ศักดิ์สยาม ชี้ ไทยตั้งเป้าลดความสูญเสียบนถนน 50% ในปี 2030 ตามการพัฒนาที่ยั่งยืน ยูเอ็น

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ร่วมกล่าวถ้อยแถลงในการประชุม Supporting Event for the High – Level Meeting on Road Safety

เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม ที่สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ร่วมกล่าวถ้อยแถลงในการประชุม Supporting Event for the High – Level Meeting on Road Safety ผ่านรูปแบบออนไลน์ เน้นย้ำความมุ่งมั่นของประเทศไทยในการพัฒนาความปลอดภัยทางถนนให้ไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ร่วมกล่าวถ้อยแถลงในการประชุม Supporting Event for the High – Level Meeting on Road Safety จัดโดยสำนักงานประธานสมัชชาสหประชาชาติ (the Office of the President of the General Assembly: PGA) มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการเตรียมการจัดประชุมเจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านความปลอดภัยทางถนน (High-level meeting of the General Assembly on Road Safety) ในปี 2565 โดยเป็นเวทีสำหรับประชาคมระหว่างประเทศในการนำเสนอการดำเนินการนโยบายด้านความปลอดภัยทางถนน หารือเกี่ยวกับความท้าทายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงแสดงความมุ่งมั่นในการสนับสนุนความปลอดภัยทางถนน

ทั้งนี้ นายศักดิ์สยามได้รับเชิญจากนาย Abdulla Shahid ประธานสมัชชาสหประชาชาติให้ร่วมกล่าวถ้อยแถลงในประเด็นการดำเนินนโยบายของไทยในการแก้ไขปัญหาความปลอดภัยทางถนน ร่วมกับผู้แทนจากประเทศสมาชิกในแต่ละภูมิภาค รองเลขาธิการสหประชาชาติ องค์การระหว่างประเทศด้านความปลอดภัยทางถนน ภาคประชาสังคม หน่วยงานด้านการศึกษา ตลอดจนองค์การระหว่างประเทศต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

Advertisement

นายศักดิ์สยามได้กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมได้ให้ความสำคัญกับเรื่องความปลอดภัยทางถนนเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการลดโอกาสการเกิดอุบัติเหตุและลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนประกอบด้วย 3 มิติ มิติผู้ขับขี่ มิติรถยนต์ และมิติสภาพแวดล้อมและถนน ซึ่งต้องอาศัยการบูรณาการกับหน่วยงานต่างที่เกี่ยวข้องรวมไปถึงการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาช่วยสนับสนุนในการดำเนินการเพื่อลดจำนวนผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนนลงร้อยละ 50 ภายในปี ค.ศ.2030 ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ

โดยที่ผ่านมากระทรวงคมนาคมได้มีการดำเนินนโยบายและมาตรการที่หลากหลายเพื่อแก้ไขปัญหาด้านความปลอดภัยทางถนน เช่น การร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทยและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการบังคับใช้กฎหมายการจราจรอย่างเข้มข้นตลอดทั้งปี การนำระบบเทคโนโลยี GPS มาใช้ในการกำกับ ดูแลและติดตามพฤติกรรมการขับขี่รถโดยสารสาธารณะและรถบรรทุกสินค้า การกำกับดูแลความพร้อมของสภาพยานหานะผ่านระบบการตรวจสภาพที่เข้มข้นและการตั้งจุดตรวจ Checking Point สำหรับรถสาธารณะทั่วประเทศ การปรับใช้แนวคิด “วิถีแห่งระบบที่ปลอดภัย หรือ Safe System Approach” ในการพัฒนาโครงข่ายถนนและสภาพแวดล้อมด้านการขับขี่ให้ปลอดภัย โดยได้นำนวัตกรรมแผ่นยางพาราหุ้มกำแพงคอนกรีต (Rubber Fender Barrier: RFB) มาติดตั้งใช้บนโครงข่ายถนนเพื่อลดความรุนแรงของอุบัติเหตุทางถนน ลดโอกาสในการชนประสานงา การนำเทคโนโลยีสารสนเทศให้ข้อมูลการเดินทาง (Traffic Information System) ซึ่งเป็นการให้ข้อมูลสภาพอากาศ สภาพการจราจรและสภาพเส้นทาง เพื่อให้ผู้ขับรู้ข้อมูลสภาพแวดล้อมล่วงหน้า

Advertisement

นอกจากนี้ ยังได้แสดงความมุ่งมั่นของกระทรวงคมนาคมในการแก้ไขปัญหาความปลอดภัยทางถนน โดยได้กำหนดเป็นวาระแห่งชาติให้ทุกภาคส่วนร่วมมือกันอย่างจริงจัง เพื่อการบรรลุเป้าหมายตามกรอบการพัฒนาของโลกเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ด้านความปลอดภัยทางถนน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image