คิดเห็นแชร์ : มุมมองการควบรวม ระหว่าง DTAC และ True

คิดเห็นแชร์ : มุมมองการควบรวม ระหว่าง DTAC และ True

อีกมุมหนึ่งการควบรวมระหว่าง DTAC และ True

ช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมาเกิดประเด็นถกเถียงร้อนแรงจากการควบรวมกิจการระหว่างผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่สองรายคือดีแทคและทรู มีความกังวลจะทำให้ตัวเลือกสำหรับผู้บริโภคน้อยลงซึ่งไม่ใช่เรื่องดีสำหรับผู้บริโภค และประเด็นโยงเปรียบเทียบกับต่างประเทศว่าเวลามีการซื้อกิจการครั้งใหญ่ๆ ต้องผ่านการพิจารณาของรัฐทั้งนั้น สังเกตว่าถ้ามีประกาศออกมาต้องได้รับการอนุมัติจากหน่วยงานภาครัฐก่อน เพราะอาจทำให้เกิดภาวะผูกขาดในตลาดให้บริการได้ อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนยังไม่สามารถวิจารณ์ได้ว่าการควบรวมเรื่องนี้จะเป็นเรื่องดีหรือไม่ดี เพราะทั้งสองเจ้าให้ข้อมูลทางการว่าอยู่ในขั้นตอนการศึกษาก่อนทำเรื่องขออนุญาตตามขั้นตอนต่อไป ถ้าผลการศึกษาและเจรจาสอดคล้องตรงกันทั้งสองฝ่าย แต่ผู้เขียนตั้งใจจะนำอีกแง่มุมหนึ่งนำเสนอพร้อมการวิเคราะห์

สภาพความเป็นจริงของตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่ในประเทศไทย

หลังการเปลี่ยนแปลงกิจการโทรคมนาคมจากระบบผูกขาดสัมปทาน มาสู่การแข่งขันเสรีด้วยการกำกับดูแลในการให้ใบอนุญาตทั้งใบอนุญาตเรื่องความถี่ที่มีอยู่ใน พ.ร.บ.กสทช.2553 และใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมใน พ.ร.บ. ประกอบกิจการฯ ในปี 2544 โดยสัญลักษณ์การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญคือการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 2100 เมกะเฮิรตซ์ ในเดือนตุลาคม 2555 ทำให้ผู้ประกอบการไม่จำเป็นต้องประกอบกิจการตามข้อผูกมัดในการให้ผลประโยชน์ให้กับหน่วยงานรัฐที่หาผลประโยชน์อย่างเป็นกอบเป็นกำภายใต้สัญญาสัมปทาน หลายท่านที่ผ่านช่วงเวลานั้นมาจะเห็นว่าก่อนหน้าการประมูลคุณภาพการให้บริการของทั้งสามรายคุณภาพไม่สามารถยอมรับได้ ไม่ต้องถึงกับการใช้บริการบรอดแบนด์อย่างในปัจจุบัน ลำพังเพียงแค่บริการเสียงธรรมดาก็ไม่สามารถสนทนาได้เพียงไม่กี่นาที ก็มีการสะดุดหยุดลงบ่อยครั้ง

Advertisement

ต้นเหตุสำคัญคือความต้องการบริโภคมากขึ้น แต่การจัดสรรความถี่เข้าสู่ภาคธุรกิจไม่มีมากกว่าสิบปี และแม้ว่าจะมีการจัดสรรคลื่นความถี่ 2.1 เมกะเฮิรตซ์ ให้กับหน่วยงานรัฐวิสาหกิจมาก่อนหน้าการประมูลเกือบสิบปี ประเทศไทยก็ยังไม่สามารถนำเทคโนโลยี 3จี ที่ได้รับการยอมรับในวงกว้างมาใช้ได้ แต่ภายหลังการประมูลในระยะเวลาประมาณ 6-8 เดือน ประเทศไทยได้รับการยอมรับว่าเป็นประเทศที่ได้มีการเปลี่ยนจาก 2จี มาเป็น 3จี เร็วที่สุดในโลก อย่างไรก็ตาม ผลการประมูลกลับนำไปสู่การถกเถียง และการคัดค้านทางกฎหมายอย่างร้อนแรง โดยมีการกล่าวหาว่า “การประมูลในราคาต่ำ ทำให้ผู้ให้บริการภาคเอกชนได้รับประโยชน์บนความเสียหายของภาครัฐ”

ปรัชญาพื้นฐานในการออกแบบการประมูลคลื่นความถี่ได้มีการคำนึงถึงการแข่งขันในการประมูลคลื่นความถี่ แต่ทั้งนี้จะต้องไม่ทำลายการแข่งขันของตลาดหลังการประมูลคลื่นความถี่อันมีความสำคัญมากกว่า สอดคล้องตามหลักสากลที่ให้การยอมรับหลักการแนวคิดนี้อย่างกว้างขวางที่ได้มีการกำหนดว่าผู้จัดการประมูลคลื่นความถี่ไม่ควรมุ่งเน้นในเรื่องจำนวนเงินในการประมูลมากเกินไป ด้วยการใช้การประมูลคลื่นความถี่เป็นช่องทางสำคัญในการหารายได้แต่เพียงอย่างเดียว แต่ควรคำนึงถึงการพัฒนาอุตสาหกรรมในอนาคต ดังนั้น เมื่อเริ่มต้นออกแบบในการประมูลคลื่นความถี่จะต้องเปิดโอกาสให้กับผู้ที่สนใจที่มีความเป็นไปได้ที่จะนำคลื่นความถี่ไปสร้างโครงข่ายเพื่อให้บริการต่อไปโดยไม่ควรที่จะจำกัดเฉพาะรายใหญ่รายเดิมเท่านั้น

Advertisement

อย่างไรก็ตาม การประมูลในกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม มีการนำเอาเรื่องรายได้มาเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จในการประมูลหลังจากนั้น เช่น การประมูลทีวีดิจิทัลที่สร้างการตื่นตัวของธุรกิจในระยะเริ่มต้นแต่หลังจากนั้นต้นทุนจากการประมูลไม่สามารถไปต่อได้ทางธุรกิจต้องมีการคืนช่องและเลิกกิจการ ต่อมาประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ ที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลก นำมาซึ่งการคืนคลื่นความถี่ของผู้ชนะ รวมทั้งการขอผ่อนผันการชำระเงินค่าความถี่เพื่อแลกกับการรับคลื่นย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ เป็นการแลกเปลี่ยน แต่ภาระจะต้องชำระค่าความถี่ก็ยังติดตามมาจนถึงทุกวันนี้

ประเด็นที่ผู้เขียนต้องการนำเสนอเรื่องนี้คือนอกจากปัจจัยจำนวนผู้ให้บริการในตลาดที่ต้องพิจารณาแล้ว การพิจารณาสารตั้งต้นคือ “ความถี่” ที่จำเป็นจะต้องมีเพียงพอต่อความต้องการที่เพิ่มมากขึ้น เช่นในประเทศไทยที่มีความต้องการด้านการบริโภคข้อมูลที่เพิ่มขึ้นปีละ 35% รวมทั้งต้นทุนความถี่ไม่สูงเกินความจำเป็นและสร้างภาระ และกำแพงของผู้ที่อยากเข้ามาเป็นผู้ประกอบการ

นอกจากนี้ การควบรวมในกิจการโทรคมนาคมในต่างประเทศหรือการใช้โครงข่ายร่วมกันเพื่อการประหยัดต้นทุนการลงทุนเกิดขึ้นในยุค 5จี ที่มาถึงเป็นเรื่องที่กำลังเกิดขึ้น เช่นกรณีของมาเลเซียที่การควบรวมระหว่าง Digi และ Celcom รวมทั้งการให้ DNB เป็นผู้สร้างโครงข่าย 5จี บนคลื่น 3500 MHz เพียงรายเดียว กรณีของแคนาดาที่มีการควบรวมระหว่าง Shaw กับ Roger Communication หรือกรณีของสเปนที่มีการควบรวมระหว่าง Masmovil กับ Vodafone รวมทั้งกรณีที่ Verizon และ AT&T ได้ทยอยถอนการลงทุนที่ไม่ใช่ธุรกิจหลักในสหรัฐ หรือการขายเสาโทรศัพท์เคลื่อนที่ออกไปของผู้ให้บริการทั้ง Optus และ Telstra ในออสเตรเลีย

ปัจจัยการเปลี่ยนแปลงของสภาพธุรกิจอันเนื่องจากการสร้างรายได้จากการเป็นเพียงผู้ให้บริการการเชื่อมต่อ (Connectivity) ที่เน้นรายได้จากการขายแพคเกจนาทีโทรศัพท์หรือจำนวนเมกะไบต์แต่ละเดือนไม่สามารถเพิ่มสูงได้มากขึ้น แต่ความต้องของผู้บริโภคเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ แนวโน้มการให้บริการต้องนำไปสู่การเชื่อมโยงที่ไม่มีข้อจำกัด (Limitless Connectivity) ราคาจะเป็นปัจจัยที่ถูกควบคุมไม่ว่าจะมีผู้เล่นในตลาดจำนวนเท่าใดเพราะโครงข่ายในยุค 5จี จะเป็นปัจจัยพื้นฐานในการยกระดับประเทศเข้าสู่ยุคดิจิทัล รวมทั้งจะเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างความเหลื่อมล้ำของผู้คน เช่นในช่วงเวลาที่ผ่านมาเมื่อมีการล็อกดาวน์เด็กๆ ต่างถูกบังคับให้เรียนออนไลน์ แต่หลายครอบครัวไม่มีความสามารถในการเติมเงินค่าใช้อินเตอร์เน็ตให้กับบุตรหลายได้

ปัญหาไม่ใช่เกิดจากการที่โครงข่ายไม่ครอบคลุม แต่เป็นเรื่องของการเข้าถึงบริการที่มีกำแพงมาสร้างความเหลื่อมล้ำ หลายโครงการลงทุนผ่านทั้งโครงการจากทางรัฐบาลและ กสทช. ไม่สามารถตอบสนองได้ในช่วงวิกฤต ในไม่ช้าการออกนโยบายที่มองว่าบรอดแบนด์จะต้องเป็นเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมืองจะต้องถูกนำมาใช้ไม่สามารถที่จะให้กลไกตลาดเป็นตัวกำหนดเพียงอย่างเดียว โดยจำนวนผู้เล่นในตลาดจะไม่ใช่ประเด็นสำคัญในเรื่องนี้ต่อไป ดังนั้น การแข่งขันจะย้ายมาในเรื่องของการทำ Digital Transformation ในภาคธุรกิจต่างๆ ที่ถูกต้องเปลี่ยนแปลงตาม Global Supply Chain ผู้ให้บริการจำเป็นจะต้องมีการลงทุนอีกจำนวนมาก เพื่อเข้าสู่ธุรกิจส่วนนี้จากแต่เดิมเป็นผู้ให้บริการพื้นฐานการเชื่อมโยง แต่จะต้องเข้าสู่เป็นผู้ให้บริการด้านดิจิทัลแทน รวมทั้งจะมีผู้เล่นใหม่ บทบาทใหม่เข้ามาในยุค 5จี

ทั้งนี้ ด้วยเทคโนโลยีที่กำลังไปสู่ Cloud RAN, Cloud Core หรือ Open RAN ที่จะนำการแข่งขันในบริบทใหม่ สำคัญที่สุดคือผู้กำหนดนโยบายและการกำกับดูแลมีความเข้าใจและวิสัยทัศน์ในการกำหนดทิศทางเรื่องนี้ได้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างไร!!

ดร.เจษฎา ศิวรักษ์
หัวหน้าฝ่ายรัฐกิจและธุรกิจสัมพันธ์ บริษัทอิริคสันประเทศไทย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image