“อาคม” กำชับ สคร. เร่งรัดเบิกจ่ายงบลงทุนรัฐวิสาหกิจไม่ต่ำกว่า 95% ของแผนปี 65 เพื่อผลักดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
นางปานทิพย์ ศรีพิมล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2564 ในการประชุมคณะกรรมการติดตามเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณและการใช้จ่ายภาครัฐ โดยมีนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน ได้กำชับให้ สคร. เร่งรัดการเบิกจ่ายของรัฐวิสาหกิจในไตรมาสสุดท้ายของปี 2564 ให้เป็นไปตามเป้าหมาย โดยสำหรับผลการเบิกจ่ายงบลงทุนในปี 2564 ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2564 มีผลการเบิกจ่ายงบลงทุนสะสม จำนวน 269,883 ล้านบาท หรือคิดเป็น 89% ของแผนการเบิกจ่ายสะสม และสำหรับรัฐวิสาหกิจปีงบประมาณ ที่ได้เริ่มการเบิกจ่ายงบลงทุนปีงบประมาณ 2565 มา 1 เดือน (ตุลาคม 2564) มีผลการเบิกจ่าย 3,222 ล้านบาท หรือคิดเป็น 47% ของแผนการเบิกจ่ายสะสม
นางปานทิพย์ กล่าวว่า คณะกรรมการติดตามฯ ได้กำหนดมาตรการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณและการใช้จ่ายภาครัฐ ประจำปีงบประมาณ 2565 โดยกำหนดเป้าหมายการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจไม่น้อยกว่า 95% ของกรอบวงเงินที่ได้รับอนุมัติเบิกจ่ายงบลงทุนตามมติคณะรัฐมนตรี โดยให้รัฐวิสาหกิจปรับปรุงงบลงทุนระหว่างปี 2565 ให้แล้วเสร็จภายในไตรมาสแรก
และปรับแผนการลงทุนให้สามารถเบิกจ่ายได้เร็วขึ้นในช่วงไตรมาส 1 และ 2 ของปี นอกจากนี้ ในปี 2565 สคร. จะกำกับเรื่องการปรับลดกรอบการลงทุนระหว่างปีของรัฐวิสาหกิจ ให้เข้มข้นขึ้น โดยกำหนดเงื่อนไขการปรับลดคะแนนประเมินผลการดำเนินงาน กรณีที่รัฐวิสาหกิจปรับลด กรอบการลงทุนเกินกว่า 5% ของกรอบการลงทุนสูงสุดที่ได้รับอนุมัติ เพื่อให้การเบิกจ่ายงบลงทุน ของรัฐวิสาหกิจช่วยผลักดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังสถานการณ์ โควิด – 19
น.ส.ปิยวรรณ ล่ามกิจจา ที่ปรึกษาด้านพัฒนารัฐวิสาหกิจ กล่าวว่า การเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจในปี 2564 ของรัฐวิสาหกิจปีงบประมาณได้สิ้นสุดการดำเนินการแล้ว และของรัฐวิสาหกิจ ปีปฏิทิน จำนวน 9 แห่ง มีผลการเบิกจ่ายสะสมตั้งแต่เดือนมกราคม – ตุลาคม 2564 จำนวน 124,418 ล้านบาท หรือคิดเป็น 96% ของแผนการเบิกจ่ายสะสม ให้ภาพรวมการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจจำนวน 43 แห่งในปี 2564 เท่ากับ 269,883 ล้านบาท
โดยรัฐวิสาหกิจที่สามารถเบิกจ่ายได้ตามแผนและมีการเบิกจ่ายสะสมสูงสุดในปีปฏิทิน 2564 (เดือนมกราคม –เดือนตุลาคม 2564) จำนวน 5 อันดับ ได้แก่ 1.บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เบิกจ่ายสะสม 38,366 ล้านบาท คิดเป็น 95% ของแผน 2. การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เบิกจ่ายสะสม 26,128 ล้านบาท คิดเป็น 106% ของแผน 3. การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เบิกจ่ายสะสม 16,445 ล้านบาท คิดเป็น 100% ของแผน 4.การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) เบิกจ่ายสะสม 12,963 ล้านบาท คิดเป็น 101% ของแผน และ 5. บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็นที เบิกจ่ายสะสม 12,463 ล้านบาท คิดเป็น 96% ของแผน