‘ชัยวุฒิ’ ห่วงไทยขาดแคลนแรงงานดิจิทัล วอนสื่อช่วยให้ความรู้ ป้องมิจฉาชีพไซเบอร์
เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวในงานสัมมนา “5G THAILAND BIG MOVE” ว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อน 5G เพราะมองเห็นโอกาสและศักยภาพด้วยเทคโนโลยี 5G ที่จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในเวทีโลก โดยมีผลการศึกษาพบว่าในปี 2570 ความต้องการใช้งาน 5G ของผู้บริโภคมีแนวโน้มสูงขึ้นเห็นได้ชัดโดยคนไทยจะใช้งาน 5G ไม่ต่ำกว่า 70 ล้านราย (หรือประมาณ 73%) และปี 2573 ตลาด 5G ในประเทศจะมีมูลค่ากว่า 6.5 แสนล้านบาท และสร้างการจ้างงานใหม่ด้านดิจิทัลกว่า 130,000 ตำแหน่ง ซึ่งเป็นผลจากการประยุกต์ใช้ประโยชน์ 5G
“นี่เป็นเรื่องสำคัญ เราเชื่อว่าการขับเคลื่อนจีดีพีของประเทศต้องเกิดจากเทคโนโลยี 5G และการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ ถ้าเราไม่ขับเคลื่อน 5G ให้พร้อมกับการแข่งขันเวทีโลก ความสามารถในการแข่งขันเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ และทำให้เกิดการเสียโอกาสไปหลายแสนล้านบาท” นายชัยวุฒิกล่าว
นายชัยวุฒิกล่าวว่า ธุรกิจดาต้าเซ็นเตอร์เป็นหัวใจสำคัญของเศรษฐกิจดิจิทัล ถ้าไม่มีระบบคลาวด์มาช่วยก็ทำธุรกิจไม่ได้เลย จะให้มาตั้งเซิร์ฟเวอร์ที่สำนักงานเป็นไปไม่ได้แล้ว เพราะมีค่าใช้จ่ายที่สูง เริ่มมีผู้ประกอบการหลายรายที่เล็งเห็นธุรกิจนี้ ซึ่งตอนนี้ไปไกลถึงต่างประเทศแล้ว เพราะประเทศไทยก็มีเคเบิลใต้น้ำที่เชื่อมต่อไปยังที่ต่างๆ ได้ ดึงดูดให้บริษัท ไมโครซอฟท์ กูเกิล อแมซอน หัวเว่ย เข้ามาลงทุนระบบคลาวด์ในประเทศไทย
นายชัยวุฒิกล่าวว่า ส่วนบุคลากรด้านดิจิทัลในประเทศไทยยังคงขาดแคลน มีไม่เพียงพอ แต่เชื่อว่าผู้ประกอบการต่างๆ ได้มีการฝึกทักษะแรงงานอยู่แล้ว การพัฒนาคนจึงเป็นเรื่องสำคัญที่สุด เพราะโครงสร้างด้านดิจิทัลของไทยมีความพร้อมสูง ซึ่งในอีก 10 ปีข้างหน้าจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ 30-40% ของจีดีพี
“ในส่วนของภาคของประชาชน ซึ่งเป็นผู้ใช้งานก็จะได้รับประโยชน์โดยตรง จากการที่ภาครัฐเดินหน้าลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการผลักดันให้ขยายเครือข่าย 5G ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ซึ่งจะทำให้มีแบนด์วิธเพิ่มขึ้น มีต้นทุนค่าใช้จ่ายในการใช้บริการสื่อสารข้อมูลต่ำลง และรองรับการใช้งานรูปแบบใหม่ๆ ได้มากขึ้น ทำให้คนไทยสะดวกสบายขึ้น ในการติดต่อสื่อสาร” นายชัยวุฒิกล่าว
นายชัยวุฒิกล่าวด้วยว่า แต่ที่น่ากลัวกว่าคือความแตกต่างทางความรู้ ยังมีคนโดนหลอกให้โอนเงินเป็นล้านได้ภายในไม่กี่นาที ด้วยความสะดวกสบายก็เลยมีมิจฉาชีพหลอกลวงประชาชน เป็นช่องว่างของประชาชนที่ไม่รู้ หรืออาจจะเป็นที่ระบบ ที่เป็นหน้าที่ของทางสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และรัฐบาล ซึ่งต้องมีการดำเนินการตามกฎหมายอย่างเข้มข้น
“ล่าสุดการส่งเอสเอ็มเอสหลอกลวงประชาชนก็ทำไม่ได้แล้ว เพราะต้องมีการยืนยันตัวตน แต่เหนือสิ่งอื่นใดต้องให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจ ในอีก 5-10 ปีข้างหน้าดิจิทัลจะแพร่หลายมาก แต่ก็จะมีช่องว่างให้มิจฉาชีพเข้ามาหาประโยชน์ตรงนี้ โดยฝากไปยังสื่อมวลชนให้ความรู้ประชาชน จะทำอย่างไรให้ปลอดภัย ประชาชนเชื่อมั่นในระบบ เดินข้างหน้าไปด้วยกัน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” นายชัยวุฒิกล่าวปิดท้าย