์ตลาด มีพะเยา 8 ราย ขอนแก่น 7 ราย จันทบุรี 4 ราย อุดรธานี 2 ราย คลัสเตอร์แคมป์คนงานก่อสร้าง มีลำพูน 6 ราย กรุงเทพฯ 5 ราย สงขลา 2 ราย คลัสเตอร์โรงเรียนและสถานศึกษา มีอุบลราชธานี 11 ราย สระแก้ว 8 ราย แม่ฮ่องสอน 7 ราย สุราษฎร์ธานี 4 ราย โดยคลัสเตอร์โรงเรียนและสถานศึกษา ที่รายงานพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนั้น ขอเน้นย้ำว่าเมื่อสอบสวนโรคเสร็จแล้วไม่จำเป็นต้องปิดทั้งโรงเรียน ควรปิดเฉพาะห้องหรือชั้นเรียนตามการสอบสวนโรค ส่วนในชั้นเรียนอื่นๆ ที่ไม่ได้เป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ก็ยังสามารถปฏิบัติงานได้ตามปกติ แต่ควรสุ่มตรวจเชื้อด้วยชุดตรวจเอทีเคตามความเหมาะสม

พญ.สุมณีกล่าวว่า จากรายงานการติดเชื้อที่แยกตามคลัสเตอร์ทุกครั้ง พบว่าการติดเชื้อในกิจการเสี่ยง ได้แก่ โรงงาน แคมป์ก่อสร้าง ตลาดสด ซึ่งการทำกิจการเหล่านี้จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ ปัจจัยหลักอยู่ที่แรงงาน เมื่อมีการผ่อนคลายมาตรการมากขึ้น ความต้องการด้านแรงงานก็จะเพิ่มขึ้นตาม ทำให้พบการลักลอบนำแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายเข้าประเทศอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากการประชุม ศบค.วันที่ 12 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ได้มีมติเรื่องแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติเข้ามาอย่างถูกกฎหมายผ่านการทำบันทึกข้อตกลง (เอ็มโอยู) ซึ่งทั้งหมดมี 7 ขั้นตอนที่เป็นมาตรฐานในการดำเนินการ เพื่อวัตถุประสงค์ 2 ข้อหลัก ได้แก่ 1.ให้ประชาชนคนไทยมีความปลอดภัยด้านสาธารณสุข จากการลดการแพร่ระบาดที่เกิดขึ้นจากการนำเข้าแรงงานต่างด้าวแบบไม่ถูกต้อง 2.แรงงานต่างด้าวจะได้รับการดูแลด้านสุขภาพ ภายใต้มาตรการด้านสาธารณสุขไทย โดยรายละเอียดทั้ง 7 ขั้นตอนนี้จำเป็นจะต้องหารือและประชุมร่วมกับทุกหน่วยงานไม่ว่าจะเป็นกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงต่างประเทศ รวมถึงตัวแทนของผู้ประกอบการหรือนายจ้าง ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการให้ความร่วมมือ โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายในการกักตัวและตรวจหาเชื้อแบบ RT-PCR ของแรงงานต่างด้าว ซึ่งเจ้าของกิจการหรือนายจ้างต้องเป็นผู้ดูแล และขณะนี้เห็นนายจ้างเข้ามายื่นเรื่องดำเนินการจำนวนมากแล้ว ส่วนนายจ้างที่อาจยังไม่เข้าใจรายละเอียดและต้องการรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่กรมการจัดหางาน สายด่วน 1694 และสายด่วน 1506 กด 2 รวมถึงยื่นคำร้องขอนำเข้าแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานแบบถูกกฎหมายได้ โดยการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ในวันที่ 26 พฤศจิกายนนี้ จะมีการหารือถึงความชัดเจนเงื่อนไขและมาตรการทั้ง 7 ขั้นตอนอีกครั้ง

“แม้การนำเข้าแรงงานแบบถูกกฎหมาย อาจยังมีความไม่สะดวก หรือติดขัดอยู่บ้าง แต่อยากขอความร่วมมือให้เจ้าของกิจการหรือนายจ้างช่วยกัน เพื่อให้เปิดประเทศแบบนิวนอร์มอล ที่มีความปลอดภัยทั้งกับตัวเอง ครอบครัว และชุมชน” แพทย์หญิงสุมณีกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image