พณ.โชว์ธุรกิจดาวเด่น ‘ดิจิทัล ยาสมุนไพร ปลูกข้าว’ แห่เปิดใหม่ 8-20 เท่าตัวช่วง 10 เดือนปีนี้

พณ.โชว์ธุรกิจดาวเด่น ‘ดิจิทัล ยาสมุนไพร ปลูกข้าว’ แห่เปิดใหม่ 8-20 เท่าตัวช่วง 10 เดือนปีนี้

นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า ธุรกิจจัดตั้งใหม่เดือนตุลาคม 2564 มีจำนวน 5,555 ราย มีมูลค่าทุนจดทะเบียน 21,965 ล้านบาท แง่จำนวนลด 5% จากเดือนกันยายนปีนี้ แต่เพิ่มขึ้น 3% เทียบตลุาคมปีก่อน ส่วนมูลค่าทุน เพิ่มขึ้น 57% จากเดือนกันยายนปีนี้ และลดลง 50% เทียบตุลาคมปีก่อน ประเภทธุรกิจจัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจขนส่งและขนถ่ายสินค้ารวมถึงคนโดยสาร โดยช่วงทุนจัดตั้งใหม่มากสุด คือไม่เกิน 1 ล้านบาท สัดส่วน 73.81% สำหรับธุรกิจเลิกกิจการเดือนตุลาคม 2564 มีจำนวน 1,976 ราย มีมูลค่าทุนจดทะเบียน 207,654 ล้านบาท แง่จำนวนเพิ่ม 31% จากเดือนกันยายนปีนี้ และลบ 4% เทียบตุลาคมปีก่อน ธุรกิจเลิกสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจขายสลากกินแบ่ง โดยช่วงทุนธุรกิจเลิกกิจการมากที่สุด คือไม่เกิน 1 ล้านบาท สัดส่วน 70.91%

นายทศพล กล่าวว่า ช่วง 10 เดือนแรกปี 2564 จัดตั้งธุรกิจใหม่ 63,611 ราย เพิ่มขึ้น 14.46% เปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันปี 2563 ส่วนจดทะเบียนเลิกธุรกิจ 10 เดือนสะสม 10,725 ราย ลดลง 13.86% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ธุรกิจจัดตั้งสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างทั่วไป 6,073 ราย ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 2,849 ราย และธุรกิจขนส่งและขนถ่ายสินค้ารวมถึงคนโดยสาร 1,957 ราย ขณะที่ ธุรกิจก่อสร้างทั่วไป และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เป็นธุรกิจที่ติดอันดับจดเลิกสูงที่สุดช่วง 10 เดือนแรกเช่นกัน

สำหรับจัดตั้งธุรกิจปี 2564 ปัจจัยหนุนมาจากนโยบายการผลักดันให้วิสาหกิจชุมชนจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลของภาครัฐ ซึ่งเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร เช่น ธุรกิจปลูกข้าวเจ้า จัดตั้งใหม่ถึง 610 ราย เพิ่มขึ้น 20 เท่าเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะเดียวกัน ธุรกิจบางประเภทมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นสอดรับกับพฤติกรรมของประชาชนที่เปลี่ยนแปลงไป จากสถานการณ์โควิด-19 ระบาด โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีดิจิทัล เช่น ธุรกิจสร้างแม่ข่าย จัดตั้งใหม่ 435 ราย เพิ่มขึ้น 9 เท่าจากช่วงเดียวกันปี2563 และ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับยารักษาโรค ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากนโยบายรัฐบาล เช่น ธุรกิจปลูกพืชประเภทเครื่องเทศ เครื่องหอม ยารักษาโรค และพืชทางเภสัชภัณฑ์ จัดตั้งใหม่ 174 ราย เพิ่มขึ้น 8 เท่า โดยกระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายส่งเสริมให้โรงพยาบาลของรัฐนำสมุนไพรมาใช้ในการรักษาโรคควบคู่กับการใช้ยาแผนปัจจุบัน การปลดล็อคกัญชงให้สามารถขออนุญาตปลูก ผลิตนำเข้าเมล็ดพันธุ์ ครอบครอง และจำหน่ายได้ รวมถึงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้มูลค่าการบริโภคสมุนไพร มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ผู้ประกอบการที่มองเห็นช่องทางในการปรับเปลี่ยนธุรกิจ หันมาจัดตั้งธุรกิจประเภทนี้มากขึ้น

Advertisement

“การผ่อนปรนมาตรการล็อคดาวน์ และจำนวนผู้ได้รับวัคซีนในประเทศที่เพียงพอ รวมทั้งนโยบายการเปิดประเทศเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ เป็นปัจจัยที่สร้างความเชื่อมั่นที่ดีในไตรมาส 4/2564 โดยกรมคาดการณ์ยอดจัดตั้งใหม่ทั้งปี 2564 มีจำนวน 65,000 – 70,000 ราย” นายทศพล กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image