รวมหนี้ข้ามแบงก์ ไม้เด็ดปลดหนี้ ?

รวมหนี้ข้ามแบงก์ ไม้เด็ดปลดหนี้ ?

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ดูแล้วจะไม่จบได้อย่างที่คาดหวังไว้ หลายคนประสบปัญหากับภาวะหนี้สินที่เพิ่มพูนขึ้นทุกวัน จากการก่อหนี้หลายประเภท ทั้งหนี้บ้าน หนี้รถ หนี้บัตรเครดิต หนี้บัตรกดเงินสด ฯลฯ ทั้งหมดนี้มีการคิดอัตราดอกเบี้ยที่แตกต่างกัน จึงสร้างความกังวลอย่างมากกับลูกหนี้ ทำให้ทางธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. ได้มีการออกมาตรการรวมหนี้ต่างๆ เข้ากับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย เพื่อให้ลูกหนี้มีภาระจ่ายดอกเบี้ยที่น้อยลง

“รุ่ง มัลลิกะมาส” ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายสถาบันการเงิน ธปท. ให้ข้อมูลว่า เพื่อให้การช่วยเหลือขยายออกไปครอบคลุมกลุ่มลูกหนี้ที่มีหลักประกันประเภทสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยในวงที่กว้างขึ้น ธปท.จึงกำหนดให้มีแรงจูงใจในการสนับสนุนให้สถาบันการเงินทำการรวมหนี้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อรายย่อยประเภทอื่น (debt consolidation) เข้าด้วยกัน เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีประวัติการชำระหนี้ดี หรือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ด้วยการนำหลักประกันของสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่มีอยู่มาใช้ประโยชน์ในการช่วยลดภาระดอกเบี้ยและค่างวดในระยะยาว

นอกจากนี้ ธปท.ได้ดำเนินการลดข้อจำกัดการทำรีไฟแนนซ์ (refinance) หนี้ เพื่อส่งเสริมการแข่งขันของสถาบันการเงินในการรวมหนี้ให้กับลูกหนี้ควบคู่ไปด้วย โดยสินเชื่อรายย่อยประเภทอื่น ประกอบไปด้วย สินเชื่อส่วนบุคคล บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ เป็นต้น

Advertisement

สาระสำคัญของมาตรการ ข้อแรก ห้ามเรียกเก็บค่าปรับจากการไถ่ถอนสินเชื่อก่อนครบกำหนด (prepayment fee) สำหรับสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ และสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับ เป็นการชั่วคราว โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 16 พฤศจิกายน 2564 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566 เพราะปกติแล้วเมื่อมีการชำระหนี้คงค้างทั้งหมดล่วงหน้าก่อนกำหนด จะมีการให้จ่ายดอกเบี้ยที่เหลือตามสัญญาเงินกู้ทั้งหมด พร้อมค่าธรรมเนียมอื่นๆ ด้วย อีกทั้งจะช่วยเพิ่มการแข่งขันของสถาบันการเงิน ให้มีการลดดอกเบี้ยเพื่อดึงดูดลูกค้า

ข้อที่สอง ปรับปรุงแนวทางการรวมหนี้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อรายย่อยประเภทอื่น (debt consolidation) โดยขยายขอบเขตให้สามารถรวมหนี้ข้ามสถาบันการเงินและ/หรือผู้ประกอบธุรกิจรายอื่นได้ จากเดิมที่สามารถรวมหนี้ได้เฉพาะหนี้ในสถาบันการเงินเดียวกัน ทั้งนี้ ในกรณีที่สถาบันการเงินมีสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยอยู่แล้ว จะกำหนดอัตราดอกเบี้ยสำหรับสินเชื่อที่อยู่อาศัยนั้นได้ไม่เกินอัตราดอกเบี้ยตามสัญญาเดิม
ในกรณีที่รับโอนสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (refinance) มาจากสถาบันการเงินอื่น สามารถแบ่งได้ 3 ประเภท 1.สถาบันการเงิน A ที่มีสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย รับโอนหนี้สินเชื่อรายย่อย สถาบันการเงิน B 2.สถาบันการเงิน A ที่มีสินเชื่อรายย่อย รับโอนหนี้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย สถาบันการเงิน B 3.สถาบันการเงิน C รับโอนหนี้จากสถาบันการเงิน A ที่มีสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย และสถาบันการเงิน B ที่มีสินเชื่อรายย่อย

สถาบันการเงินสามารถกำหนดอัตราดอกเบี้ยตามความเสี่ยงของลูกหนี้ได้ สำหรับสินเชื่อรายย่อยประเภทอื่นที่นำมารวมหนี้ด้วย ให้กำหนดอัตราดอกเบี้ยได้ไม่เกินอัตราดอกเบี้ยของสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่เป็นอัตราที่ใช้หลังการส่งเสริมการขาย (teaser rate) บวก 2% ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยของสินเชื่อรายย่อยโดยทั่วไปอย่างมีนัย ตัวอย่าง ปกติสินเชื่อรายย่อยมีอัตราดอกเบี้ยระหว่าง 16-33% เมื่อมารวมหนี้กับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ที่มีอัตราดอกเบี้ยประมาณ 8% ก็จะคิดดอกเบี้ยใหม่ในอัตราไม่เกิน 8%+2% = 10%

ต่อมาสถาบันการเงินที่รวมหนี้จะต้องมีหลักฐานการชำระหนี้กับสถาบันการเงินเดิม เพราะโดยปกติสถาบันการเงินที่รับการรีไฟแนนซ์ บางครั้งจะให้เงินกับลูกหนี้ แล้วลูกหนี้จะนำเงินไปจ่ายปิดหนี้สถาบันการเงินเดิม อีกทั้งการรวมหนี้ต้องไม่เกินมูลค่าหลักประกัน ตัวอย่าง กู้ซื้อบ้านมูลค่า 1 ล้านบาท ชำระหนี้ไปแล้ว 5 แสนบาท ก็สามารถรับโอนหนี้สินเชื่อรายย่อยได้ไม่เกิน 5 แสนบาท

นอกจากลูกหนี้จะได้รับประโยชน์จากดอกเบี้ยที่ลดลงแล้ว ยังทำให้ลูกหนี้มีสภาพคล่องเพิ่มมากขึ้น และบริหารจัดการจ่ายชำระหนี้ได้ง่ายขึ้น จากเดิมที่มีบิลจ่ายหนี้หลายใบ หลายอัตราดอกเบี้ย ก็จะเหลือบิลจ่ายหนี้ใบเดียว ใช้อัตราดอกเบี้ยเดียว

ข้อควรรู้สำหรับลูกหนี้ที่เข้ามาตรการนี้ คือ 1.ลูกหนี้ไม่เสียประวัติข้อมูลเครดิต หากเจรจาปรับโครงสร้างหนี้สำเร็จตั้งแต่ก่อนเป็นหนี้เสีย 2.ลูกหนี้ต้องให้คำยินยอมเปิดเผยข้อมูลที่จำเป็นแก่สถาบันการเงินที่ทำการรวมหนี้ เช่น ชื่อเจ้าหนี้ ยอดหนี้คงค้าง เป็นต้น ถ้าไม่ยินยอมลูกหนี้จะต้องไปขอข้อมูลแต่ละสถาบันการเงินเอง 3.ลูกหนี้อาจถูกพิจารณาปรับลดวงเงินส่วนที่นำไปรวมหนี้ เพื่อให้อยู่ในระดับที่ลูกหนี้สามารถบริหารจัดการได้ เช่น ลดวงเงินบัตรเครดิต บัตรกดเงินสด ไม่ให้มีการใช้จ่ายเกินตัวอีก 4.หากผิดนัดชำระหนี้สินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน ถึงแม้จะไม่ได้รวมหนี้ ก็อาจเป็นเหตุให้ถูกฟ้องร้องบังคับหลักประกันสินเชื่อบ้านได้ในท้ายที่สุด

ข้อที่สาม ธปท.ได้ผ่อนปรนหลักเกณฑ์การกำกับดูแล ทั้งการจัดชั้นหนี้ การกันเงินสำรอง และการดำรงเงินกองทุน เพื่อลดต้นทุนให้กับสถาบันการเงินที่ช่วยเหลือลูกหนี้ สำหรับการรวมหนี้ที่ดำเนินการภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2566 โดยปกติจะมีการคิดคำนวณสินทรัพย์เสี่ยงจากสินเชื่อรายย่อยสูงถึง 75% แต่เมื่อมารวมหนี้กับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย จะลดลงเหลือ 35% เพราะกลายเป็นสินเชื่อที่มีหลักประกันแล้ว นอกจากนี้สถาบันการเงินสามารถบริหารความเสี่ยงด้านเครดิตได้ดีขึ้น คุณภาพพอร์ตสินเชื่อดีขึ้น

ทั้งนี้ คาดว่าสถาบันการเงินส่วนใหญ่ จะทยอยเสนอผลิตภัณฑ์การรวมหนี้ได้ภายในสิ้นเดือนธันวาคม 2564 โดยลูกหนี้สามารถติดต่อสถาบันการเงินโดยตรงเพื่อสมัครเข้าร่วมมาตรการ

ขณะที่ “ธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล” รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ให้มุมมองว่า มาตรการนี้มีประโยชน์กับตัวลูกหนี้ในทางหลักการ แต่ในทางปฏิบัติจริงก็ต้องไปดูเงื่อนไขลูกหนี้แต่ละราย ว่ามีหนี้อยู่กี่ที่ จำนวนเท่าไหร่ ต้องไปพิจารณาความเสี่ยงด้านเครดิตของลูกหนี้อยู่ดี ธนาคารจะมีการพิจารณาภาระหนี้ต่อรายได้ว่าจะมีความสามารถชำระหนี้ได้หรือไม่ หวังว่าเงื่อนไขของแต่ละธนาคารจะไม่ได้เยอะมากเพื่อให้มาตรการนี้นำไปใช้ได้จริง มาตรการนี้จะสำเร็จได้ถ้าลูกหนี้สามารถจ่ายหนี้ได้ตามกำหนด

ทั้งนี้ ถ้าลูกหนี้มีการชำระหนี้บ้านอย่างต่อเนื่อง แต่หนี้บัตรกดเงินสดมีการจ่ายล่าช้า เมื่อไปรวมกับหนี้บ้านแล้ว ดอกเบี้ยจ่ายจะลดลงอย่างมาก แต่ธนาคารจะสามารถรับความเสี่ยงตรงนี้เพิ่มได้หรือไม่ ต่อมาเมื่อรวมหนี้ได้แล้ว วงเงินสินเชื่อรายย่อยก็จะถูกจำกัดวงเงินลดลง ทำให้ลูกหนี้อาจจะเกิดการใช้จ่ายไม่เพียงพอ ต้องขึ้นอยู่กับวินัยของลูกหนี้ว่าสามารถคุมค่าใช้จ่ายได้มากน้อยแค่ไหน ภาระหนี้ลดลงแต่ต้องแลกด้วยวินัยทางการเงินที่เข้มงวดขึ้น ซึ่งหลายคนที่อยู่ในสภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ถูกคุมค่าใช้จ่ายก็อาจจะไม่ชอบใจได้

ภายใต้มาตรการครั้งนี้ ธปท.ขอให้สถาบันการเงินและผู้ประกอบธุรกิจเร่งดำเนินการช่วยบรรเทาภาระให้กับลูกหนี้ เพื่อให้สามารถผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image