นักเศรษฐศาสตร์ห่วง ‘โอไมครอน’ แรง ปิดประเทศ จับตาประกัน-ท่องเที่ยวกระทบหนัก

ตั้งการ์ด-สร้างสมดุล รับมือ‘โอไมครอน’ หมายเหตุ - ความเห็นภาคเอกชน

หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์แบงก์กรุงเทพ ห่วงโอไมครอนแรงต้องปิดประเทศ จับตาประกัน-ท่องเที่ยวกระทบหนัก

นายบุรินทร์ อดุลวัฒนะ หัวหน้าทีมนักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ โอไมครอน ซึ่งถูกตรวจพบครั้งแรกในทวีปแอฟริกาใต้ และแพร่กระจายไปในประเทศต่างๆ อาทิ สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย ฮ่องกง และในทวีปยุโรปหลายประเทศ สำหรับประเทศไทย แม้จะมีอัตราการฉีดวัคซีนเข็มแรกอยู่ที่ 72% มากกว่าสหรัฐ แต่ประเทศไทยพึ่งพาอุตสาหกรรมด้านการท่องเที่ยวเป็นหลัก หากมีการแพร่กระจายของสายพันธุ์โอไมครอน จะมีความเสี่ยงอาจจะต้องปิดประเทศและปิดเมืองอีกครั้งหนึ่ง ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก

นายบุรินทร์กล่าวว่า ทั้งนี้ ธุรกิจที่ต้องจับตาคือ ธุรกิจด้านประกันภัย ที่ผ่านมาบริษัทด้านประกันภัยในไทยได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างหนักในช่วงที่ผ่านมา จากข้อมูลของ Nikkei Asia ระบุว่ามีบริษัทด้านประกันภัยกว่า 16 บริษัท ที่รายงานผลประกอบการออกมาขาดทุน และมี 10 บริษัท ที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ประกาศผลประกอบการออกมาขาดทุนรวมทั้งสิ้น 5,800 ล้านบาท ในช่วงไตรมาสที่ 3 โดยช่วงเดือนกันยายน ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบการธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ระบุว่า จำนวนผู้ถือกรมธรรม์โควิดอยู่ที่ 39.8 ล้านคน จากจำนวนประชากรไทยทั้งสิ้น 69.8 ล้านคน เบี้ยประกันภัยสะสม 11,250 ล้านบาท และยอดสินไหมทดแทนสะสมมีมากถึง 9,400 ล้านบาท โดยปัญหาเกิดจากการที่บริษัทเหล่านี้มีการขายประกันโควิด-19 ในรูปแบบ เจอจ่ายจบ ซึ่งจะคุ้มครองกรณีที่ตรวจพบว่าติดเชื้อโควิด-19 ก็สามารถนำใบรับรองแพทย์ไปเคลมรับเงินประกันแบบก้อนเดียวได้ ในระยะถัดไปหากมีการระบาดของโควิดสายพันธุ์โอไมครอนในประเทศไทย ก็คาดว่าจะสร้างความเสียหายต่อธุรกิจประกันภัยอีกครั้งหนึ่ง

Advertisement

นายบุรินทร์กล่าวว่า อีกธุรกิจที่ต้องจับตา คือ ด้านการท่องเที่ยวและการบริการ จะถูกกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หากมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 อีกระลอกจะเกิดความเสี่ยงที่ต้องทำให้ปิดประเทศอีกครั้ง โดยนับตั้งแต่ประเทศไทยเปิดประเทศวันที่ 1 พฤศจิกายน จนถึงปัจจุบัน มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาราว 130,000 แสนคน ยังน้อยกว่ามากหากเทียบกับตัวเลขก่อนการระบาด โดยความกังวลที่เกิดจากไวรัสสายพันธ์โอไมครอน ทำให้นักท่องเที่ยวเกิดความกังวลทั่วโลกว่าวัคซีนที่ฉีดไปจะมีประสิทธิภาพหรือไม่ และทำให้ความเชื่อมั่นในการเดินทางในช่วงปลายปีลดลงอย่างมาก ถึงแม้ว่าจะมีรายงานว่าอาการของผู้ได้รับเชื้อไวรัสจะไม่รุนแรง ยังคงเร็วไปที่จะสรุปผลกระทบทั้งหมดได้ แต่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวคงเป็นภาคที่เสียหายมากที่สุด อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่เชื่อว่าประเทศไทยจะไม่ต้องกลับไปเผชิญกับการล็อกดาวน์อีก เพราะอัตราการฉีดวัคซีนของไทยที่เพิ่มขึ้นมามากจะเป็นปัจจัยสำคัญให้ประชาชนจะไม่มีการป่วยหนัก ถึงแม้ว่าจะได้รับเชื้อโควิด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image