เปิดประเทศ-คลายล็อกมาตรการ ดันเงินเฟ้อ พ.ย.พุ่ง 2.71% สูงสุดรอบ 7 เดือน

เปิดประเทศ-คลายล็อกมาตรการ ดันเงินเฟ้อ พ.ย.พุ่ง 2.71% สูงสุดรอบ 7 เดือน พณ.จับตาโอไมครอนกระทบอารมณ์ใช้จ่ายและราคาสินค้าหลังปีใหม่ คาดทั้งปี 65 โตเฉลี่ย 1.5%

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์ (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อ) ทั่วไป เดือนพฤศจิกายน 2564 สูงขึ้น 2.71% เทียบพฤศจิกายนปีก่อน และสูงขึ้น 2.38% จากเดือนตุลาคมปีก่อน ปัจจัยจากการสูงขึ้นของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกในประเทศ ประกอบกับฐานราคาปีที่ก่อนอยู่ระดับต่ำ รวมถึงราคาผักสดเพิ่มจากผลกระทบจากอุทกภัย รวมถึง เนื้อสุกร อาหารบริโภคในบ้าน-นอกบ้าน และเครื่องประกอบอาหาร ราคาปรับสูงขึ้นตามต้นทุน สำหรับสินค้าสำคัญที่ราคาลดลง อาทิ ข้าวสาร ไก่สด ผลไม้สด เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ (น้ำดื่มบริสุทธิ์ กาแฟผงสำเร็จรูป) และเสื้อผ้า เป็นต้น ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐาน (หักอาหารสดและพลังงาน) สูงขึ้น 0.29%

นายรณรงค์กล่าวต่อว่า เงินเฟ้อเดือนพฤศจิกายนสูงขึ้นในรอบ 7 เดือน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์และการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ทั้งมาตรการด้านการท่องเที่ยว และมาตรการสนับสนุนให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยในประเทศ ที่ส่งผลให้เศรษฐกิจโดยรวมและกำลังซื้อของประชาชนปรับตัวดีขึ้น ส่งผลราคาสินค้าหลายรายการสูงขึ้นตามความต้องการตลาด และส่งผลต่อดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคต กลับมาอยู่ในระดับความเชื่อมั่นอีกครั้งที่ 50.7 ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมมีทิศทางที่ดีขึ้น จาก 43.4 มาอยู่ที่ 45.2 และทำให้เงินเฟ้อทั่วไป เฉลี่ย 11 เดือน 2564 สูงขึ้น 1.15%

“แนวโน้มเงินเฟ้อเดือนธันวาคมนี้น่าจะทรงตังสูง ที่ 2.7% แต่เฉลี่ยทั้งปีเงินเฟ้อ 2564 อยู่ในช่วง 0.8 – 1.2% หรือเฉลี่ย 1-1.2% ส่วนทิศทางเงินเฟ้อปี 2565 ยังสูงต่อเนื่องในครึ่งปีแรก และแผ่วลงในครึ่งปีหลัง โดยคาดการณ์กรอบไว้ที่ 0.7-2.4% และค่ากลางอยู่ที่ 1.5% บนสมมุติฐานจีดีพี 3.5-4.5% ราคาน้ำมันดิบโลก 63-73 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และค่าบาท 31.5-33.5% และรัฐบาลคงมาตรการช่วยเหลือลดค่าครองชีพต่างๆ” นายรณรงค์กล่าว

นายรณรงค์กล่าวต่อว่า การคาดการณ์ดังกล่าวทำก่อนมีการระบาดของโควิดกลายพันธ์หรือโอไมครอน ซึ่งทางสนค.กำลังติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดครั้งใหม่ โดยน่าจะมีความชัดเจนได้มากขึ้นในเดือนนี้ก็จะรู้ว่าส่งผลต่อเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในต้นปีหน้าอย่างไร ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อเงินเฟ้อและระบบเศรษฐกิจ แต่เชื่อว่าจะกดดันในช่วงครึ่งปีแรก แต่ครึ่งปีหลังสถานการณ์น่าจะดีขึ้น ทั้งการควบคุมการแพร่ระบาดได้ดี มีการฉีดวัคซีน กิจกรรมยังปกติ ราคาน้ำมันเริ่มลดลง จำนวนตู้คอนเทนเนอร์และค่าระวางอ่อนตัวลงจากการเพิ่มขึ้นของบริษัทเดินเรือ ทั้งนี้ ในเรื่องต้น ประเด็นต้องติดตามคือสถานการณ์ขาดแคลนแรงงานหรือหากมีการแพร่ระบาดจนต้องใช้มาตรการควบคุมโรงงานอีกครั้ง อาจกระทบต่อภาคผลิตและส่งออกในระยะสั้นได้

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image