ศบค. ปรับมาตรการรับนักท่องเที่ยวจากแถบแอฟริกา สกัดสายพันธุ์โอไมครอนเข้าไทย

ศบค. ปรับมาตรการรับนักท่องเที่ยวจากแถบแอฟริกา สกัดสายพันธุ์โอไมครอนเข้าไทย

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 29 พฤศจิกายน ที่ทำเนียบรัฐบาล พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศบค. แถลงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) ว่า จากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิดสายพันธุ์โอไมคอนทั่วโลกทำให้กระทรวงสาธารณสุข โดยที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) ได้จัดประชุมวาระฉุกเฉินเมื่อวานนี้ (28 พฤศจิกายน) เรื่องการปรับมาตรการควบคุมโรคโควิด-19

สำหรับผู้เดินทางเข้าราชอาณาจักร จากทวีปแอฟริกา และการตรวจหาเชื้อในผู้เดินทางแบบ Test and Go เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรการของแต่ละประเทศที่ปรับไปก่อนหน้านี้ ไม่ว่าจะเป็นอังกฤษ อียู สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น อิหร่าน สิงคโปร์ ฯลฯ อย่างไรก็ตาม สำหรับปัจจัยสำคัญสำหรับการเกิดเชื้อกลายพันธุ์มักจะเป็นประเทศที่ประชากรได้รับวัคซีนค่อนข้างต่ำ หรือกระจายวัคซีนไปยังประชาชนน้อย ทำให้ภูมิต่ำ และเกิดเชื้อกลายพันธุ์อย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ในบ้านเรา กระทรวงสาธารณสุขจึงได้เน้นย้ำว่า หากเราไม่รีบรณรงค์ให้พี่น้องประชาชนฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมประชากรให้ได้มากที่สุดเราก็อาจจะกลายเป็นที่หนึ่งที่เป็นที่กลายพันธุ์ของเชื้อได้

สำหรับตัวเลขของผู้ที่เดินทางเข้ามาจากประเทศแถบแอฟริกาใต้ วันที่ 1-27 พฤศจิกายน 64 จำนวน 1,007 ราย ประกอบด้วย บอตสวานา 3 ราย นามิเบีย 16 ราย แองโกลา 22 ราย มาดากัสการ์ 7 ราย เมอร์ริเชียส 27 ราย แซมเบีย 5 ราย เอสวาตินี 39 ราย เอธิโอเปีย 45 ราย โมซัมบิก 12 ราย มาลาวี 2 ราย แอฟริกาใต้ 826 ราย ซิมบับเว 3 ราย และทั้งหมดมีผลตรวจ PCR เป็นลบ นี่คือยิ่งตอกย้ำว่ามาตรการด้านสาธารณสุขของประเทศไทยมีการคัดกรองผู้เดินทางเข้ประเทศ

ซึ่งการที่ยังคงมาตรการเหล่านี้ไว้ถือเปป็นการตรวจเชื้อที่มีประสิทธิภาพ พี่น้องประชาชน หรือสถานประกอบการณ์อาจจะตั้งคำถามว่า ทำไมเรายังต้องเข้มงวดขนาดนี้ ตรงนี้ก็จะเป็นการตอบคำถามได้อย่างดี

Advertisement

ขณะที่มาตรการป้องกันควบคุมโรคสำหรับผู้เดินทางเข้าราชอาณาจักร จากทวีปแอฟริกา ตั้งแต่ 28 พฤศจิกายน 2564 มีดังนี้ 1.ผู้เดินทางที่มีประวัติพำนักหรือเดินทางไปยังประเทศในแอฟริกา 8 ประเทศ ในช่วง 21 วันก่อนเข้าราชอาณาจักรไทย ได้แก่ บอตสวานา เอสเวตินี เลโซโท มาลาวี โมซัมบิค นามิเบีย แอฟริกาใต้ ซิมบับเว ไม่อนุญาตให้ข้าโปรแกรม Test and Go , ผู้ที่เดินทางเข้าถึงไทยตั้งแต่วันที่ 28 พฤศจิกายน 2564 ต้องกักตัวเป็นเวลา 14 วัน และตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR 3 ครั้งในวันที่ 0-1,5-6 และ 12-13 ไม่อนุญาตให้เดินทางเข้าราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2564 (ยกเว้นผู้มีสัญชาติไทย) ไม่อนุญาตให้ลงทะเบียนเข้าราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน 2564 , ผู้เดินทางที่เข้าโปรแกรมแซนด์บอกซ์

เดินทางถึงไทยตั้งแต่ 15 พฤศจิกายน 2564 ให้จพต.ติดตามคุมไว้สังเกต จนครบ 14 วันและติดตามตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR วันที่ 6-14 ขึ้นกับจำนวนวันที่เข้าราชอาณาจักร และผู้เดินทางเข้าโปรแกรมกักตัวในสถานกักกัน ถึงไทยตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน 2564 กรณียังกักตัวในสถานที่กักกัน ให้จพต.สั่งกักตัวต่อจนครบ 14 วัน และตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR ในวันที่ 12-13 กรณีออกจากสถานที่กักกันแล้ว แต่ยังไม่ครบ 14 วันให้จพต.ติดตามคุมไว้สังเกต จนครบ 14 วันและตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR ในวันที่ 12-13

2.ผู้เดินทางที่มีประวัติพำนักหรือเดินทางไปยังประเทศในแอฟริกาในช่วง 21 วันก่อนเข้าราชอาณาจักรไทย (นอกเหนือจาก 8 ประเทศ) ไม่อนุญาตให้เข้าโปรแกม Test and Go ผู้ที่เดินทางเข้าไทยตั้งแต่วันที่ 6 ธันวาคม 2564 ให้เข้ากักตัวเป็นเวลา 14 วันและตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR 3 ครั้ง วันที่ 0-1,5-6 และ 12-13 , ผู้เดินทางที่เข้าโปรแกรมแซนด์บอกซ์ ถึงไทยตั้งแต่ 15 พฤศจิกายน – 5 ธันวาคม 2564 ให้จพต.ติดตามคุมไว้สังเกตจนครบ 14 วัน หรือตามจำนวนวันที่พำนัก กรณีน้อยกว่า 14 วัน กรณีมีอาการให้ตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR ไม่อนุญาตให้ลงทะเบียนเข้าราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน 2564 , ผู้เดินทางผ่านโปรแกรมกักตัวในสถานกักกัน ถึงไทยตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน-5 ธันวาคม 2564 กรณีครบกำหนดกักตัวแล้วให้จพต.ติดตามคุมสังเกตไว้จนครบ 14 วัน กรณีมีอาการให้ตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR

Advertisement

สำหรับผลดำเนินงานการรับผู้เดินทางเข้าราชอาณาจักร ณ ท่าอากาศยาน ตั้งแต่วันที่ 1-28 พฤศจิกายน 64 สะสมทั้งหมด 122,398 ราย ติดเชื้อใหม่ 11 ราย ทำให้การติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 160 ราย คิดเป็น 0.13%

สำหรับรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทย ว่า วันนี้พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 4,753 ราย จำแนกเป็นผู้ติดเชื้อรายใหม่ในประเทศ 4,684 ราย ติดเชื้อจากผู้เดินทางต่างประเทศ 12 ราย และติดเชื้อในเรือนจำ/ที่ต้องขังเพิ่ม 57 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสม 2,082,703 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสมตั้งแต่ปี 63 จำนวน 2,111,566 ราย หายป่วยเพิ่มวันนี้ 6,165 ราย หายป่วยสะสม 1,985,595 ราย หายป่วยสะสมตั้งแต่ปี 63 จำนวน 2,013,021 ราย วันนี้มีผู้เสียชีวิต 27 คน เสียชีวิตสะสม 20,640 คน เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 63 รวม 20,734 คน ส่วนผู้ป่วยรักษาอยู่ 77,811 ราย แบ่งเป็นรักษาในโรงพยาบาล 38,448 ราย โรงพยาบาลสนามและอื่นๆ 39,363 ราย อาการหนัก 1,369 ราย และใส่เครื่องช่วยหายใจ 330 ราย ขณะที่จำนวนผู้รับวัคซีนสะสมตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์-28 พฤศจิกายน รวม 92,369,417 โดส ใน 77 จังหวัด จำนวนผู้ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 สะสม 47,963,180 ราย เข็มที่ 2 สะสม 41,053,644 ราย และเข็มที่ 3 สะสม 3,343,593 ราย

ส่วนผู้เสียชีวิตในวันนี้ แบ่งเป็นชาย 14 ราย หญิง 13 ราย เป็นคนไทย 25 ราย รอตรวจสอบข้อมูล 2 ราย จำแนกตามจังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร 2 ราย นครปฐม 1 ราย ชัยภูมิ 1 ราย มุกดาหาร 1 ราย อุดรธานี 1 ราย แม่ฮ่องสอน 3 ราย เชียงใหม่ 1 ราย น่าน 1 ราย สุโขทัย 1 ราย ปัตตานี 2 ราย สุราษฎ์ธานี 2 ราย ตรัง 1 ราย ระยอง 2 ราย ราชบุรี 2 ราย ลพบุรี 2 ราย จันทบุรี 1 ราย ฉะเชิงเทรา 1 ราย สระแก้ว 1 ราย และสระบุรี 1 ราย

สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุดวันนี้ อันดับ 1.ยังเป็นกรุงเทพมหานคร(กทม.) จำนวน 605 ราย นครศรีธรรมราช 381 ราย สงขลา 354 ราย สุราษฎร์ธานี 250 ราย เชียงใหม่ 186 ราย สมุทรปราการ 149 ราย ชลบุรี 147 ราย ภูเก็ต 133 ราย ปัตตานี 121 ราย และนครราชสีมา 110 ราย นอกจากนี้ ยังมีจังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อต่ำกว่า 100 ราย แต่ยังต้องติดตามใกล้ชิดประกอบด้วย กระบี่ ชุมพร พัทลุง ราชบุรี สระบุรี และสตูล ขณะที่มี 5 จังหวัดที่มีตัวเลขแนวโน้มสูงขึ้นแม้จะไม่สูงมาก แต่ทิศทางของกราฟพุ่งสูงขึ้นคือ สุราษฎร์ธานี และภูเก็ต เชียงราย ลำพูน และสิงห์บุรี

อย่างไรก็ตามที่ ศบค.เป็นห่วงคือ คลัสเตอร์ร้านอาหารที่มีการรายงานเพิ่มขึ้นทั้งร้านอาหารที่อยู่นอกห้าง และอยู่ในห้าง ขณะที่ก่อนหน้านี่มีรานงานประเพณี และพิธีกรรมทางศาสนารายงาน นอกจากนี้ ยังห่วงแคมป์คนงาน ตลาด ชุมชน และโรงงาน ตรงนี้เองส่งผลสืบต่อเนื่องไปยังมาตรการเปิดสถานบันเทิงจึงต้องเรียนให้ทราบว่า ศบค. ได้รับรายงานอย่างต่อเนื่องว่ามีการแอบจำหน่ายแอลกอฮอ และมีการแอบเปิดให้บริการคล้ายลักษณะผับบาร์ ซึ่งต้องเน้นย้ำว่า ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฉบับที่ 37 ที่ประชุมมีการพิจารณาและวางแผนที่จะเปิดสถานบันเทิงในวันที่ 16 มกราคม ดังนั้นขณะนี้ยังไม่ใช่เวลาที่สามารถเปิดได้ ยังคงเน้นย้ำว่าต้องเป็นการเปิดเมื่อพร้อมเมื่อสถานบริการสามารถผ่านการประเมิน แต่ขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการเตรียมการการประเมิน นอกจากนี้ การเปิดจะต้องเป็นการเปิดในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป

และมีข้อกำหนดที่ออกมาแล้วคือ ถ้าเปิดต้องเปิดถึงเวลา 23.00 น. และต้องปิด 24.00 น. งดกิจกรรมที่เป็นการคลุกคลีและเสี่ยงต่อการที่จะทำให้เกิดการระบาดของโรค ไม่ว่าจะเป็นการร้องคาราโอเกะ การเต้นรำ กิจกรรมที่มีการเปลี่ยนแก้วดื่มแก้วเดียวกัน หรือการส่งเสริมการขายที่ทำให้เกิดการแออัด รวมถึงการมีกิจกรรมร่วมกันระหว่างลูกค้าและพนักงาน และขอเน้นย้ำด้วยว่าหากมีการเปิดไปแล้วแต่มีการปฎิบัติการที่ละหลวม หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัดก็มีความเป็นไปได้ที่จะต้องถูกปิดอีกรอบด้วย ต้องเร่งประชาสัมพันธ์และทำความเข้าใจว่าการจะเปิดสถานบันเทิงยุคใหม่ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิดจะคาดหวังให้เป็นเหมือนเดิมคงเป็นไปไม่ได้

ดังนั้นขอฝากไปยังพี่น้องประชาชนคนไทยสำหรับเทศกาลที่กำลังจะมาถึงนี้อย่างเทศกาลคริสต์มาส หรือปีใหม่ เราคงจะต้องค่อยค่อยปรับตัว ถ้าเรารีบร้อนจนเกินไปแล้วเกิดความผิดพลาดจนต้องกลับมาติดใหม่อีกรอบทุกคนคงไม่อยากเห็นภาพนั้น สุดท้ายขอฝากไปยังความร่วมมือของทุกฝ่ายทั้งประชาชน และเอกชนผู้ประกอบการ วันนี้ภาครัฐมีมาตรการแล้ว ภาคเอกชน และสมาคมต่างๆเปิดแบบค่อยเป็นค่อยไป

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image