ลุ้นคลังลด ‘ภาษีที่ดิน’ อีกปี บรรเทาโควิด ‘ท้องถิ่น-กทม.’ เผยรายได้วูบ 90% ขอรัฐชดเชย2หมื่นล้าน

ลุ้นคลังลด ‘ภาษีที่ดิน’ อีกปี บรรเทาโควิด ‘ท้องถิ่น-กทม.’ เผยรายได้วูบ 90% ขอรัฐชดเชย2หมื่นล้าน

เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน แหล่งข่าวจากกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น (สถ.) เปิดเผยว่า มีความเป็นไปได้สูงกระทรวงการคลังจะขยายการลดอัตราการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างออกไปอีก 1 ปี ขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาจะเก็บอัตราเดิม 10%หรืออัตรา 50% เพื่อเป็นการบรรเทาภาระของประชาชนผู้เสียภาษีประจำปี 2565 จากภาวะเศรษฐกิจและผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19

ภายในเดือนธันวาคมนี้กระทรวงการคลังจะต้องเคาะแนวทาง รวมถึงการกำหนดอัตราภาษีใหม่เนื่องจากบทเฉพาะกาลที่กำหนดอัตราภาษีที่ใช้จัดเก็บภาษีใน 2 ปีแรก ( 2563-2564 ) สิ้นสุดแล้ว จึงต้องมีการทบทวนและออกเป็นพระราชกฤษฎีกากำหนดอัตราภาษีใหม่

ในพ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างได้กำหนดเพดานอัตราภาษีของที่ดินแต่ละประเภท โดยที่ดินเกษตรกรรมอยู่ที่ 0.15% ที่อยู่อาศัยอยู่ที่ 0.3% ที่ดินใช้ประโยชน์อื่นอยู่ที่ 1.2% และที่ดินร้างว่างเปล่า หรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพอยู่ที่ 1.2%

ตามกฎหมายเมื่อครบ 2 ปีจะต้องมีการทบทวนอัตราเพดานใหม่  อยู่ที่คลังจะยื่นอัตราเดิมหรือกำหนดใหม่ เพื่อท้องถิ่นจะได้ดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป ตามไทม์ไลน์ให้ชำระในเดือนเมษายน 2565

Advertisement

รอคลังเคาะอัตรา จะยืนของเดิมหรือไม่

“คลังต้องสรุปแนวทางให้ชัด เพื่อบังคับใช้วันที่ 1 มกราคม 2565  โดยประมวลรายได้ท้องถิ่นที่หายไปช่วง 2 ปีและความเดือดร้อนของประชาชน แม้ว่าโควิดจะคลี่คลาย แต่ต้องมีภาระค่าภาษีเพิ่มอีก แนวทางรัฐอาจจะลดอัตราให้90%ต่อเนื่องเป็นปีที่3 หรือลด 50% เพื่อให้ท้องถิ่นมีรายได้นำเงินไปพัฒนาพื้นที่  ”

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ผลจากการเก็บภาษีที่ดินฯได้แค่ 10% ทำให้ท้องถิ่น 7,800 แห่งทั่วประเทศ รายได้หายไป 90% ต้องขอเงินชดเชยจากรัฐบาล  ในปี 2563 ผลจัดเก็บภาษีที่ดินฯทุกประเภทอยู่ที่ 3,339 ล้านบาท จากเดิมประมาณการณ์หากเก็บ 100% จะมีรายได้ 33,390 ล้านบาท เท่ากับรายได้ที่ควรจะได้หายไป 30,000 ล้านบาท  ซึ่งได้ขอเงินชดรายได้ของปี 2563 ไปแล้ว ทางเทศบาลตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบลได้รับชดเชยแล้ว 10,067 ล้านบาท ส่วนกรุงเทพมหานคร(กทม.) เมืองพัทยา เทศบาลนคร และเทศบาลเมือง ยังไม่ได้รับจากที่ขอไป 22,030 ล้านบาท

Advertisement

ปี’64 กทม.จัดเก็บได้แค่ 1.8 พันล้าน

แหล่งข่าวจากกรุงเทพมหานคร(กทม.) เปิดเผยว่า รอกระทรวงการคลังแจ้งอัตราภาษีที่จะจัดเก็บ จะคงอัตราเพดานเดิม และลด90% เพื่อบรรเทาภาระประชาชนเหมือนปีที่แล้วหรือไม่  ทั้งนี้จากมาตรการบรรเทาและมีประชาชนบางส่วนที่ไม่มาชำระภาษี ทำให้ผลการจัดเก็บภาษีที่ดินฯในปี 2564 กทม.จัดเก็บได้เพียง 1,802 ล้านบาท

ขณะที่ในปี 2565 ตั้งเป้าไว้ 7,000 กว่าล้านบาท บนพื้นฐานว่าจัดเก็บภาษีที่ดินฯในอัตรา 50% เป็นการประมาณการณ์ล่วงหน้าก่อนที่กระทรวงการคลังจะเคาะอัตราเหมือนกับปี 2564 ที่ตั้งเป้าไว้ 5,000 กว่าล้านบาท เต่เมื่อกระทรวงการคลังให้จัดเก็บแค่ 10% ทำให้รายได้ลดลง ซึ่งได้ขอให้รัฐชดเชยรายได้ของปี 2563 จำนวน 12,000 ล้านบาท แต่ยังไม่ได้รับอนุมัติ ขณะที่ปี 2564 จะขอชดเชยด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้กทม.มีบัญชีผู้เสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เป็นโฉนดที่ดิน 2.7 ล้านแปลง อาคารชุด 1 ล้านยูนิต และสิ่งปลูกสร้าง 3 ล้านหลัง ซึ่งสำนักงานเขตได้หารือจะมีขยายเวลาการชำระออกไปอย่างน้อย 1-2 เดือน ตามขั้นตอนจะต้องชำระในเดือนเมษายน 2565

”คลัง”ทำแบบสอบถามผู้เสียภาษีฯ

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา สำนักนโยบายภาษี สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ได้ทำแบบสอบถามความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง หลังพ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมีการใช้บังคับมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว

เพื่อให้มีข้อมูลสำหรับการพัฒนาและปรับปรุงการจัดเก็บภาษีที่ดินฯ จึงให้ผู้เสียภาษีให้ความคิดเห้นและข้อเสนอแนะต่อการจัดเก็บภาษีที่ดินฯ เพื่อนำไปพัฒนาและปรับปรุงการจัดเก็บให้มีประสิทธิภาพ มีความเป็นธรรม และเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันมากยิ่งขึ้น

ตัวอย่างแบบสอบถาม อาทิ ท่านคิดว่ามีความรู้ความเข้าใจพ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 2562 ในระดับใด ,ท่านทราบหรือไม่ว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล กรุงเทพมหานครและเมืองพัทยา จะนำรายได้จากการจัดเก็บภาษีไปเป็นค่าใช้จ่ายในการพัฒนาท้องถิ่น และจัดระบบบริการสาธารณะเพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่น เช่น การจัดการศึกษา การสาธารณสุข การกำจัดมูลฝอยสิ่งปฎิกูลและน้ำเสีย การจัดให้มีและบำรุงรักษาทางบก ทางน้ำและทางระบายน้ำ การรักษาความปลอดภัยและความเป็นระเบียบเรียบร้อย การจัดให้มีและบำรุงรักษาสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ

ท่านได้รับการบริการด้านใจบ้างจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ,ท่าเห็นว่าการกำหนดอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่แตกต่างกันตามประเภทการใช้ประโยชน์และตามมูลค่าที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างในปัจจุบันเหมาะสมแล้วหรือไม่ เป็นต้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image